ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2568 ยังคงเผชิญความท้าทายหลายเรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะโตลดลงเหลือ 2.4% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ จากปี 2567 ที่ขยายตัว 2.6% และภายใต้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำ ในส่วนของภาคธนาคาร การดำเนินธุรกิจยังคงต้องอยู่บนพื้นฐาน “ความระมัดระวัง” และช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถอยู่รอดไปได้ด้วยกัน พร้อมรักษาคุณภาพสินทรัพย์
มุมมองข้างต้นสะท้อนออกมาโดย “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการดำเนินธุรกิจในปี 2568 เมื่อเร็ว ๆ นี้
โดย “ขัตติยา” กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเป็นเศรษฐกิจแบบเก่า ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ก็ฉุดรั้งการบริโภคและการใช้จ่ายที่ต้องระมัดระวัง รวมถึงนำมาสู่ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ แถมยังเจอปัจจัยภายนอก ที่ยังต้องจับตาปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และนโยบายการค้าของสหรัฐ ที่อาจมีผลต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งมีความเสี่ยงในเรื่องของดุลการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐ ทำให้อาจโดนเพ่งเล็งและมีสิทธิถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยได้
“ขัตติยา” กล่าวว่า ในแง่ของลูกค้าธนาคาร ซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก ธนาคารได้ส่งสัญญาณเตือนให้ลูกค้าได้รับรู้ความเสี่ยงดังกล่าวที่จะมาถึง และผู้ประกอบการเองเริ่มเห็นสัญญาณแล้ว หลังเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอ เช่น ยุโรปเริ่มไม่ซื้อของหรือซื้อน้อยลง ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มทยอยหาตลาดใหม่ไปก่อนแล้ว ดังนั้นในส่วนของนโยบายภาษีของสหรัฐ อาจจะดูว่าทางการมีการเจรจาหรือตั้งรับเรื่องภาษีอย่างไร
ทั้งนี้ โจทย์ของผู้ประกอบการจะเป็นเรื่องของค่าแรง ต้นทุนดำเนินงานและภาษีจะเป็นอย่างไร และสิ่งที่จะต้องทำเพิ่ม คือ การเพิ่มผลิตภาพ และลดต้นทุนให้ได้ และเรื่องเร่งด่วน คือ การหาตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา เป็นต้น
“ภายใต้เศรษฐกิจและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แผนธุรกิจปี 2568 ที่เราจะเสนอคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ เราได้คำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโตต่ำ นโยบายทรัมป์ ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังมีอยู่ จากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงแล้ว”
ภาวะเศรษฐกิจที่ยังท้าทายและโตต่ำ ภาคธนาคาร รวมถึง “กสิกรไทย” จะต้องดำเนินธุรกิจระมัดระวังอย่างมาก โดยเน้นฐานลูกค้าเดิมและมีฐานข้อมูลมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2565 ธนาคารต้องการช่วยคนตัวเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุน
จึงมีการทดลองผ่าน “แชลเลนเจอร์แบงก์” แต่พบว่า มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยสร้างข้อมูลบัญชีเท็จ ดังนั้น ทำให้ธนาคารต้องเบรกโครงการนี้ไว้ก่อน และต้องพิจารณาข้อมูลมากขึ้น เช่น บัญชีออนไลน์ หรือ Digital Lending อาจจะดูย้อนหลัง 10 ปี เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้ธนาคารพร้อมลุยในปี 2569 ต่อไป
“ถ้าไม่ใช่ลูกค้าเดิม จะต้องเป็นลูกค้าที่แข็งแรง หรือเลือกกลุ่มเติบโต เช่น ลูกค้ารายใหญ่อยู่ในระดับ A Star หรือลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ ธนาคารก็พร้อมจะไป แต่จะไม่เน้นการแข่งขันมาก จะเน้นเรื่องการทำธุรกรรมมากกว่า เช่น การทำธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศ ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เป็นต้น ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะเป็นน้ำซึมบ่อทราย ท่ามกลางเศรษฐกิจไม่ดี”
