ชวนกันมาพากันมู(เตลู) - สักการะพระธาตุพนม ศูนย์รวมใจสองฝั่งโขง
ข่าวสด January 10, 2025 04:01 PM

“พระธาตุพนม” ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ตั้งอยู่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธศาสนิกชนไทย-ลาวสองฝั่งโขง มี พระธรรมวชิรโสภณ (สำลี ปัญญาวโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร

เป็นเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยอิฐ ฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 57 เมตร ภายในประดิษฐานพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) พระพุทธเจ้า ประดับตกแต่งด้วยศิลปะลวดลายอันประณีตวิจิตรทั้งองค์

พระธาตุประจำวันเกิด ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ และพระธาตุประจำวันเกิดนักษัตร ผู้ที่เกิดปีวอก

ตามตำนานกล่าวไว้ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ.8 ในสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์รุ่งเรือง โดยท้าวพญาทั้ง 5 คือ พญานันทเสน พญามณีจุลพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง และพญาสุวรรณพิงคาระ พระมหากัสสปะพร้อมพระอรหันต์ 500 รูป

มีการบูรณะครั้งที่ 1 ในราว พ.ศ.500 และบูรณปฏิสังขรณ์ตามลำดับ จนกระทั่งวันที่ 11 ส.ค.2518 พระธาตุพนมได้หักล้มพังทลายลงจากเหตุพายุฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ก่อนที่จะมีการบูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2522 สมัยรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ภายในองค์พระธาตุพนม นอกจากจะบรรจุสิ่งของเครื่องใช้ในสมัยโบราณ พระพุทธรูปปางต่างๆ นับหมื่นชิ้นแล้ว ภายในยังมีบันไดสามารถปีนป่ายไปจนถึงยอดพระธาตุชั้นที่ 6

พระครูพนมกรปรีชา เลขานุการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมกล่าวว่า พระธาตุพนมมีความสูงถึงยอดฉัตร 57 เมตร แบ่งเป็น 6 ชั้น ชั้น 1 คือ ส่วนฐานพระธาตุพนม เมื่อเข้าไปจะพบเห็นฐานพระธาตุองค์เก่าที่หักล้มในปี พ.ศ.2518 สามารถเดินรอบได้

ชั้นที่ 2 หลังไต่ขึ้นบันไดลิงที่ติดตั้งข้างผนัง จะพบพระพุทธรูปที่ญาติโยมนำมาบรรจุเอาไว้หลายร้อยองค์ หนึ่งในนั้นคือ พระพุทธรูปในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินมาบรรจุไว้

ชั้นที่ 3 ถือเป็นหัวใจสำคัญของพระบรมธาตุเจดีย์ เป็นชั้นที่บรรจุพระอุรังคธาตุ (ส่วนหน้าอก) ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เทียนเงินเทียนทองมาถวายสักการะพระอุรังคธาตุบนชั้น 3 ด้วย

ชั้นที่ 4 เป็นมณฑปครอบพระอุรังคธาตุ 9 ชั้น มีพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยโบราณบรรจุไว้ ชั้น 5 เป็นชั้นมหาปราสาท จะเห็นมหาปราสาทติดกำแพงด้านทิศใต้ขององค์พระธาตุพนม ชั้นนี้บรรจุคัมภีร์ใบลาน บอกเล่าเรื่องราวขององค์พระธาตุพนม ตลอดจนธรรมะ คำสอนต่างๆ

ชั้นที่ 6 ชั้นสุดท้าย เมื่อขึ้นไปจะพบเห็นพระพุทธรูปทองคำ ปัจจุบันมี 3 องค์ หน้าตัก 9 นิ้ว และหลายขนาดที่ญาติโยมศรัทธาต่อองค์พระธาตุพนมได้สร้างถวาย เพื่อมาประดิษฐาน เลยชั้น 6 ขึ้นไปจะเป็นบันไดออกสู่ด้านนอกพระธาตุพนม จะมีปล่องไว้ลอดออกเพื่อปรับเปลี่ยนหลอดไฟ

พระครูพนมปรีชากรกล่าวต่อว่า การเข้าไปกราบในองค์พระธาตุพนมชั้นใน มีข้อห้ามไว้โดยห้ามผู้หญิงเข้าไปโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งภายในกำแพงแก้ว ส่วนผู้ชายที่จะเข้าไปนั้นต้องมีวัตถุ ประสงค์ว่าเข้าไปเพื่ออะไร บางท่านมีความประสงค์จะนำเอาพระพุทธรูปเพื่อประดิษฐานไว้ ก็สามารถเข้าไปได้

“ผู้ที่จะเข้าไปภายในจะต้องเปลี่ยนชุดนุ่งขาวห่มขาวที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ และได้รับอนุญาตจากทางวัดเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น โดยพระธรรมวชิรโสภณ (สำลี ปัญญาวโร) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม อนุญาตเสียก่อน ขณะเข้าไปจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำวัดพาขึ้นไปนุ่งขาวห่มขาวแล้วต้องรับศีลห้า หลังบรรจุพระพุทธรูปบนแท่นฐานชั้นที่ 1 เมื่อออกมาต้องขอขมาทุกครั้งเพื่อไม่ให้เป็นบาปเป็นกรรมติดตัวไป”

พระครูพนมปรีชากรกล่าวด้วยว่า ผู้ที่เข้าแล้วปกติจะก้าวข้ามพระพุทธรูปที่บรรจุไว้ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ซึ่งเป็นฐานพระธาตุตั้งแต่สมัยกรมศิลปากรมาบูรณะ สมัยนั้นได้ตอกเสาเข็ม 44 ต้น จะนำพระพุทธรูปทองคำบรรจุในฐาน เมื่อก้าวย่างขึ้นไปเท่ากับว่าเหยียบกายพระพุทธรูปแล้ว จึงต้องมีการขอขมาดังกล่าว

สำหรับการขอขมา หากญาติโยมคนใดหลงลืมหรือพลาดพลั้งอาจเผลอโดยไม่มีเจตนา ให้ตั้งจิตตั้งใจอธิษฐานจิตขอขมาที่บ้านว่า “ข้าพเจ้าได้ประมาทล่วงเกินต่อพระธาตุพนม ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ขอเดชอำนาจพระธาตุได้อโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า เพื่อไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรมเวรเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าและครอบครัว”

คำไหว้พระธาตุพนม ตั้งนะโม (3 จบ)

“ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิ”

คำไหว้ยอดพระธาตุพนม

“เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทธะ อุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา”

ชนะ วสุรักคะ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.