ส.ส.ประชาชน ชี้ โอกาสดี นายกฯอิ๊งค์ ได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ แนะเร่งเสนอร่าง รธน.
เมื่อวันที่ 8 มกราคม เชตวัน เตือประโคน ส.ส.พรรคประชาชน จ.ปทุมธานี เขต 6 ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “เชตวัน เตือประโคน – Chetawan Thuaprakhon” ระบุว่า
“แก้รัฐธรรมนูญ” ในวันแห่งความรัก : เราก็จะช่วยให้ ครม.ท่านทำตามสัญญา แต่ สว.ก็จะเลื่อน-ถ่วงเวลาไปอีก
แรกก็คุยกันว่าในสัปดาห์หน้า 14-15 มกราคม จะมีการพิจารณา “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” แต่ล่าสุดที่ประชุมวิปทุกฝ่าย (ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ครม. และ ส.ว.) มีมติเลื่อนออกไปอีก 1 เดือน คือจะให้มีการพิจารณาในวันที่ 13 – 14 กุมภาพันธ์ ในห้วง “วันแห่งความรัก”
ทราบเหตุผลในการเลื่อนครั้งนี้ว่า มาจาก ส.ว.ที่ให้เหตุผลไว้ว่า
1.จะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพือไทย ยื่นเข้ามาประกบ ในวันนี้ ดังนั้น ส.ว.ต้อง “ขอเวลา” ในการศึกษาพิจารณา
2.ที่ต้องเลื่อนไปนานถึงเดือน เพราะไม่แน่ใจว่าอาจจะมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคอื่นเข้ามาอีกหรือไม่ จึงเลื่อนเวลาเพื่อการศึกษาเผื่อไปอีก
เรื่อง “ร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ทั้งฉบับ เพื่อให้ทันก่อนการเลือกตั้งในปี 2570 พวกเราพรรคประชาชนก็พยายามช่วยเร่งอย่างเต็มที่ เสนอร่างกฎหมายเข้าสภาและรออยู่เนิ่นนานแล้ว ขณะที่ร่างของพรรคฝ่ายรัฐบาล ทางฝั่งพรรคเพื่อไทยก็เพิ่งจะยื่นมาประกบคาดว่าบ่ายวันนี้, พรรคการเมืองอื่นๆ ก็อยากให้ใช้โอกาสที่ต้องรอ 1 เดือนนี้ยื่นเข้ามาด้วย
และที่สำคัญ คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของ คณะรัฐมนตรี ที่เคยแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาอันทรงเกียรตินี้ว่า “รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด”
ไม่แน่ใจว่า คุณแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กล่าว (อ่าน) ประโยคนี้ไว้ จะยังจำคำของตัวเองได้หรือไม่?
นับตั้งแต่ “ปฏิวัติ” เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญอยู่แค่เพียง 3 ฉบับ ที่จัดทำโดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน มีเนื้อหา และเป้าหมายที่เป็นประชาธิปไตย ได้แก่
1.รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2489 ร่างขึ้น หลังเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงรัฐบาลพลเรือนที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี
2.รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2517 ร่างขึ้น หลังเหตุการณ์ขบวนการประชาชนได้รับชัยชนะ 14 ตุลาคม 2516 ในช่วงรัฐบาลพลเรือนที่ สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
3.รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ร่างขึ้น หลังเหตุการณ์ขบวนการประชาชนได้รับชัยชนะ พฤษภาคม 2535 ในช่วงรัฐบาลพลเรือนที่ บรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสดีที่คุณแพทองธารจะได้จารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ ที่จะเป็นผู้นำในการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป้าหมายที่เป็นประชาธิปไตย อีกฉบับหนึ่ง
ลองเทียบกับชื่อนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ท่านที่มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ
ปรีดี = แพทองธาร จะทำให้ประชาชนปรีดีด้วยการมอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ ?
สัญญา = แพทองธาร จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน?
บรรหาร = แพทองธาร จะบรรหารคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ?
อย่าให้ประชาชนไม่ปรีดี
อย่าต้องกลายเป็นคนผิดสัญญา
และอย่าให้ต้องถูกตราหน้าว่าบรรหารประเทศไม่เป็น
เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของคณะรัฐมนตรี เข้ามาเสียทีเถอะครับ เราจะได้มาพิจารณาเนื่องในวันแห่งความรักนี้ด้วยกัน