ประชุมวิชาการสุราครั้งที่ 13 ถก พ.ร.บ.เหล้า ถึงเวลาต้องแก้ไขให้ทันกระแสสังคม ปรับเพิ่มมาตรการควบคุม โฆษณา–ขายผ่านออนไลน์ เพิ่มอำนาจ–หน้าที่คณะกรรมการควบคุม–เจ้าพนักงาน จำกัดใบอนุญาตขายสุรา เน้นป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ ชี้หากคนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจดีตาม ห่วง!! ภาคธุรกิจนั่งแท่นกรรมการควบคุมฯ ผิดหลักผลประโยชน์ทับซ้อน
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พ.ย. 2567 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ : ก้าวข้ามจุดบกพร่อง มุ่งสู่เป้าหมายที่ยั่งยืน” จัดโดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) และภาคีเครือข่าย
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเด็นสุรากับเรื่องสุขภาวะของคนไทยก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจะสะท้อนถึงความหลากหลายของความคิดเห็นในสังคมทั้งซึ่งการปรับเพิ่มกฎหมายให้เข้มงวดขึ้นเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนและการผ่อนปรนกฎหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่การให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชนจึงควรเป็นเป้าหมายหลักของนโยบายสาธารณะเมื่อประชาชนมีสุขภาพที่ดีเศรษฐกิจก็จะเติบโตตามมาเองในระยะยาว
“มีหลายประเด็นที่ต้องแสดงข้อห่วงใย โดยเฉพาะเรื่องการขยายเวลาจำหน่าย และการควบคุมการโฆษณาออนไลน์ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนในการกำหนดนโยบายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ทุกการตัดสินใจมาจากหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง
หรือแม้แต่การมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมสุราเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นการให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้ามาตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องแก้ไข 1.การโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ข้อจำกัดเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 3.การออกใบอนุญาตขายสุราเป็นจำนวนมากโดยไม่มีนโยบายจำกัดการออกใบอนุญาตทำให้ไม่สามารถบรรลุเจตนารมณ์ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.พิเศษ วิชา กล่าวต่อว่า 4.เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชน ทั้งการกำหนดหน้าที่ของผู้ขาย ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฝ่าฝืนกฎหมายให้ถือเป็นคดีผู้บริโภค
5.ยกเลิกบทลงโทษอาญาในบางกรณีโดยบัญญัติเป็นโทษปรับทางปกครองหรือการทำงานบริการสังคมหรือเพื่อสาธารณประโยชน์แทนเพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพครอบครัวอุบัติเหตุและอาชญากรรมมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ มีอิทธิพลต่อการผลิต การตลาด และพฤติกรรมของผู้บริโภคในอุตสาหกรรมสุราอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการสั่งซื้อและจัดส่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
การเติบโตและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ และแนวคิดที่เปลี่ยนไปของกลุ่มคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่า การมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 สามารถควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้ แม้ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่ถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะ
“กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเจตนารมณ์เพื่อลดปริมาณการดื่มสุราของประชากรโดยรวม และลดผลกระทบทางลบต่อสังคม ผ่านมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 1.การควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางกายภาพ
2.การควบคุมการโฆษณาและการตลาด 3.การควบคุมด้านราคา 4.การคัดกรองและบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจากการดื่มสุรา 5.การป้องกันการดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีหลักฐานวิชาการทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มทุน” ผู้อำนวยการ ศวส. กล่าว