นักวิชาการ แนะ นายกฯอิ๊งค์ อย่าให้แค่คำขวัญวันเด็ก แนะควรประกาศนโยบายพัฒนาการศึกษาไทย
เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในเจนY ให้คำขวัญวันเด็กกับเหล่าเจนZ และเด็กเจนอื่นๆ ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” ในมุมมองของตน คำขวัญวันเด็กปีนี้ค่อนข้างดี ไม่มีลักษณะบังคับขู่เข็ญเหมือนนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในเจนBaby Boomer ที่เป็นลักษณะกดทับ เน้นจริยธรรม ค่านิยม บังคับให้เชื่อฟัง ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งทำให้เด็กต่อต้าน
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า มองว่าปีนี้คำขวัญวันเด็กนุ่มนวลขึ้น และเด็กรุ่นใหม่รับฟังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่อยากบอกนายกรัฐมนตรีด้วย การที่ให้นักเรียนเข้าพบเป็นภาพที่ดีมาก แต่กลุ่มเด็กในสังคมไทยเป็น “หางเลข” ของความไม่มั่นคงเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ลงไปที่ตัวเด็ก ดังนั้นโครงสร้างกับปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ยากจน และหางานทำยาก สังคมก็ขาดความปลอดภัย การศึกษาก็ด้อยคุณภาพ คิดว่าเด็กเป็นหางเลขที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างเหล่านี้ที่ไม่สู้ดี ดังนั้นในปี 2568 อยากให้มองปัญหาเด็กอย่างพินิจ พิจารณา และใคร่ครวญว่าเราจะทำให้โอกาสเด็กให้ทำตามคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีได้อย่างไร
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเด็กถูกหางเลข และมีอยู่จำนวนมาก กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง ยากจน ด้อยโอกาส มีทั้งหมด 10 กลุ่มประเภท 29 ประเด็นปัญหา เช่น ความเสี่ยงจากยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า การบูลลี่ เด็กขาดสัญชาติ แรงงานเด็ก ความเปราะบางของครอบครัว ภัยพิบัติ จิตเวช การออกกลางคัน การติดจอ ติดมือถือ เป็นต้น หลายปีที่ผ่านมาปัญหาของเด็กยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงซับซ้อนขึ้นตามลำดับ และปัญหานี้จะต่อเนื่องไปถึง 2568 ดังนั้นอยากจะสะท้อน 10 เรื่อง ประเด็นปัญหา และความก้าวหน้าทางการศึกษา ให้ผู้นำประเทศรับรู้ และขับเคลื่อนต่อไป มีดังนี้
1.เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ เป็นปัญหาที่วิกฤติที่สุด 4-5 ปีที่ผ่านมาเด็กเกิดน้อยต่ำกว่า 5 แสนคน และจะลดลงตามลำดับ ซึ่งปัญหานี้ เป็นปัญหารอระเบิด ต่อไปเด็กต้องแบกภาระเกินตัว ทั้งเรื่อง การดูแลผู้สูงอายุ การดูแลคนในครอบครัว รวมไปถึงเรื่องภาษี ทั้งนี้พบข้อมูลว่าเด็กที่อยู่ในสถานพินิจ และผู้ใหญ่ที่อยู่ในกรมราชทัณฑ์ เกือบ 80% ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ และพบว่า คนที่ติดคุกกว่า 300,000 คน ในจำนวนนี้ 70% ไม่จบประถมศึกษา ทำให้เห็นว่าการที่คนเหล่านี้ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ส่งผลกับคุณภาพและทำให้เกิดคนเสี่ยงกระทำผิดมาก
2.เด็กติดจอ เล่นมือถือเฉลี่ยมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งที่พบคือ เด็กจะมีปัญหาเรื่องสายตา ออกกำลังกายน้อยลง เด็กจะมีภาวะออทิสติกเทียม แยกตัว ภาวะเนื่อยนิ่ง
3.IQ เด็กไทยขยับจาก 96 เป็น 98 และปี 2567 IQ เด็กไทยขึ้นมาเป็น 102 ซึ่งถือเป็นเรื่องดี โดยเกิดจากภาวะโภชนาการดีขึ้น แต่ IQ เด็กที่เพิ่มขึ้น
