สนค.แถลงเป้าเงินเฟ้อปี’68 อยู่ระหว่าง 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8% คาดเศรษฐกิจไทยโต 2.3-3.3% ได้แรงหนุนท่องเที่ยว กำลังซื้อผู้บริโภคกระเตื้อง จับตา Geopolitical กระทบข้าว-น้ำมันปาล์ม แถมนโยบายลดค่าไฟฟ้า อาจฉุดเงินเฟ้อลดไปด้วย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) ของไทยปี 2568 โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่าง 0.3-1.3% มีค่ากลางที่ 0.8% ภายใต้สมมุติฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.3-3.3% น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
และยังมีแรงหนุนจากเศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาส 1 และ 2 ปี 2567
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.วางกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2568 อยู่ระหว่าง 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย (1) เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น (2) ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2567
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย (1) ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG (2) ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากเอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าจะไม่รุนแรงและส่งผลต่อราคาไม่มากนัก และ (3) การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด
“ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2568 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.25% และไตรมาส 1 เฉลี่ยจะสูงกว่า 1% ส่วนไตรมาส 2 และ 3 จะลดลงไม่น่าถึง 1% จากนั้นจะกลับมาสูงขึ้นในระดับ 1% ขึ้นไปในไตรมาส 4”
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นหรือต่ำลง จากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนนโยบายส่งออกสินค้าเกษตรของผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ข้าว น้ำมันปาล์ม ซึ่งจะมีผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เบื้องต้นไม่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้ ทางสำนักงานอยู่ระหว่างการศึกษาและประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการลดค่าไฟฟ้า ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะพิจารณาทบทวนกรอบเงินเฟ้ออีกครั้ง
นายพูนพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับเงินเฟ้อของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.23% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะฐานปีก่อนราคาต่ำ รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ หากรวมเงินเฟ้อทั้งปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5% สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อทั้งปีสูงขึ้น หลักมาจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ผลไม้สด และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลงจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และน้ำมันดีเซล สำหรับไตรมาส 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 สูงขึ้น 1.00% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 4 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลง 0.26% ทำให้ภาพรวมทั้งปีเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้