254 วัน
36 สัปดาห์
หรือกว่า 8 เดือนที่ผ่านมา
นับจากพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 จนถึงวันนี้ พฤหัสบดีที่ 9 มกราคม 2568
คือช่วงเวลาที่บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มี ‘เอ็มดี’ นามว่า ปราปต์ บุนปาน กรรมการผู้จัดการคนใหม่ในวัย 40 กลางๆ ที่มาพร้อมมาดนิ่ง ทว่า เมื่อจับไมค์ในครั้งใด ต้องมีโควตให้จดวาทะ ดังเช่นสปีชในงานเลี้ยงปีใหม่ 2568 ตอนหนึ่งว่า
“ฝ่ายบริหารเอง โดยธรรมชาติ มันเหมือนมีอะไรมาปิดตาข้างหนึ่งอยู่แล้ว สิ่งที่คาดหวัง คือทุกคนควรมาช่วยเอามือที่ปิดตาข้างหนึ่งออก…เราควรทำให้ทุกคนมองเห็นข้อเท็จจริงอย่างเท่าเทียมด้วยสองตา เพื่อให้ไปต่อได้อย่างจริงจังและยั่งยืนในอนาคต…ผมเชื่อว่าปี 2568 เราจะได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น”
นำมาซึ่งเสียงปรบมือกึกก้องจากมวลชนผู้มีโลโก้เครือมติชนบนบัตรพนักงาน ทั้งมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ ศิลปวัฒนธรรม เส้นทางเศรษฐี มติชนทีวี สำนักพิมพ์มติชน และอีกหลายสรรพยูนิตที่ต้องใช้พื้นที่อีกหลายบรรทัดหากจะระบุให้ครบถ้วน
ตกค่ำ ยังจับไมค์ครวญเพลง ‘อินดี้-อัลเทอร์เนทีฟ’ ร่วมกับกองบรรณาธิการข่าว พิสูจน์ชัด พูดจริง ทำจริง พร้อมใกล้ชิดจริง ไม่ใช่แค่สุนทรพจน์
‘ปราปต์’ คำ 1 พยางค์ซึ่งมีความหมายว่า ‘ยินดีอย่างถึงที่สุด’ คือวัยรุ่นยุค 90 ผู้ก้าวเข้ามาบริหารอาณาจักรสื่อ ท่ามกลางคนหลากเจเนอเรชั่น ตั้งแต่ ‘รุ่นใหญ่’ จนถึง ‘รุ่นใหม่’ ในสมรภูมิธุรกิจสื่อที่ท้าทายในทุกวินาที
สื่อหลัก สื่อรอง สื่อเก่า สื่อใหม่ ฯลฯ และอีกหลายศัพท์บัญญัติในวงการสื่อมวลชนที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นับแต่โลกออนไลน์ตีคู่มากับชีวิตออฟไลน์
“โจทย์ของมติชนคือการเป็นตัวเองที่ใหม่ขึ้น”
ปราปต์ เคาะแนวทาง ย้ำภาพลักษณ์สื่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ในระดับ ‘ฮาร์ดนิวส์’
ไม่ลดดีกรีความเข้มข้น มีแต่จะยิ่งมุ่งไปในแนว ‘ลึก’ ของเนื้อหา
ขับเน้นความแข็งแกร่งของ ‘โต๊ะข่าว’ สื่อหลักดั้งเดิม ที่เพิ่มเติมคือการพัฒนารูปแบบการนำเสนอใหม่ๆ ให้ทันสมัย ไม่มีเอาต์ ในสนามโซเชียลมีเดีย
พร้อมเข้าถึง ‘คนรุ่นใหม่’ ให้มากขึ้นด้วยทรัพยากรที่ครบถ้วน หลากหลาย ขณะที่ฐานคนอ่านมติชนเดิมตัวจริงต้องไม่สูญเสีย ‘ความคาดหวัง’ ที่มีต่อสื่อคุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ ในช่วงเวลาที่ปราปต์มองว่าบทบาทของสื่อ โดยเฉพาะสื่อเดิมจำนวนมาก กำลังเจอสถานการณ์บางอย่างที่ต้องระมัดระวัง
เดินหน้ามติชน Episode ใหม่ที่ยืนยันและย้ำชัดในจิตวิญญาณเดิม ไม่แปรเปลี่ยน
นอกจากหมวก ‘ผู้กำกับ’ ยังสวมบทเป็น ‘ชาวเน็ตท่านหนึ่ง’ ใน #ทีมอ่านคอมเมนต์ ใต้เพจข่าว พบความ ‘ท้าทาย’ ใน ‘แวลู (Value)’ ที่เตรียมประเมินขบคิดในปี’68
