ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะตลาดหวั่น Universal Tariff จากสหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงิตราประจำวันที่ 6-10 มกราคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ 34.53/55 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/1) ที่ระดับ 34.45/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3/1) ทางสถาบันจัดการด้านอุปทาน ISM ได้มีการปิดเผยดัชนี PMI ภาคการผลิตว่ามีการปรับตัวขึ้นที่ระดับ 49.3 ซึ่งสูงกว่าระดับในเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 48.4
อย่างไรก็ตามดัชนียังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ และยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 นอกจากนี้ เอสแอนด์พีโกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.8 ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 จากระดับ 56.1 ในเดือนพฤศจิกายนโดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
ขณะที่ภาคธุรกิจเพิ่มความเชื่อมั่นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐได้มีการเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานโดยตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน เพิ่มขึ้น 259,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 8.098 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 7.839 ล้านตำแหน่งในเดือนตุลาคมและสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 7.70 ล้านตำแหน่ง
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ทรัมป์กำลังหารือกับคนใกล้ชิดเกี่ยวกับแผนการตั้งกำแพงภาษี โดยเขาจะเล็งไปที่อุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติหรือความมั่นคงต่อเศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้น แทนที่จะเป็นการปรับขึ้นภาษีศุลกากแบบครอบจักรวาล หรือ Universal Tariffs ต่อทุกภาคอุตสาหกรรมในอัตรา 10%-20% ตามที่เขาได้ประกาศในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงแรกของการซื้อขายในตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์ก ก่อนจะปรับตัวกลับขึ้นมาหลังทรัมป์ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวผ่านทางโซเชียลมีเดีย ในวันพฤหัสบดี (9/1) ออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) เปิดเผยว่าการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 122,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 136,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 146,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน
ในขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 201,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 นอกจากนี้เมื่อคืนวันพุธ (8/1) ที่ผ่านมามีรายงานข่าวจากสำนักข่าว CNN ซึ่งระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ มีแผนที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้เขามีอำนาจในการใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าตามที่ได้สัญญาไว้ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
และในด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินประจำวันที่ 17-18 ธันวาคม โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่เฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และเจ้าหน้าที่เฟดเตรียมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายต่าง ๆ ที่คาดว่าจะมาจากคณะบริหารของนายทรัมป์
โดยนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการผู้ว่าการเฟดและเป็นสมาชิกถาวรของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) กล่าวสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีนี้ โดยเขากล่าวว่าเขาเห็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง และจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไป โดยตลาดจับตาดูการเปิดเผยตัวเลขภาคตลาดแรงงานของสหรัฐภายในสัปดาห์นี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป CPI เดือนธันวาคม ปรับตัวสูงขึ้น 1.23% (YOY) จากเดือนธันวาคมปี 2566 อยู่ที่ระดับ 108.28 โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปรับตัวขึ้นคือราคาที่สูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับราคาที่สูงขึ้นของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มผลไม้สด เครื่องประกอบอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
โดยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ดัชนีผู้บริโภคในเดือนนี้ได้มีการปรับลดลง 0.18% ซึ่งเกิดจากการที่ราคาของสินค้าในกลุ่มผักสดปรับตัวลดลง ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI มีการปรับตัวสูงขึ้น 0.79% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2566 อยู่ที่ระดับ 150.41 สำหรับปี 2568 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้มีการตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้อยู่ที่กรอบ 0.3-1.3% โดยปัจจัยสำคัญของสมมติฐานเงินเฟ้อในปีนี้ประกอบด้วยการคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ระดับ 2.3-3.3%
