บอร์ด EEC ให้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยึดการลงทุนเป็นแบบ PPP ส่งอัยการดูสัญญา “เอเชีย เอรา วัน” เซ็นสัญญาใหม่ต้องจบภายในเมษายน 2568 “จุฬา” ยอมรับเสียโอกาสพัฒนาพื้นที่ถึง 5 ปี ตลอดเส้นทางรถไฟ รวมถึงสถานีหลัก ทั้งฉะเชิงเทรา พัทยา สัตหีบ และสนามบินอู่ตะเภา ด้าน ร.ฟ.ท.จะลงทุนเองต้องมาจากนโยบายรัฐ
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ. หรือบอร์ด EEC) ได้มีการประชุมไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2568 โดยบอร์ดได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งที่ประชุมได้สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หารือร่วมกันเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการครั้งนี้ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP)
และได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (EEC Track) ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ด EEC กล่าวว่า ในการดำเนินการต่อไป ร.ฟ.ท.และเอกชนคู่สัญญาจะเจรจาร่างสัญญาแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารสัญญา คณะกรรมการกำกับดูแล และนำเสนอร่างสัญญาแก้ไขเสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องการตีความเหตุสุดวิสัย
หลังจากนั้น ร.ฟ.ท.จะเสนอร่างสัญญาแก้ไขที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดมายัง EEC เพื่อเสนอให้บอร์ด EEC และ ครม.พิจารณาเห็นชอบในการแก้ไข โดย ร.ฟ.ท.และเอกชนคู่สัญญาจะลงนามร่างสัญญาฉบับแก้ไขที่ ครม.เห็นชอบ และ ร.ฟ.ท.จะสามารถออกหนังสือแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาเริ่มงานก่อสร้างโครงการ NTP ได้ทันที คาดว่าภายในเดือนเมษายน 2568
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือ EEC) กล่าวว่า ตามกรอบเวลาการเข้า ครม. คือช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 จากนั้นลากมาเดือนธันวาคม 2567 ที่ต้องอนุมัติร่างสัญญาฉบับใหม่ ซึ่งทั้งหมดจะต้องให้เสร็จภายในสิ้นปี 2567 แต่ในที่สุดก็ยังไม่มีการเสนอเข้า ครม. จึงขยับไทม์ไลน์ออกมา และขีดเส้นในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายคือเดือนมกราคม 2568 จนกระทั่งล่าสุดบอร์ด EEC คาดว่าจะให้จบภายในเมษายน 2568 รวมเราต้องเสียเวลาไปอีกกว่า 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าของโครงการนับตั้งแต่การลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 กินเวลามาถึง 5 ปี เมื่อโครงการดังกล่าวยืดระยะเวลาออกไปอีก ยิ่งสูญเสียโอกาสในการที่จะพัฒนาเมือง พัฒนาแต่ละสถานี เช่น ฉะเชิงเทรา พัทยา สัตหีบ พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ รวมถึงสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และยังเสียโอกาสในการดึงการลงทุนเข้ามาใน EEC เพราะบางโครงการจำเป็นที่ต้องเห็นความชัดเจนของโครงการนี้ก่อน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาเป็นซัพพลายเชนในโครงการดังกล่าว
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ในฐานะคู่สัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ผู้ชนะการประมูล ยืนยันว่าโครงการนี้เป็นโครงการสำคัญและจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ นอกจากจะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศไปแล้ว ยังส่งผลต่อการเกิดขึ้นของหลายอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงซัพพลายเชนในประเทศ
ส่วนกรณีที่โครงการไปต่อไม่ได้ ทั้งจากการไม่มีการลงนามในสัญญาแก้ไขปรับปรุง หรือมีการบอกเลิกสัญญาโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง EEC อาจเสนอให้ ร.ฟ.ท.เป็นผู้เข้ามารับผิดชอบการลงทุนในโครงการนี้แทนภาคเอกชน ซึ่งตามศักยภาพของ ร.ฟ.ท.แล้วสามารถดำเนินโครงการนี้ได้ เพราะมีศักยภาพมากพอในเรื่องของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนของระบบราง แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล