วันเสาร์ที่ 11 ม.ค.2568 น้อมรำลึกครบรอบ 151 ปี ชาตกาล “พระครูจันทสีตลคุณ” หรือ “หลวงปู่จันดา จันทาโภ” อดีตเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิ พิสัย และอดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม พระเถรา จารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่ในศรัทธาของญาติโยม อีกทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์ของอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป
นามเดิม จันดา อุทปา เกิดเมื่อวันที่ 11 ม.ค.2417 ที่บ้านดงบัง หมู่ที่ 4 ต.ภารแอ่น อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นบุตรของนายอุด-นางง้อม อุทปา ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนา
จนถึงปี พ.ศ.2532 ขณะอายุ 15 ปี บรรพชาที่วัดบ้านขมิ้น ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย ภายหลังเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์พำนักอยู่ที่วัดบ้านดงบัง บ้านเกิด
อายุครบบวชเข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2437 ที่อุโบสถวัดบ้านดงบัง ต.ภารแอ่น อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม โดยมีพระเป่ม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระค้อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระคำมี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เดินทางไปยังสำนักเรียนวัดบ้านดอนหลี่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมด้วยความขยันขันแข็ง ในเวลาไม่นานสำเร็จการศึกษามูลกัจจายน์ ซึ่งยุคสมัยนั้นการศึกษาของวงการสงฆ์ยังไม่เจริญเช่นปัจจุบัน สำนักเรียนก็มีน้อย ครูอาจารย์ที่มีภูมิความรู้จะอบรมสั่งสอนยังมีไม่มาก
พระภิกษุ-สามเณรที่ต้องการศึกษาเล่าเรียนต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการแสวงหาที่เรียน
สำหรับหลวงปู่จันดาที่สามารถเรียนจบมูลกัจจายน์ จึงนับได้ว่าเป็นผู้มีภูมิความรู้มากรูปหนึ่งในยุคสมัยนั้น ดังจะเห็นได้ว่าต่อมาไม่นานได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ไปดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองพอก
วันที่ 16 ม.ค.2453 ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ให้ไปดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ที่วัดทองนพคุณ และวันที่ 6 พ.ย.2472 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูจันทสีตลคุณ
หลังจากที่มีตำแหน่งทางปกครอง ปฏิบัติหน้าที่งานด้านปกครองคณะสงฆ์ ยึดหลักเมตตาธรรมเป็นที่ตั้ง ด้วยหลักพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วย ความมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และปฏิบัติศาสนกิจตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการศึกษาให้แก่พระภิกษุ-สามเณร โดยเปิดสำนักเรียนขึ้นที่วัดทองนพคุณ จนเป็นสำนักเรียนใหญ่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในแต่ละปีจะมีพระภิกษุ-สามเณรศึกษาเล่าเรียนจำนวนมาก โดยทำหน้าที่เป็นครูสอนเอง และยังร่วมกับญาติโยมพัฒนาวัดทองนพคุณให้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์รวมใจของชุมชนดังปรากฏในปัจจุบัน
ในช่วงสมัยนั้นพระอุปัชฌาย์มีน้อยมาก ผู้ที่มีความประสงค์จะบรรพชาหรืออุปสมบทในเขตพื้นที่ใกล้เคียงต่างเดินทางมาบวชกับท่านที่อุโบสถวัดทองนพคุณ มีหลักฐานตัวเลขนับแต่ที่ท่านรับหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์จนถึงวันมรณภาพ บรรพชา 3,250 รูป และอุปสมบท 4,050 รูป
นับว่าเป็นผู้มีศิษย์มากรูปหนึ่ง ในจำนวนที่อุปสมบทให้มีหลายรูปที่ต่อมาเป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง อาทิ หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม, หลวงปู่สุ่ย ถิรธัมโม วัดหนองขาม อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม, หลวงปู่ถิน สารานุโม วัดบ้านดงเมืองน้อย อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม, หลวงปู่เสือ อดีตเจ้าคณะอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เป็นต้น
อีกทั้งยังเป็นพระที่มีผลงานการเผยแผ่พระธรรมคำสอนอย่างต่อเนื่อง เทศนาสั่งสอนอบรมให้พุทธศาสนิกชนยึดหลักศีล 5 ในการดำเนินชีวิต มีความกตัญญูต่อบิดา มารดา ครู อาจารย์ และผู้มีพระคุณ จะทำให้ชีวิตพานพบแต่ความดีงามและเจริญรุ่งเรือง
หลังจากตรากตรำรับใช้พระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ช่วงบั้นปลายของชีวิตอาพาธบ่อยครั้ง วาระสุดท้ายถึงจะอาพาธหนักแต่ยังมีสติเรียกคณะศิษย์มาประชุม พร้อมให้โอวาทโดยมีใจความสั้นๆ ว่า “สังขารร่างกายมีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีป่วย แล้วมีความตายเป็นบั้นสุดท้าย ไม่มีสัตว์ใดล่วงพ้นความตายไปได้แม้แต่คนเดียว ดังนี้ ท่านผู้เป็นศิษย์ทั้งหลายเอ๋ย จงประพฤติธรรมและวินัยให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นจนเต็มความสามารถเทอญ”
สุดท้าย มรณภาพอย่างสงบเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2494 สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58
จัดงานพระราชทานเพลิงที่เมรุวัดทองนพคุณ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2495