เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 จำนวน 3,780,600 ล้านบาท เท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569-2572) ว่า จากรายละเอียดงบประมาณ ปี 2569 ด้านรายจ่ายลงทุน 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.7% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจาก 932,362 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2568 จำนวน 72,362 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% นั้น ปัจจุบันรัฐบาลมีการคุมเพดานเงินกู้เพื่อไม่ให้กระทบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี สำหรับกระทรวงคมนาคม ตนได้ให้นโยบายทุกหน่วยงานจัดลำดับโครงการที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถระบบการขนส่งและความปลอดภัย ก่อนนำกลับมาเสนอกระทรวงต่อไป
สำหรับแผนดำเนินโครงการปีงบประมาณ 2569 จำนวน 64 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 116,962.12 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 มิติ ประกอบด้วย มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน 21 โครงการ จะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางและการขนส่งสินค้า เช่น การแก้ไขปัญหาจราจร จ.เชียงใหม่ โครงการก่อสร้าง ทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ และการพัฒนาเชื่อมโยง โครงข่ายการเดินทางสู่เมืองหลักในภูมิภาค อาทิ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ศึกษาและออกแบบเส้นทางเอ็มอาร์ 1 (MR1) ช่วงนครปฐม-นครสวรรค์ ใช้เขตทางร่วมกันระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ ตามแผนแม่บทโครงการบูรณาพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง (MR-Map) และวงแหวน รอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี-ทล.32
นายสุริยะกล่าวว่า สำหรับมิติพัฒนาการขนส่งทางบก ดำเนินโครงการใหม่ 10 โครงการ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการให้บริการรถสาธารณะ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้า ขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เช่น ศึกษาจัดทำรถโดยสารสาธารณะต้นแบบ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้า อาทิ การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัฒนาระบบการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกผ่านระบบดิจิทัล เป็นต้น การขับเคลื่อนมิติการพัฒนาระบบขนส่งทางราง 14 โครงการ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบราง ยกระดับการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวมถึงการเพิ่มศักยภาพด้านระบบรางของประเทศ ผลักดันการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ 113 คัน เป็นต้น
นายสุริยะกล่าวว่า ขณะที่การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำ 10 โครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้า-ออกของเรือโดยสารและเสริมทราย เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายหาด เช่น เสริมทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เขาหลัก-แหลมปะการัง จ.พังงา ชายหาดสมิหลา จ.สงขลา หาดบางเสร่ จ.ชลบุรี กันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำปากพร-สารสิน จ.ภูเก็ต รวมทั้งศึกษาแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมารีน่าของภูมิภาคอาเซียน พร้อมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ เสริมศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 9 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และออกแบบอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (South Terminal) และทางวิ่งเส้นที่ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายสุริยะกล่าวว่า หลังจาก ครม.อนุมัติทบทวนมติ ครม.และการปรับกรอบวงเงิน โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงินลงทุน 6,473.98 ล้านบาท เรียบร้อยแล้วนั้น ทางกระทรวงคมนาคมมีแผนจะเสนอโครงการลงทุนต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้ต่อไป 9 โครงการ วงเงินรวม 373,408 ล้านบาท โครงการลงทุนหลักมีแผนจะเสนอที่ประชุม ครม. ดังนี้ 1.โครงการรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20.5 กม. วงเงิน 15,176 ล้านบาท 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ช่วงบางบัวทอง บางปะอิน ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินลงทุน 15,862 ล้านบาท 3.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) นครปฐม-ชะอำ ช่วงที่ 1 นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 44,444 ล้านบาท 4.โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 ทางคู่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,310.84 กม. วงเงินลงทุน รวมทั้งสิ้น 297,926 ล้านบาท ประกอบด้วย เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.54 กม. วงเงินลงทุน 81,143.24 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 307.60 กม. วงเงินลงทุน 44,095.36 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 44.50 กม. วงเงินลงทุน 7,772.90 ล้านบาท, เส้นทาง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168.20 กม. วงเงินลงทุน 30,422.53 ล้านบาท, เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321.00 กม. วงเงินลงทุน 66,270.51 ล้านบาท, เส้นทาง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189.00 กม. วงเงินลงทุน 68,222.14 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบเร็วๆ นี้