วิกฤตหุ้นอาร์เอสฉุดดัชนี บทเรียนเดิมๆตลาดหุ้นไทย ที่ไม่ได้รับการแก้ไข
เปิดปีงูเล็กมาด้วยเรื่องราวที่ไม่ได้เล็กตาม โดยเฉพาะในแวดวงการลงทุน หลังจากผ่านมาเพียง 9 วันก็เกิดข่าวใหญ่สะพัดให้นักลงทุนได้ก่ายหน้าผากกันอีกรอบ
คือ กรณี “เฮียฮ้อ” หรือนายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ในสัดส่วน 22.32% หรือ 487 ล้านหุ้น และถือหุ้นในบริษัท อาร์เอสเอ็กซ์วายแซด จำกัด (มหาชน) หรือ RSXYZ สัดส่วน 16.35% หรือ 257 ล้านหุ้น ถูกบังคับขาย (Forced sell) หรือฟอร์ซเซล จากการจำนำหุ้นนอกตลาด
จนนำไปสู่ราคาหุ้นอาร์เอสที่ร่วงลงมาต่ำสุดฟลอร์ หรือหุ้นที่ราคาลดลงไปถึงระดับราคาต่ำสุดที่ได้กำหนดไว้ โดยราคา ณ วันที่ 9 มกราคม อยู่ที่ 1.82 บาท ลดลง 0.78 บาท หรือลดลง 30% โดยปรับลดลงกว่า 66.30% ในช่วง 5 วันทำการ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ราคาหุ้นยังไม่ถึงจุดต่ำสุด จนกว่าการฟอร์ซเซลจะสิ้นสุดลง
หากย้อนกลับไปดูภาพรวมปี 2567 ถือว่าเห็นปัญหาของตลาดหุ้นไทยเกิดขึ้นมาสักพักแล้ว เป็นหุ้นบางตัวที่ถูกมองว่ามีคุณสมบัติน่าลงทุน มีความแข็งแกร่งในแง่ปัจจัยพื้นฐาน แต่สุดท้าย Corner แตก หรือหุ้นที่เคยถูกเชื่อว่าดีสุดยอดแต่ถูกเทขายออกมาจนราคาดิ่งลงอย่างหนัก จากหลายสาเหตุที่ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะความไม่โปร่งใส และความเชื่อมั่นที่ขาดหายไป รวมถึงเรื่องพื้นฐานอย่างการขาดทุนด้วย
EA พลังงานบริสุทธิ์ที่ไม่บริสุทธิ์
อาทิ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ผู้ที่ราคาปรับลดลงอย่างหนัก ทั้งที่เคยโลดแล่นอยู่ในระดับสูงสุดถึง 68 บาทต่อหุ้น แต่ขณะนี้ราคาวิ่งอยู่ไม่ถึง 5 บาทต่อหุ้นเท่านั้น สาเหตุเป็นเพราะสัญญาส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ของโครงการโรงไฟฟ้า EA กำลังจะเริ่มทยอยหมดอายุ ทำให้โดยโครงการโซลาร์ลำปาง กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ หมดอายุปี 2567 และโครงการอื่นๆ จะทยอยหมดอายุเพิ่มเติมไปอีก
ก่อนจะเจอวิบากกรรมต่อไป เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษผู้บริหาร EA ในกรณีการทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์และซอฟต์แวร์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าความเสียหายกว่า 3,465 ล้านบาท ส่งผลให้นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ต้องออกจากตำแหน่ง มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดจึงลดลงจากจากเดิม 1.74 แสนล้านบาท เหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
สบายในวันที่ไร้ความสบาย
อีกกรณี บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสูงมาก ด้วยราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นรวดเร็วและร้อนแรง มีความน่าสนใจในรูปแบบของบริษัทที่มีการลงทุนในหลังบ้านของบริษัทใหญ่ๆ มากมาย ผ่านเป้าหมายการสร้างรายได้สู่ 2 หมื่นล้านบาท ทำให้นักลงทุนต้องมนต์ตัวเลขจนวิ่งซื้อเข้าพอร์ตมากมาย
สุดท้ายมาพบว่าผู้บริหารเทขายหุ้นออกจากมืออย่างหนัก จน ก.ล.ต.ต้องออกโรงให้สบายชี้แจงถึงข้อสังเกตในงบการเงิน เหตุผู้สอบบัญชีตั้งข้อสังเกตถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงาน หลังมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน และอาจสูญเสียอำนาจควบคุม SBNEXT เมื่อภาพไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง จึงมีความเสียหายเกิดขึ้นหลายพันล้านบาท หลังจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดลดลงจากเดิมที่ 9,185 ล้านบาท เหลือแค่ 1,532 ล้านบาทเท่านั้น
ธนบุรี เฮลท์แคร์ที่ไม่แคร์นักลงทุน
