ภารกิจสู่พลังงานสีเขียว กฟผ.รุก CSV ลดคาร์บอนเพิ่มรายได้
SUB_NUM January 10, 2025 09:00 AM
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ประเทศไทยกำหนดเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี ค.ศ.2065 ดังนั้น ปีนี้ จึงเป็นอีกปีที่เป็นความท้าทายของไทยในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสะอาด

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) เกี่ยวกับทิศทางและบทบาทสำคัญของ กฟผ. ในฐานะเส้นเลือดใหญ่ของระบบไฟฟ้าไทย กลไกหลักในการขับเคลื่อนไฟฟ้าสีเขียว

ปัจจุบันไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 350 ล้านตันต่อปี ขณะที่ กฟผ.ปล่อยคาร์บอนราว 33 ล้านตัน ประมาณ 10% ของประเทศ โดยแนวทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 นั้น ไทยตั้งเป้าหมายปล่อยคาร์บอนให้เหลือเพียง 100 ล้านตันต่อปี ซึ่งลดลงถึง 3 เท่า กฟผ.จึงวางแผนลดคาร์บอนไว้ 3 ระยะ และวางแผนทิศทางการลงทุน เช่น โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ลอยน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมส่วนที่เหลือ เช่น ซื้อมาจากลาว เมียนมา หรือโรงไฟฟ้าเอกชนที่เป็นถ่านหินและก๊าซธรรมชาติก็นับรวมเป็นระยะ 3 ของ กฟผ.ทั้งหมด

ในระยะ 3 ที่ทำให้เราค่อนข้างกังวลเพราะตามเป้าของ กฟผ. หลังจากนี้ต้องเป็นไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้นตลอด Supply Chain โดยเฉพาะที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ก็เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น แสงอาทิตย์ ลม แต่จะให้ลดการใช้ก๊าซธรรมชาติไปเลยก็ทำได้ แต่ต้องมีการลงทุนเพิ่ม เช่น 1) การดักจับคาร์บอน พัฒนาปรับปรุงกระบวนการผ่านเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage : CCUS) และ 2) ผู้บริโภคก็ต้องยอมเสี่ยงจ่ายค่าไฟที่แพงเพื่อชดเชยการดักจับคาร์บอน ไม่มีของดีราคาถูก

CSV ลดคาร์บอนสร้าง Value

ปัจจุบัน กฟผ.ดำเนินการตาม 5 กลยุทธ์หลัก ๆ คือ 1) S-Sources Transformation โรงไฟฟ้าของตัวเองทำอย่างไรให้เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น 2) S-Sink Cocreation ในองค์กรไม่ได้มองแค่การผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ในส่วนการดำเนินงานบุคลากร การจัดการภายในองค์กรย่อมมี Waste เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าเรามองแค่ Source แต่ไม่ได้เห็นความสำคัญของภายในองค์กรก็จะเดินต่อไปไม่ได้

3) S-Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เวลาเราเห็น SMEs โรงเรียน ชุมชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่นที่ปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก ซึ่ง กฟผ.เองมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึง Market CSR อาจจะเข้าไปช่วยในส่วนนี้ 4) Creating Shared Value (CSV) เป็นการลดคาร์บอน แต่ในขณะเดียวกันก็สร้างรายได้ให้กับองค์กรด้วย

เรามีแนวคิดที่จะเปลี่ยนโครงการจาก CSR ให้เป็น CSV โดยเริ่มเมื่อประมาณ 5-6 เดือนก่อน เป็นการนำเงินจาก CSR มาลงกับโครงการ CSV นอกจากจะช่วยสังคมแล้วยังสร้างประโยชน์ให้กับ กฟผ. และทำให้เกิดการต่อยอดธุรกิจใหม่ เช่น เข้าไปช่วยเหลือ SMEs ในการลดคาร์บอนและก่อให้เกิดการต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาเกิดการร่วมมือสนับสนุนธุรกิจร่วมกันในอนาคต

และ 5) Backbone เป็นระบบ Grid เชื่อมโยงทั่วประเทศ จะทำอย่างไรให้มีความมั่นคงและไม่เกิดไฟฟ้าดับ คือ ต้องมีศูนย์พยากรณ์การใช้ไฟฟ้า (Forecast Center) ให้ความสำคัญกับสายส่ง ระบบแบตเตอรี่เก็บพลังงานไฟฟ้า เมื่อเกิดปัญหา Geopolitics คนไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ ท้ายที่สุดพลังงานสะอาดจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ส่วนความมั่นคงทางไฟฟ้าของประเทศสุดท้ายก็ต้องเป็นหน้าที่ของ กฟผ.

“เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 เหลือเวลาอีก 30 กว่าปี ถ้าเราทำ CSV ก็ยังทัน ไทยมีศักยภาพเพียงพอ SMEs สามารถต่อยอดเป็นโปรดักต์ที่มี Value กฟผ.พยายามทำเรื่องนี้อยู่”

มีกองทุนสีเขียว-ตลาดคาร์บอน

เมื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวมากขึ้น ก็จะกระทบราคาพลังงานมากขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องมีกองทุนเข้ามาสนับสนุน จำเป็นต้องเริ่มจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.Climate Change) ต้องทำต่อเรื่องของกองทุนพลังงานสะอาด หรืออัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Utility Green Tariff : UGT) เงินก้อนนี้ที่เก็บมาสามารถนำไปชดเชยได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างตลาดคาร์บอนให้เกิดขึ้นในประเทศได้ มีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเราพูดถึงพลังงานสะอาดจะต้องไม่พูดถึงราคาถูกสุด แต่ต้องพูดราคาที่รับได้ ถ้าไม่สะท้อนออกมาในเชิงราคา คนก็จะไม่ประหยัด

ขณะเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ มีกฎห้ามปล่อยคาร์บอนเกินที่กำหนดก็จะต้องหาวิธีมาชดเชยหรือทำให้ลดลง ตอนนี้มีตลาดรับซื้อคาร์บอนแล้ว เพียงแต่ Demand-Supply ยังไม่เยอะ ตลาดประเทศไทยเป็นแบบเสรี ใครอยากทำก็ทำ แต่เมื่อ พ.ร.บ.ถูกบังคับใช้จะเปลี่ยนจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) จะเริ่มในปี ค.ศ.2026 ในช่วงนี้ไทยจะต้องเร่งเรื่อง พ.ร.บ.Climate Change และตลาดคาร์บอน เพื่อให้ต่างประเทศยอมรับ

ในด้านใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificate (REC) ถือว่าไทยได้เริ่มใช้แล้ว เมื่อช่วงที่ผมเป็นบอร์ด กฟผ.รอบแรก ราว 3-4 ปีก่อนได้มีโอกาสไปลงนาม REC ซึ่งเป็นใบรับรองแทนปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จริงจากพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ แต่อยู่ในระยะ 2 แต่ตลาดยังไม่รองรับ เนื่องจากการใช้ REC ค่อนข้างจำกัด

“พ.ร.บ.Climate Change อยู่ภายใต้การดูแลของกรมลดโลกร้อน ส่วน Regulator หลักก็เป็นหน้าที่ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ขณะที่ REC เป็นหน้าที่ของ กฟผ. และกลุ่มกระทรวงพลังงาน ดังนั้น 3 หน่วยงาน หากประสานความร่วมมือกันก็ครบขั้นตอนแล้ว รอ พ.ร.บ.ออก แบ่งปันข้อมูลร่วมกัน ก็น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จได้”

ทำแอปลดคาร์บอนบุคคล

ผมเคยช่วยงานกระทรวงพลังงาน สิ่งแรกที่ทำ คือ เปิดสถาบันพลังงานเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่เราสอน คือ อยากให้ทุกคนรู้ว่าเรามีคาร์บอนฟุตพรินต์เท่าไหร่ จึงจัดอบรม Learn to Share เหมาะกับการปรับตัวของ SMEs ส่วนเรื่องที่สองที่ทำ คือ ทำแอปพลิเคชั่น CFiD (Carbon Footprint in Daily life) เป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์ของทุกคน ให้ทุกคนสามารถเห็นข้อมูลที่จับต้องได้ ตรวจสอบได้ และเมื่อรู้ว่าการปรับพฤติกรรมอย่างไรที่จะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของตัวเอง

ในหนึ่งวันเราปล่อยคาร์บอนเฉลี่ย 15 กิโลกรัมต่อคน แต่คนในกรุงเทพฯและปริมณฑลปล่อยคาร์บอน 50-80 กิโลกรัมต่อวัน เราจะช่วยลดคาร์บอนได้มาก เพียงแค่บันทึกกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน เช่น ซื้อกางเกงยีนส์ 1 ตัวที่ผ่านกระบวนการฟอกสี 60 กิโลกรัมต่อคาร์บอน ก็จะแสดงผลภาพรวมการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์จากกิจกรรมต่าง ๆ (Total Carbon Footprint Emission) แต่ถ้าจะให้เกิดความยั่งยืนได้ ตัวอย่างต่างประเทศ นำคาร์บอนที่เราลดได้ไปใช้ลดภาษีส่วนบุคคล

“ผมอยากทำเรื่อง CSV ให้เป็นแพตเทิร์นของประเทศ บอร์ด กฟผ.ทำแผนแล้ว จะต้องมีพลังงานสะอาดสัดส่วนเท่าไหร่ โซลาร์เท่าไหร่ โรงไฟฟ้าจะต้องติดตั้งกังหัน Turbine เท่าไหร่ มีการวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว”

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.