4.เด็กไทยมีชั่วโมงการเรียนรู้มากที่สุดในโลก เฉลี่ย 8-9.5 ชั่วโมงต่อวัน หรือ 1,200 ชั่วโมงต่อปี มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ การเรียนรู้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ไม่มากเท่าที่ควร หลักสูตรยังล้าหลัง
5.เด็กไทยป่วยเป็นจิตเวชมากขึ้น ทั้งการถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง การบูลลี่ โดยเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่ม LGBTQ จำนวนมาก น้อยจากนี้ยังพบเด็กที่ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด หรือเป็นจิตเวชจากความเครียด ซึมเศร้า จนคิดฆ่าตัวตาย
6.ตามนโยบายโครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน ตามเด็กกลับมาเรียนได้ 3 แสนคน หรือคิดเป็น 29.65% ทั้งนี้พบสาเหตุที่เด็กออกจากระบบการศึกษา คือ ยากจน ภาวะครอบครัว เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้จนถูกผลักออกจากการศึกษา ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องกลับมามองการอ่านออกเขียนได้
7.โรงเรียนยังเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย ยังเจอปัญหาการกล้อนผม ถูกตี ถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน ตลอดเวลา โรงเรียนยังมีลักษณะอำนาจนิยม
8.เด็กอยู่ในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ครอบครัวอยู่ต่างพื้นที่ เป็นครอบครัวแหว่งกลาง ครอบครัวที่หย่าร้าง ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวทวีมากขึ้น ต่างคนต่างอยู่ ปฏิสัมพันธ์น้อยลง และพบว่าครอบครัวไม่อยากมีลูก แต่เลี้ยงสัตว์เป็นลูกแทน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่น่าคิดมาก
9.เด็กบางส่วนเข้าถึงบริการของรัฐดีขึ้น สวัสดิการเด็กเล็ก และคนพิการดีขึ้น ทุนการศึกษาก็ดีขึ้นตามลำดับ
10. สิทธิเด็กยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างทั่วถึง ยังไม่เห็นการสร้างความเป็นพลเมืองในทิศทางที่ชัดเจน
นายสมพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นและอยากให้นายกรัฐมนตรีรับฟัง คือ 2 ปีที่ผ่านมาให้คำขวัญวันเด็กเป็นธรรมเนียม แต่ปี 2567 การให้คำขวัญวันเด็กแตกต่างจากปีอื่นๆ คือ นอกจากให้คำขวัญแล้ว เกิดนโยบายสำคัญเพื่อเด็ก ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ มอบนโยบาย Thailand Zero Dropout บูรณาการหน่วยงานต่างๆรวมกันตามเด็กกลับเข้าระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี จึงอยากให้รักษาจุดแข็งนี้ไว้
“ โดยวันเด็กปีนี้อยากให้นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายการศึกษา เช่น ให้เด็กได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันด้วย 1 ทุน 1 อำเภอ หรือ เร่งจัดการบุหรีไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากคำขวัญวันเด็กแล้วอยากให้กำหนดนโยบายเฉพาะให้กับเด็กและเยาวชนด้วย และอยากให้ออกกฎหมายดีๆเพื่อเด็ก ทำพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติให้เสร็จ เปลี่ยนหลักสูตร แก้ระเบียบทรงผม เพราะบางเรื่องนั้นมีผลกับคุณภาพ สิทธิเสรีภาพของเด็ก และโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งนี้ อยากให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กชัดเจนเท่าเทียมกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อาจจะผลักดันให้เกิดคณะรัฐมนตรีด้านสังคม หรือผลักดันสวัสดิการของผู้หญิงเพิ่มขึ้น นอกจากปราบปรามยาเสพติดแล้วพ่วงไปกับการปรามบุหรี่ไฟฟ้าด้วย ทั้งนี้อยากให้ความสำคัญกับวันเด็กแค่วันเดียว แล้ววันอื่นๆฟังเสียงเด็กน้อยลง” นายสมพงษ์ กล่าว