ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามทั่วไปของนายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน (ปชน.) ถาม นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับข้อพิพาทอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา และความคืบหน้าการดำเนินการและการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาตามกรอบของเอ็มโอยู 2544 รวมถึงกรณีต่อการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ระหว่างที่การเจรจาข้อพิพาทจะแล้วเสร็จ ที่พบว่าทั้งไทยและกัมพูชาพบการให้สัมปทานกับเอกชนไปแล้ว โดยนายมาริษชี้แจงว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งตามกรอบเอ็มโอยู 2544 มีข้อกำหนดให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาร่วมกัน ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีกลไกของกรรมการร่วม แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาพิจารณา สำหรับข้อห่วงใยของ ส.ส.ฝ่ายค้านพร้อมรับฟัง อย่างไรก็ตาม ปลายเดือนมกราคม กระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นประเด็นดังกล่าว
วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะ เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ต จุดแรกที่ห้องประชุมท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต น.ส.แพทองธาร เป็นประธานการประชุมบูรณาการแก้ปัญหาพื้นที่ภูเก็ต รองรับการเติบโตของการท่องเที่ยว แนวทางการแก้ปัญหาด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานและการผลักดันภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางระดับพรีเมียม (Premium Destination) และการรองรับกิจกรรมขนาดใหญ่ โดยนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต รายงานสรุปว่า ภูเก็ตมีแนวทางการแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ และมีโครงการจะนำระบบเอไอมาควบคุมไฟจราจรทั้งจังหวัด อยากให้มีการศึกษารถไฟฟ้ารางเบา แก้ปัญหาการจราจร รวมถึงเสนอแนวทางให้ใช้น้ำจากเขื่อนรัชชประภา มาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภูเก็ต แนวทางการบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะในพื้นที่ รวมถึงพัฒนาแผนการดูแลนักท่องเที่ยวและแนวทางป้องกันเหตุภัยพิบัติ
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า วันนี้มาติดตามงาน ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย 35 ล้านคน ก่อนช่วงโควิดมีนักท่องเที่ยวเกือบ 40 ล้านคน ถือว่าใกล้เคียง และ 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวมาที่ภูเก็ต ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมากกว่าช่วงก่อนโควิด ถือว่ามีการปรับตัวที่ดี จึงอยากให้โฟกัสเรื่องพรีเมียมการท่องเที่ยว อยากสนับสนุนชาวบ้านที่ค้าขายหรือมีธุรกิจส่วนตัว เช่น โบลท์แท็กซี่ หากเอกชนเข้ามาช่วยและรัฐบาลสนับสนุน จะเกิดธุรกิจขนาดใหญ่กลายเป็นธุรกิจหลักได้ ทั้งนี้การเดินทางในพื้นที่ภูเก็ต ทางกระทรวงคมนาคม มีแผนงานและอนุมัติงบประมาณและสั่งการให้เร่งดำเนินการ ส่วนถนนเส้นหลักสาย 402 ที่ระบุว่าระยะทาง 25 กม. มีจุดตัดถึง 19 จุด ถ้าปรับปรุงอยากให้สื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องส่วนรวม หากปรับแล้วการจราจรดีขึ้นนักท่องเที่ยวเดินทางมาก็จะแฮปปี้และอยู่นานขึ้น รวมไปถึงระบบขนส่งสาธารณะจากสนามบินเข้าเมือง ต้องสื่อสารให้ชัดว่าการที่ปรับตรงนี้ไม่ได้ทำลายอาชีพของใคร แต่เป็นการปรับให้เกิดอาชีพใหม่ และเสนอว่าอยากให้มีรถอีวีบัส เข้ามาอยากให้ศึกษาและทำความเข้าใจเพราะไม่ได้หมายความว่าเมื่อเพิ่มตรงนี้แล้วประชาชนที่มีรถส่วนตัวจะเลิกใช้รถอยากให้พิจารณาให้รอบคอบ
นายกฯกล่าวต่อว่า สำหรับบริหารจัดการน้ำ อยากเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าโครงการใดได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วขอให้เร่งดำเนินการ ฝากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ศึกษาการนำน้ำมาจากเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี โครงการอ่างเก็บน้ำลำรูใหญ่ จ.พังงา มาใช้ในภูเก็ต ขณะที่การท่องเที่ยวเน้นย้ำให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางของงานเทศกาลขนาดใหญ่ อยากให้ตำรวจท่องเที่ยวที่ดูแลประชาชนดีอยู่แล้วประชุมเฉพาะส่วนกันอีกครั้งเพื่อดูว่ามีอะไรที่ส่วนกลางสามารถสนับสนุนเพิ่มเติมได้ อยากรับฟังความคิดเห็นและรีเซตระบบใหม่ว่าอะไรที่ใช้มาแล้วต้องปรับเปลี่ยน เช่น การพัฒนาบุคลากร การนำระบบเอไอ มาช่วยงานเพิ่มขึ้น เพราะรายได้อยู่ที่การท่องเที่ยว สำหรับการปราบผู้มีอิทธิพลสำคัญมาก สิ่งผิดกฎหมายที่เกิดขึ้น อยากให้ตำรวจโฟกัสจริงจังไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย และไปพูดว่าคนมีเงิน คนมีอิทธิพล พอมีปัญหาทุกอย่างก็จบ ประชาชนไม่ได้รับการดูแล ผู้ที่ไม่มีอิทธิพลถูกไล่บี้ เรื่องนี้เป็นปัญหาต่อชีวิตประชาชน อยากเน้นย้ำเรื่องกฎหมายให้ใช้อย่างเด็ดขาด ไม่อยากให้ละเว้น ถ้าเอากฎหมายมาใช้อย่างจริงจังประชาชนปลอดภัยและประเทศชาติมีระเบียบ