ขณะที่อีกกรณีดัง คือ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่ราคาเคยทะยานสูงสุดถึง 99 บาทต่อหุ้น แม้ในช่วงปกติก็วิ่งไม่ต่ำกว่า 20 บาทต่อหุ้นอย่างต่อเนื่อง จนช่วงโควิดที่ทำให้ความต้องการในด้านวงการแพทย์มีมากขึ้น ราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปสูงสุด และปรับลงมาเคลื่อนไหวบริเวณ 60 บาทต่อหุ้นต่อเนื่อง
จนกระทั่งบริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า พบประเด็นที่น่าสงสัย เป็นรายการในราคากว่า 145 ล้านบาท ที่เกี่ยวพันกับผู้ก่อตั้ง ส่งผลให้บริษัทต้องสำรองความเสียหายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนนายแพทย์ บุญ วนาสิน อดีตผู้ก่อตั้ง THG ได้มีข่าวฉ้อโกงนักลงทุน สร้างความเสียหายหลายพันล้านบาท และหนีออกนอกประเทศไป ราคาหุ้นจึงร่วงลงมาวิ่งต่ำกว่า 20 บาทต่อหุ้น ทำให้มูลค่าบริษัทลดลงจากเดิม 47,246 ล้านบาท มาอยู่ที่ 13,644 ล้านบาทเท่านั้น
หุ้นไทยป่วยใกล้วิกฤต
ทั้งนี้ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนวีไอ เปิดเผยว่า ภาพหุ้นไทยมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เมื่ออยู่ในอาการทรงๆ ทรุดๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปี 2568 นี้ ปัญหาที่มีออกมายังไม่ถูกแก้ไข ปัญหาใหม่ก็ตามออกมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจกลายเป็นความปกติ มองว่าเป็นเรื่องไม่เร่งด่วนที่ต้องแก้ไข
ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องเร่งด่วนมากๆ สุดท้ายความเชื่อมั่นที่หายไปจะไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ เพราะหน่วยงานรัฐก็มอง เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้คิดว่าต้องเร่งแก้ปัญหา คนเกิดน้อยไม่ทันกับสังคมคนแก่ ต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพที่จะเริ่มทำ ไม่เหมือนช่วงวิกฤตปี 2540 ที่มองว่าต้องรีบฟื้นเศรษฐกิจ มีการออกอาวุธอย่าง “ศปร.” หรือ (คณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาระบบการเงินของประเทศ) เพื่อรีบปฏิรูปประเทศ แต่ตอนนี้คือปล่อยให้เป็นไปตามเรื่องตามราว
โดยเฉพาะหุ้นรายตัวที่มีกลิ่นแปลกๆ ออกมา แต่ก็ไม่ได้เข้าไปตัดไฟตั้งแต่ต้นลม สุดท้ายความเสียหายก็เกิดขึ้นจนไม่สามารถหยุดได้แล้ว อย่างตัวหุ้นที่มีลักษณะ Corner แตก ที่เคยดูดีมากๆ แต่ก็วิ่งร่วงระนาวลงมา ต้องมีสัญญาณเกิดขึ้นก่อน อาทิ มีหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อย มีเรื่องราวของการเข้าไปทำธุรกิจแห่งอนาคต หรือกำไรจะเติบโตก้าวกระโดด ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนที่มาก ราคาหุ้นสูงมากเทียบกับพื้นฐาน
ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะหุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นหุ้นดี ไม่ใช่หุ้นไม่ดี กิจการเติบโตดี เพียงแต่ราคาสูงเกินไปมาก เพราะนักลงทุนมีความเชื่อว่าจะดี จึงเน้นซื้อเข้าพอร์ต ก่อนจะมีใครสักคนเทขายออกมาเพื่อทำกำไร จนราคาร่วงแบบไม่ทันตั้งตัว และนักลงทุนก็จะหนีไม่ทันแล้ว
ปกติแล้วหากหุ้นเหล่านั้น Corner แตก หุ้นบางตัวอาจถูกวนกลับมาซื้อใหม่ได้อีก ขึ้นอยู่กับว่าปัจจัยพื้นฐานของหุ้นนั้นๆ เป็นอย่างไร แต่ส่วนตัวมองว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะเป็นความตั้งใจทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นอย่างร้อนแรง ทั้งจากความต้องการที่ไม่สมดุล หรือเรื่องราว (สตอรี่) ที่ใส่เข้ามาระหว่างนั้น แม้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นสูงแล้ว แต่นักลงทุนก็อาจไม่สนใจในราคาคิดเพียงว่าต้องมี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการลงทุนสูงมากๆ ไม่แพ้ราคาการเข้าซื้อที่ต้องระวังเช่นกัน