นอกจากนี้ทาง สนค.ยังคงตั้งเป้าหมายว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1.25% โดยจะมีการชะลอตัวลงในระดับที่ต่ำกว่า 1% ในไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยคาดว่าจะมีการปรับตัวขึ้นมากกว่า 1% อีกครั้งในไตรมาสที่ 4 เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในวันอังคาร (7/1) นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2567 จะขยายตัวราว 4.5% ส่งผลให้การส่งออกทั้งปี 67 ขยายตัวได้ 4.5-5% เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2568 คาดการณ์การขยายตัวที่ 1-3% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงมาก ทั้งปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความรุนแรงเรื่องสงครามการค้า โดยระหว่างสัปดาห์ตลาดทุนของไทยยังคงพบกับแรงกดดันจากแรงเทขายอย่างต่อเนื่องจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนปรับใช้นโยบายภาษีของสหรัฐ และค่า P/E เฉลี่ยนในตลาดหุ้นไทยที่อยู่สูงกว่าระดับเฉลี่ยของภูมิภาค ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.32-34.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 34.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (6/1) ที่ระดับ 1.0309/11 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/1) ที่ระดับ 1.0283/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยในวันจันทร์ (6/1) เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหภาพยุโรปฟื้นตัวกลับมาเหนือระดับ 50 เป็น 51.6 ในเดือนธันวาคม จาก 49.5 ในเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหภาพยุโรป ปรับตัวขึ้นเป็น 49.6 ในเดือนธันวาคม จาก 48.3 ในเดือนพฤศจิกายน สูงกว่าค่าประมาณการเบื้องต้นที่ 49.5 เพียงเล็กน้อย
ในภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงหดตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนธันวาคม แม้ภาคบริการมีการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่สามารถชดเชยภาวะตกต่ำที่รุนแรงขึ้นในภาคการผลิตได้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยข้อมูลในวันพฤหัสบดี (9/1) ว่ายอดส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายนปรับตัวสูงขึ้นเกินความคาดหมาย
โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากประเทศนอกสหภาพยุโรป (EU) โดยในเดือนพฤศจิกายน ยอดส่งออกของเยอรมนีเพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าที่โพลของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.0% ทำให้เยอรมนีมียอดเกินดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 1.97 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 1.34 หมื่นล้านยูโรในเดือนตุลาคม
ขณะเดียวกัน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีก็เติบโตขึ้นเช่นกันโดยเพิ่มขึ้น 1.5% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.5% โดยในช่วงระหว่างสัปดาห์นี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0273-1.0436 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 1.0284/86 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (6/1) ที่ระดับ 157.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/1) ที่ระดับ 157.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันจันทร์ (7/1) นายคัตสึโนบุ คาโตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นออกมาเตือนนักเก็งกำไรที่เทขายเงินเยนอีกครั้ง ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นกำลังจับตาความเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะการเก็งกำไรของนักลงทุน และพร้อมจะใช้มาตรการที่เหมาะสมหากตลาดผันผวนเกินควร หลังเงินเยนอ่อนค่าใกล้ระดับ 160.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่เคยทำให้ทางการต้องเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อเงินเยนเมื่อครึ่งปีก่อน อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนยังคงอ่อนตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ และญี่ปุ่นจะไม่ลดลงในเร็ว ๆ นี้
ขณะที่วันพุธ (8/1) มีการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของครัวเรือนญี่ปุ่น ประจำเดือนธันวาคม อยู่ที่ 36.2 หลังปรับค่าตามฤดูกาลแล้วลดลง 0.2 จุดจากเดือนพฤศจิกายน ในวันพฤหัสบดี (9/1) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นได้เปิดเผยข้อมูลว่า ค่าจ้างที่แท้จริงของญี่ปุ่นลดลง 0.3% ในเดือนพฤศจิกายน 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนค่าจ้างที่เป็นตัวเงินซึ่งหมายถึงจำนวนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับจากการทำงานตามข้อตกลงที่ทำไว้กับนายจ้าง รวมถึงเงินเดือนพื้นฐานและค่าล่วงเวลานั้นเพิ่มขึ้น 3.0% เป็น 305,832 เยน หรือประมาณ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ในช่วงระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 156.22-158.54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/1) ที่ระดับ 158.34/36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