ต่อคำถามที่ว่า เก้าอี้เอ็มดีมติชนบนชั้น 8 ในวันนี้ นั่งสบาย หรือยังต้องขยับปรับท่วงท่าให้ลงตัว
ได้คำตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า มีทั้งช่วงที่นั่งสบาย และช่วงที่อยู่ในภาวะที่ทำให้ได้เรียนรู้
“ผมว่ามี 2 ส่วน ด้วยความที่เรายังไม่เร่งรัด บางช่วงก็สบาย นั่งดูอะไรแล้วค่อยๆ คิดทบทวน ใคร่ครวญไปยาวๆ ในขณะเดียวกันมันก็มีภาวะที่มีเสียงสะท้อนบางอย่างที่ต้องฟัง ต้องแก้”
ปราปต์ เปรียบช่วงเวลากว่าครึ่งปีก่อนหน้านี้ในภารกิจเอ็มดี เสมือนภาพยนตร์ Slow cinema ที่แช่ช็อตยาวๆ แบบลองเทค ก่อน ‘แอ๊กชั่น’ ในปีนี้
“ที่ผ่านมา คือการเฝ้าสังเกตและจับจ้องภาพรวมของบริษัทว่ามีจุดที่รู้สึกว่าโอเค สบายใจได้ หรือน่ากังวลใจอย่างไร มีจุดเด่น จุดอ่อน จุดแข็ง และอาการอย่างไร ปัญหาหลายอย่างอาจมีวิธีการดีลที่ต่างกัน”
แม้วันนี้ อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทว่ารู้ซึ้งถึงหัวใจ ‘นักข่าว’ เพราะเคยติดป้าย ‘นักศึกษาฝึกงาน’ โต๊ะการเมือง กองบรรณาธิการ นสพ.มติชนรายวัน ปักหลัก ‘รัฐสภา’ นานนับปี ดูแลการข่าวสมาชิกวุฒิสภาในยุคที่มาจากการเลือกตั้ง ควบการเป็นผู้สื่อข่าวเฝ้าพรรคประชาธิปัตย์
พูดง่ายๆ คือ ออกไป ‘วิ่งข่าว’ จริง ไม่มีสแตนด์อิน ไม่มีตัวแสดงแทน
“มันทำให้เห็นชีวิตคนทำงาน เห็นฐานรากของบริษัท พอผมมาถึงจุดนี้ เลยไม่รู้สึกแปลกแยกกับคนที่นี่ ซึ่งสัดส่วนเยอะสุดก็ยังเป็นกองบรรณาธิการ วิถีคนทำงานสื่อไม่ใช่คนปกติ ทำงาน 6 วันโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์ ค่าตอบแทนไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่า”
นั่นคือชีวิตช่วงหนึ่งของบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครอง) ‘สิงห์แดง’ แห่งรั้วธรรมศาสตร์
ก่อนบินไปคว้าปริญญาโท สาขามานุษยวิทยาและการเมืองวัฒนธรรม จาก โกลด์ สมิธส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน
ส่วนเส้นทางการทำงานอย่างเต็มตัว เริ่มด้วยตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป ในปี 2552-2553 ตามด้วย หัวหน้าโต๊ะข่าวมติชนออนไลน์ในปีเดียวกัน กระทั่งรับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ยาวนานเกือบ 10 ปีตั้งแต่ พ.ศ.2553-2562
จากนั้นดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการสายเทคโนโลยีและดิจิทัลมีเดีย
ก่อนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการเมื่อกลางปี 2567 ควบคู่การถ่ายทอดคมความคิดผ่านคอลัมน์ ‘สถานีคิดเลขที่ 12’ ในมติชนรายวัน และ ‘ของดีมีอยู่’ ในมติชนสุดสัปดาห์ ไม่นับคอลัมน์ดัง ที่ยังไม่ขอเผยตัว
สำหรับชีวิตส่วนตัว ไม่ชอบเป็นจุดสนใจ ไม่ชอบความอึกทึกวุ่นวาย แต่ ‘ปรับโหมดได้’ เมื่อต้องเป็นผู้นำ
“เป็นคนดูคอนเสิร์ต ดูกีฬา นิยมในวัฒนธรรมโรงภาพยนตร์ โตมากับม็อบไม่ว่าจะสีไหน ผมเชื่อในพลังของคน พอใจจะเป็นส่วนหนึ่งของคนกลุ่มเยอะๆ โดยไม่ต้องเป็นจุดเด่น”
หากลองคิดเล่นๆ ในฐานะคนทำหนังซึ่งครั้งหนึ่งเคยคว้า รางวัล รัตน์ เปสตันยี มาแล้ว ว่าถ้าต้องทำสารคดีบอกเล่าเรื่องราวของ ‘มติชน’ จะเปิดซีนแรกอย่างไร
“ย้อนไปจุดแรกเริ่มก็น่าสนใจ จุดตั้งต้นของมติชนคือสื่อของคนหนุ่มสาวตั้งแต่ยุคตึกแถววัดราชบพิธ มติชนคือคนหนุ่มสาวหลังสถานการณ์การเมืองสำคัญ ก่อตัวในต้นทศวรรษ 2520 และยุคหนึ่งทำงานในลักษณะจับเข่าล้อมวงคุยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุข มีสายสัมพันธ์ที่ก่อรูปมาจากการทำงานกองบรรณาธิการ มันเป็นวิถีและคุณค่าบางอย่างที่หล่อหลอมมติชนมาจุดหนึ่ง จนถึงในจุดที่พีคสุดในช่วง 2 ทศวรรษก่อน ซึ่งเป็นซีนที่น่าสนใจ” ปราปต์ให้คำตอบ
ก่อนรับฟังอีกหลากหลายคำถาม ถึงสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา และทิศทางในวันข้างหน้าของ ‘เครือมติชน’
คำแรกคือ เป็นภาวะที่เหนื่อย ไม่ว่าจะสำหรับคนทำธุรกิจทั่วไป หรือโดยเฉพาะธุรกิจสื่อ ทุกคนตระหนักตรงกันว่าสถานการณ์ของปี 2567 หรืออาจจะต่อถึง 2568 มันเหนื่อย และอาจจะอยู่แบบเดิมๆ ไม่ได้เสียทีเดียว ต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนการทำงาน รวมถึงวิธีหารายได้อยู่ตลอด
คำที่ 2 คือ อัตลักษณ์หรือแบรนด์ของมติชนต้องยังเป็นสื่อมวลชน คงไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้ งานหลักและภาพลักษณ์ อย่างไรก็ต้องเป็นสื่อ เพียงแต่จะขยับขยายขอบเขตไปถึงจุดไหนได้บ้าง ก็ต้องคุยกันในระดับผู้ปฏิบัติงานยูนิตต่างๆ
คำที่ 3 คือ ต้องเป็นสื่อของประชาชน บางครั้งอาจต้องเป็นเหมือนตะเกียงนำทางในบางประเด็นโดยหลักวิชาชีพ กระทั่งหลักการทำธุรกิจของเรา อย่างไรก็ต้องให้ความสำคัญและเป็นเสียงสะท้อนของคนส่วนใหญ่
ผมคิดว่ามติชนก็เหมือนสื่อจำนวนมาก คือเราเข้าสู่สนามออนไลน์แล้ว และแทบจะเรียกได้ว่าเต็มตัวหรืออาจจะค่อนตัว เพราะฉะนั้นต้องหาทางไปต่อ ซึ่งต้องยอมรับว่ามันก็มีคำถามเหมือนกันว่าสนามนี้ผ่านจุดพีคมาหรือยังสำหรับสื่อในยุคที่โซเชียลมีเดียพุ่งขึ้นมาช่วงแรก เราเองก็ได้ผลประโยชน์ไปเป็นกอบเป็นกำพอสมควร แต่สถานการณ์นั้นมันเปลี่ยนไปหรือยัง และถ้ายังอยากอยู่ในสนามนี้ จะต้องทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกัน เรายังยืนยันได้ว่า มติชนคือสื่อที่มีตำแหน่งแห่งที่ในโซเชียลมีเดีย ในโลกออนไลน์ และมีสถานภาพที่ดี แผนระยะสั้นคือต้องตอกย้ำตรงนี้
อีกส่วนหนึ่งก็คือ มันชัดเจนว่า เครือมติชนทำธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำคอนเทนต์ด้วย เรามีงานเสวนา อีเวนต์ หรือกิจกรรมอื่นๆ มาเสริม แต่ก็ต้องดูในระยะกลาง ระยะยาวว่าจะทำอะไรได้อีก แต่โดยหลักคือสุดท้ายแล้วเราต้องทำมันในฐานะสื่อมวลชน
