"หมูเถื่อน-ปลาเถื่อน" เต็มเมือง แค่ไม่มีใครรู้อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริง
GH News January 10, 2025 11:10 PM

เมื่อโลกหมุนตามกระแสโลกาภิวัฒน์ “ของเถื่อน” ที่พบแพร่หลายมากตั้งแต่ในอดีตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการสูงแต่ไม่มีการผลิตในประเทศหรือมีผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ปัจจุบัน “ของเถื่อน” ได้ขยายวงกว้างไปถึงสัตว์และพืชหลายรายการ ด้วยหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งหลายรายการส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศมาเป็นเวลาช้านาน แต่จับมือใครดมไม่ได้ ขาดการดำเนินการตามกฎหมาย สังคมจึงไม่ได้รับรู้หรือได้ข้อมูลไม่ครบ หรือข้อเท็จจริงถูกบิดเบือน 

ช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 (3-4 ปีที่ผ่านมา) มีของเถื่อน 2 รายการ คือ หมูเถื่อนและปลาเถื่อน (ปลาหมอคางดำ : Blackchin tilapia) ถูกลักลอบนำเข้าประเทศไทยและถูกกระตุ้นให้เกิดการรับรู้เป็นระยะๆ เหมือนๆ กัน ทั้งที่ควรมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและโปร่งใส ทว่า การสื่อสารจากบางองค์กรอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม โดยมุ่งเป้าเฉพาะกรณีปลาหมอคางดำ และหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงของเถื่อนชนิดอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจของประเทศ

"ปลาเถื่อน" ไม่ได้มีแค่ปลาหมอคางดำ แต่ยังครอบคลุมถึงการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำและพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการอนุญาตให้นำเข้า เช่น ปลาดุกรัสเซีย ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาหมอมายัน หอยเชอรี่ กุ้งเครฟิช ต้นไมยราพยักษ์ หรือแม่แต่ผัก-ผลไม้เมืองหนาวล้วนเป็นการลักลอบนำเข้ามาในประเทศเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันโดยไม่ปรากฎตัวผู้นำเข้า การสืบสวนสอบสวนจึงไม่เกิดขึ้นและไม่มีใครติดใจจะเอาผิด ทั้งที่สัตว์และพืชเหล่านั้นสร้างผลกระทบต่อสมดุลนิเวศมาจนถึงทุกวันนี้

การแก้ปัญหาของเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นหมูเถื่อน ปลาเถื่อนหรือสินค้าเถื่อน ต้องแก้ไขอย่างเท่าเทียมและแก้อย่างเป็นระบบในภาพรวม โดยเฉพาะระบบตรวจสอบและการดำเนินการตามกฎหมายต้องจัดการกับ "ผู้กระทำผิด" และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบนำเข้าและการเลี้ยงผิดกฎหมาย ซึ่งการเน้นเฉพาะกรณีปลาหมอคางดำโดยไม่กล่าวถึงปัญหาอื่น ๆ อย่างชัดเจน อาจถูกมองว่าเลือกปฏิบัติหรือบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างกระแส

จนถึงวันนี้สังคมกลับหลงลืมว่า 11 บริษัทที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ลักลอบนำเข้าปลาหมอคางดำและส่งออกไป 17 ประเทศ หายเข้ากลีบเมฆไม่มีการทวงถามหรือตรวจสอบแต่อย่างใด ตลอดจนการพบปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์ทั้งบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำและในอ่างเก็บน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ แม้จะเป็นสัตว์น้ำห้ามนำเข้าแต่กลับแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก ก็ควรดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณา คือ การลักลอบเลี้ยงปลาหมอคางดำในพื้นที่บ่อร้างและบ่อเลี้ยงโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังปลามีมูลค่าจากโครงการรับซื้อปลาในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ควรถูกตรวจสอบและลงโทษตามระเบียบกับผู้กระทำผิด เพื่อป้องกันการแพร่พันธุ์เพิ่มเติม ขณะเดียวกันควรจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ไม่ใช่สร้างกระแสความเข้าใจผิดด้วยข้อมูลด้านเดียวหรือปลาหมอคางดำเป็นปัญหาเดียวที่สำคัญ ขณะเดียวกันกลับไม่ได้กล่าวถึงปัญหาการนำเข้าสายพันธุ์ต่างถิ่นอื่น ๆ ที่อาจมีผลกระทบรุนแรงยิ่งกว่า

การแก้ไขปัญหา "หมูเถื่อน-ปลาเถื่อน" ต้องครอบคลุมทุกชนิดที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ ไม่ใช่เลือกหยิบเฉพาะกรณีหนึ่งเพื่อจุดพลุหรือบิดเบือนประเด็น หน่วยงานรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องสอบสวนและดำเนินการอย่างโปร่งใส เร่งสอบสวนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าผิดกฎหมายและผู้ลักลอบเลี้ยง เพื่อสร้างมาตรฐานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา ขยายการตรวจสอบสายพันธุ์ต่างถิ่นอื่นๆ ไม่ควรหยุดเพียงกรณีปลาหมอคางดำ สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของการนำเข้าสายพันธุ์ต่างถิ่น ป้องกันการสนับสนุนของเถื่อนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

การแก้ไขปัญหาของเถื่อนไม่ควรหยุดที่กรณีใดกรณีหนึ่ง แต่ควรมองภาพรวมของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ ควรใช้จุดยืนที่เป็นธรรม นำเสนอข้อมูลรอบด้านและผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุม ที่สำคัญต้องโปรงใส เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

ล่าสุด กรมประมง กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนด้วยการกำจัดจากแหล่งเลี้ยงที่ไม่มีเจตนาเลี้ยงออกให้ได้มากที่สุดรวมถึงในธรรมชาติ โดยของบประมาณจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 60 ล้านบาท เพื่อนำมารับซื้อจากเกษตรกรกิโลกรัมละ 15 บาท และค่าดำเนินการอีก 5 บาท ตั้งเป้าหมายรับซื้อไว้เดือนละ 500 ตัน จนกว่าจำนวนปลาหมอคางดำจะน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดย : ปาจรีย์ เนินสำราญ นักวิชาการอิสระ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.