ดังนั้น การปล่อยสินเชื่อใหม่ ในปี 2568 จะเกิดจากฐานลูกค้าเดิมประมาณ 80% จากสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อปัจจุบันรายใหญ่ 39% เพิ่มจาก 30% ธุรกิจเอสเอ็มอี 27% และธุรกิจรายย่อย 28%
ขณะที่ธุรกิจต่างประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจในต่างประเทศจะขยายตัวเติบโตได้ดีกว่าไทย แต่ก็จะมีลูกค้าที่ใช่และไม่ใช่ เช่นเดียวกับตลาดเวียดนามและอินโดนีเซีย ที่มีทั้งเติบโตและไม่โต หรือจีน ที่ยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมาก ซึ่งในแผนธุรกิจในปี 2568 ธุรกิจต่างประเทศจะชะลอลง สอดคล้องกับเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอลง โดยเป้าหมาย 3 ปี (ปี 2566-2569) จะมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศอยู่ที่ 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.3%
ด้านสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้น “ขัตติยา” บอกว่า หนี้เสียของเก่าเริ่มดีขึ้น และของใหม่ก็ต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น น่าจะมีส่วนทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลดีขึ้น ขณะที่ล่าสุด ธนาคารจัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริหารสินทรัพย์ (JVAMC) ร่วมกับ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) คือ “บริษัท บริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด”
เพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ถือเป็นการร่วมมือกับ AMC รายใหญ่ 2 ราย จากที่ก่อนหน้านี้ก็มีร่วมกับ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ตเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์เจเค จำกัด (JK AMC) ซึ่งทั้ง 2 รายเก่งเรื่องตามหนี้
อย่างไรก็ดี ธนาคารต้องติดตามดูแลลูกค้าใกล้ชิดในทุกพอร์ตสินเชื่อ โดยเพิ่มการมอนิเตอร์ หากพบว่ามีสัญญาณเริ่มไม่ดี จะต้องติดต่อลูกค้าให้เร็วขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ดีขึ้น ซึ่งมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” มีข้อดี คือ ทำให้ลูกค้าติดต่อกลับมาหาธนาคาร คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามามากพอสมควร แต่อาจจะต้องดูตัวเลขแท้จริงในเดือน มี.ค. 2568 หลังปิดให้ลงทะเบียนในเดือน ก.พ.
“เอ็นพีแอลน่าจะดีขึ้น เพราะของเดิมเราเริ่มดีขึ้น ของใหม่เราก็ระวัง ซึ่งในส่วนของธุรกิจรายใหญ่ยังไม่เห็นสัญญาณ เอสเอ็มอีกำลังซื้อน้อยลง การสเปนดิ้งน้อย อาจจะเจอหนี้เสียมากขึ้น แต่ก็คงเสียไม่ทั้งหมด โจทย์คือ ในกลุ่มที่ดีก็มีเสีย กลุ่มที่เสียย่อมมีดี เราก็ต้องหาคนที่ดีให้เจอ อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ เราต้องช่วยเหลือลูกค้าให้รอดภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่”
“ขัตติยา” ยังตอบคำถามถึงประเด็นที่ว่า คนมักจะมองว่าธุรกิจธนาคารมีกำไรมาก ขณะที่ลูกหนี้ที่มีความเปราะบางมากขึ้น โดยยอมรับว่าถ้าดูกำไรที่เป็นตัวเงิน ก็จะมองได้ว่าค่อนข้างสูง เฉลี่ย 3-4 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ทั่วโลก จะพบว่าแบงก์ไทยมีผลประกอบการที่แย่มากที่สุด สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) แบงก์ไทยเฉลี่ยที่ 8-9 บาท ส่วนประเทศอื่นให้ผลตอบแทนจากเงินลงทุนเฉลี่ย 15-20 บาท อาทิ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เป็นต้น
“เราจะไม่เน้นการทำ NIM (ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ) ให้สูง ๆ เพราะเราทำไม่เป็น แต่จะใช้เรื่องของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย และต้นทุนจากการปล่อยสินเชื่อ (Credit Cost) ซึ่งสิ้นปี 2568 จะเริ่มเห็นกล้ามเนื้อ และวิ่งดีขึ้นในปี 2569 ได้ โดยรายได้จะมาจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกรรมที่จะเป็นน้ำซึมบ่อทรายเรื่อย ๆ” ซีอีโอกสิกรไทยกล่าว