ผมว่านี่คือจุดแข็ง แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จุดนี้อาจจะเริ่มเบลอๆ ในช่วงที่ทุกฝ่ายก้าวสู่สนามออนไลน์ทำให้อัตลักษณ์ของแต่ละแบรนด์มันเบลอไป ยิ่งเรารู้ว่าตลาดเริ่มเปลี่ยน ก็จะยิ่งเป็นจุดแข็งของเครือมติชน คือมีความหลากหลายของเนื้อหา มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างของแต่ละกองบรรณาธิการ ในฐานะคนทำธุรกิจสื่อ การมีทาร์เก็ตที่ชัดเจนอย่างนี้น่าจะทำให้เรามีจุดได้เปรียบที่เอาไปบอกกับสังคม กับคนอ่าน หรือกระทั่งคู่ค้าได้
เอาจริงๆ จุดตั้งต้นของการเริ่มโปรดักต์มันถูกวางมาแล้วว่าจะไปคนละทาง จุดท้าทายจริงๆ คือ การเข้าถึงคนรุ่นใหม่ ซึ่งฐานทรัพยากรมันไปถึงได้ แต่เราจะปรับความหลากหลายนี้มาสื่อสารกับคนอ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่อย่างไร
ผมยังรู้สึกว่าความเป็นมติชน มีจุดเด่นที่ต้องหาทางเป็นตัวของตัวเองที่ดีขึ้น ด้วยคนทำงานที่เปลี่ยนรุ่นมาเรื่อยๆ มันก็เปลี่ยนอยู่แล้ว แต่จิตวิญญาณหรือไอเดียบางอย่างยังคงเดิม มันควรจะเป็นแบบนั้น ขณะเดียวกัน อาจถึงเวลาที่ต้องเปิดให้คนทำงานรุ่น 30 40 50 มาร่วมออกแบบเนื้อหามากขึ้น เพิ่มช่องทางให้ร่วมกำหนดทิศทางบริษัท คนกลุ่มนี้น่าจะเข้าใจความเป็นมติชนอยู่แล้ว ถ้าคุณทำงานมาสักระยะ แต่อีกด้านหนึ่งเขาคงมีวิธีคิดบางอย่างซึ่งมันใหม่ออกไป
ผมว่าโจทย์ของมติชนและสื่อหลักรุ่นเดียวกันคือเราจะแตกต่างจากเพจและอินฟลู ที่ทำงานพื้นฐานคล้ายๆ เรา ได้อย่างไร ถ้าพูดในเชิงวิพากษ์ ต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมา บางอย่างเราก็หลงไปตามเกมของคู่แข่งใหม่ๆ (หัวเราะ) มันอาจต้องทบทวนเหมือนกันว่า หรือเราจะมาเล่นเกมของตัวเองในบางด้าน
บทบาทของสื่อหลักสมัยหนึ่งคือเป็นสื่อของทั้งประเทศ โดยฐานของมติชน ข่าวสด ประชาชาติฯ มีนักข่าวภูมิภาคทั้งประเทศ กระทั่งข่าวอื่นๆ โดยระบบของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดั้งเดิม มีจุดแข็งคือโต๊ะข่าว มีเครือข่ายกว้างขวาง มติชนควรย้ำในจุดนี้ มันอาจจะต้องกลับไปคิดหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้
ไม่รวมถึงความลึกของเนื้อหาซึ่งกำลังคนแบบนี้หรือการจัดองค์กรที่ยังมีลักษณะแบบกองบรรณาธิการข่าว ยังสามารถขับเน้นได้
ผมว่ามันก็ชัดเจน พอก้าวสู่การเป็นสังคมสูงวัย ซึ่งคนกลุ่มอายุ 60-80 จะมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นคนกลุ่มหลักในสังคม เครือมติชนยังเป็นทางเลือกของเขาในหลายๆ ด้าน โดยธรรมชาติสื่อเราตอบสนองคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว อย่างงาน มติชนเฮลท์แคร์ ชัดเจนว่าไปๆ มาๆ จากที่เป็นงานอีเวนต์สุขภาพโดยรวม เข้าใจว่าระยะหลังเป็นงานสุขภาพสำหรับประชากรผู้สูงอายุ
