กยท.นำทีมเครือข่ายชาวสวนยางเยือนจีน อัปเดตเทคโนโลยีแปรรูปยาง พร้อมปูความร่วมมือการค้าลุ่มน้ำโขง สร้างโอกาสทางการค้ายางไทย
วันที่ 10 ม.ค.68 ดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พร้อมด้วยนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเยือนประเทศจีน นำทีมเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางฯ เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต-แปรรูปยางที่ทันสมัย ณ เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมหารือความร่วมมือทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้กับวงการยางพาราไทยในอนาคต
ดร.เพิก เผยว่า การไปเยือนจีนครั้งนี้ กยท. มุ่งเป้าพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปยางของสถาบันเกษตรกร ชาวสวนยาง โดยถือเป็นโอกาสดีที่ได้พาตัวแทนเครือข่ายสถาบันฯ เข้าศึกษาเยี่ยมชมขั้นตอนการแปรรูปผลผลิตยางของ บริษัท ซีซวงป่านหน่า มานเหลี่ย ยางพารา จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลยูนาน ถือเป็นพื้นที่ที่ผลิตยางพารามากเป็นอันดับ 2 ของจีน และมีผลผลิตต่อไร่สูงที่สุด เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตยางของไทย ซึ่งการเดินทางเยือนสิบสองปันนาในครั้งนี้ กยท. ยังได้มีโอกาสหารือความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางการค้าลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมกับผู้แทนบริษัทฯ และผู้แทนสมาคมการค้าส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ กยท. พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของวงการยาง โดยมุ่งเน้นด้านการตลาดและการค้า เพื่อยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง และวางเป้าหมายแรกที่สำคัญไว้ คือ มุ่งหวังให้สถาบันเกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมการศึกษาดูงานในครั้งนี้สามารถยกระดับศักยภาพการผลิตยางให้เทียบเท่ากับเอกชน
"การมาเยือนจีนในครั้งนี้ กยท. จะรายงานเสนอต่อ รมว.เกษตรฯ เพื่อทราบ และเสนอแผนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการวิจัย การตลาด การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีภายใต้โครงการที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป" ดร.เพิก กล่าว
ด้าน นายสุขทัศน์ กล่าวถึงการเดินทางเข้าพบหารือผู้ว่าเมืองสิบสองปันนา และผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งได้รับทราบนโยบายจากรัฐบาลจีนว่า มีความประสงค์จะใช้จังหวัดปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา มณฑล ยูนนาน เป็นศูนย์กลางการค้ายาง ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและจีนตอนใต้ โดยได้ลงทุนในส่วนโรงงานแปรรูปยางและโกดังเก็บยาง ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 8 แสนตัน โดยโรงงานดังกล่าวจะสร้างเสร็จในเดือนเมษายนนี้ เป็นโอกาสดีสำหรับผลผลิตยางยางพาราจากประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ที่จะสามารถส่งออกยางมายังประเทศจีน ผ่านจีนตอนใต้ ช่วยลดระยะเวลาและค่าขนส่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรไทยเพิ่มขึ้น