รพร.ปัว นำร่อง ‘รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติฯ’ ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
วันนี้ (10 มกราคม 2568 ) ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) เปิดโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่ รพร. 21 แห่งทั่วประเทศ ที่ รพร.ปัว จ.น่าน
โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้บริหารมูลนิธิ รพร. ผู้บริหาร/เจ้าหน้าที่ รพร.ปัว และหน่วยงาน/องค์กรสนับสนุน ร่วมงาน พร้อมมีการประชุมหารือแผนและทิศทางความร่วมมือการดำเนินงานและปฏิบัติงานรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 72 พรรษา
นพ.โอภาส กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและความพิการที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการเสียชีวิตและทุพพลภาพ สธ.จึงได้ร่วมกับ 3 กระทรวง 2 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงมหาดไทย (มท.), มูลนิธิ รพร. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
จัดทำโครงการรถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาโรค หลอดเลือดสมองเฉียบพลันในพื้นที่ รพร. 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านโรคหลอดเลือดสมองที่ได้มาตรฐาน ลดอัตราความพิการและอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมอง และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันของเขตสุขภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างทันท่วงที โดยเริ่มต้นการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่บนรถ ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย ทำให้ลดความรุนแรงของโรคและป้องกันภาวะทุพพลภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มนำร่องที่ รพร.ปัว เป็นแห่งแรก ทั้งนี้ระหว่างปี 2564-2567 รพร.ปัว มีผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง รวมถึงที่รับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสายเหนือ เฉลี่ยปีละประมาณ 200 ราย
นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับแผนการจัดสรร รถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ที่ รพร. 7 แห่ง คือ รพร.ปัว รพร.สระแก้ว รพร.เดชอุดม รพร.สว่างแดนดิน รพร.ท่าบ่อ รพร.บ้านดุง และ รพร.ธาตุพนม ระยะที่ 2 ที่ รพร.กุฉินารายณ์ รพร.เวียงสระ รพร.ฉวาง รพร.เลิงนกทา รพร.กระนวน และ รพร.นครไทย และระยะที่ 3 ที่ รพร.ตะพานหิน รพร.สายบุรี รพร.หล่มเก่า รพร.จอมบึง รพร.เชียงของ รพร.เด่นชัย รพร.ยะหา และ รพร.ด่านซ้าย ครอบคลุมทั้ง 21 แห่ง ทั่วประเทศ โดยรถได้รับการออกแบบให้เป็นรถพยาบาลฉุกเฉินที่ติดตั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) สามารถสแกนสมองผู้ป่วยและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมอง ผ่านระบบปรึกษาทางไกลเครือข่ายความเร็วสูง 4G/5G ช่วยในการตัดสินใจให้การรักษาได้แบบเรียลไทม์ พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีจุดนัดรับส่งต่อผู้ป่วยตามพิกัดที่กำหนดไว้ ช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วยอย่างรวดเร็วและให้การรักษาได้ทันท่วงที