ฐานบุคลากรในเครือมติชน ก็ทำให้เราเข้าใจมิตินี้เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่เรามีคนรุ่นอื่นๆ เหมือนที่พูดไปแล้วว่าความหลากหลายของเนื้อหาเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้มีคนพาเนื้อหาเหล่านี้ข้ามเจนไปให้ได้
อีกด้านหนึ่ง ผมคิดว่ามันเป็นคุณสมบัติที่ต้องรักษาไว้ ถ้าถามว่า เครือมติชนมีอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ไหม กลายเป็นว่าคนเดียวที่อาจเป็น คือ สุจิตต์ วงษ์เทศ เพราะฉะนั้นผมไม่ได้รู้สึกว่ามันตัดกันขนาดนั้นระหว่างบุคลากรสูงอายุกับความเป็นสมัยใหม่ของสื่อ
ไม่ได้ศึกษาขนาดนั้น แต่ดูคาแร็กเตอร์ของแต่ละคน คนทำสื่อที่ขึ้นมาเป็นเอ็มดีมติชนก็มีลักษณะแตกต่างกัน ยุคหนึ่งคือคนที่ร่วมก่อร่างสร้างมติชน ก็เป็นแบบหนึ่ง การมาจากคนละกองบรรณาธิการ วัฒนธรรมก็ต่างกัน คนที่มาจากฝ่ายดูแลธุรกิจ มุมมองก็ต่างออกไป ผมก็ทำความเข้าใจที่มาและสไตล์ว่าต่างกันอย่างไร
ปราศรัยเลยเหรอ (หัวเราะ) ผมว่ามันกลั่นกรองมาจากการมาทำงานสายบริหารได้สักระยะหนึ่ง ตั้งแต่ระดับหน่วยงาน จนขึ้นไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการ มันทำให้เราเห็นแหละว่า ด้านหนึ่งการทำงานเป็นฝ่ายบริหาร อาจทำให้เราเห็นเป้าหมายชัดว่าบริษัทจะไปทางไหน เราเป็นคนทำนโยบายซึ่งกำหนดภาพรวม แต่ในเชิงปฏิบัติ สุดท้ายในรายละเอียดมันต้องลงไปปรับแก้อะไรอีกเยอะให้เข้ากับวิธีการทำงานของคนในบริษัทที่มีความหลากหลาย
คนชอบบอกว่าต้องมองป่าทั้งป่าจากข้างบนลงไป ซึ่งมันก็จะไม่เห็นอะไรที่อยู่ใต้ดิน ไม่เห็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ ถ้าอยากให้บริษัทไปต่อได้อย่างราบรื่น ต้องช่วยกันเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายบริหารและคนทำงานคุยกัน จูนให้ตรงกันมากขึ้น อาจจะเปรียบได้ว่านี่แหละคือการดึงมือที่ปิดตาผู้บริหารข้างหนึ่งออกมา
ถ้าหลักรัฐศาสตร์หมายถึงว่าเราจะต้องพยายามเข้าใจคนจำนวนมาก ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และจะจูงใจให้เขามาร่วมมือได้อย่างไร หรือเข้าใจดุลอำนาจของแต่ละกลุ่ม ถ้าไม่ได้ทำงานทางความคิด ไม่ได้สื่อสารอะไรเลยก็จะไปต่อยาก โดยธรรมชาติของมติชนไม่ใช่แค่องค์กรใหญ่ แต่มีหน่วยทางธุรกิจเยอะด้วย ต้องรู้หลักว่าห้วงเวลาไหน หรือในการแข่งขันแบบไหนจะให้กลุ่มคนแบบไหนขึ้นมานำ มันคือการว่าด้วยกระบวนการคัดสรรให้คนหลากหลายได้ทำงานที่ตัวเองถนัด
การพยายามทำความเข้าใจคนในองค์กร พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุข จะทำให้ผจญภัยไปสู่วิถีทางใหม่ๆ ร่วมกันได้ นอกจากนี้อาจจะต้องทำ 2 อย่างควบคู่ ทั้งเกมรุกและเกมรับ คุณต้องไม่เสียประตู หรือเสียให้น้อยที่สุด หรือไม่ควรเสียในประตูที่ไม่ควรจะเสีย ต้องพยายามเข้าไปอุดรูรั่วที่ทำให้เราสูญเสียทั้งบุคลากร รายได้ และศักยภาพในการแข่งขัน พออุดสิ่งนั้นได้แล้วก็จะสงบขึ้น
ทำให้คนจำนวนมากมีความเชื่อมั่นมากขึ้น มองเห็นอนาคตร่วมกันมากขึ้น