กางแผนที่ 54 จังหวัดเสี่ยง ประกันไม่รับ “น้ำท่วม-ดินถล่ม”
SUB_NOI January 12, 2025 11:45 AM
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

รอบปี 2567 ที่ผ่านมาถือว่าหนักหนาสาหัสสำหรับประเทศไทย ทั้งน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ที่ไม่เคยถูกน้ำท่วมมาก่อนในรอบ 100 ปี ดินโคลนถล่มตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้ โดยกรมทรัพยากรธรณีได้รวบรวมข้อมูลพบว่า เผชิญเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัย รวมถึง 1,112 เหตุการณ์ แบ่งเป็น แผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 160 เหตุการณ์ แผ่นดินไหว 947 เหตุการณ์ และหลุมยุบรวม 5 เหตุการณ์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ ปัจจุบันหลายคนยังไม่มีบ้านอยู่อาศัย เพราะบ้านได้ถูกดินโคลนถล่ม บางหลังถูกน้ำพัดพาไป บางหลังบ้านทรุดเสี่ยงที่จะเข้าไปอยู่อาศัย

แม้ปี 2567 รัฐบาลมีมติจ่ายเงินเยียวยากรณีบ้านเสียหายเกิน 70% ได้รับงบประมาณเยียวยาสูงสุดหลังละ 230,000 บาท ถ้าได้รับความเสียหายเกิน 30-70% ได้รับงบประมาณเยียวยาสูงสุดหลังละ 70,000 บาท และถ้าได้รับความเสียหายน้อยกว่า 30% ได้รับงบประมาณเยียวยาสูงสุดหลังละ 15,000 บาท

แต่หากเกิดอุทกภัย น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ซ้ำซากต่อเนื่องทุกปีในจุดเดิม ๆ รัฐบาลคงไม่มีเงินเยียวยาได้ทุกปี ขณะที่ภาคเอกชน โดยองค์กร และมูลนิธิต่าง ๆ จะระดมทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังแรงกายลงไปช่วยกันขุดดินกันทุกปี ๆ คงไม่ไหว !

ล่าสุดบริษัทประกันภัยรายใหญ่ระดับโลกที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยหลายรายได้ “ปฏิเสธ” การรับประกันภัยในพื้นที่น้ำท่วมหนักเมื่อปี 2567 ยกกันทั้งอำเภอแล้ว เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพัทลุง เป็นต้น

จากเดิมในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหลายบริษัทจะแถมเรื่องภัยน้ำท่วมไว้ โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันด้วยซ้ำ แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมหนักในเขตพื้นที่ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองช่วงปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทเรียกว่า “จ่ายเงินชดเชย” กันอ่วม ทำให้ไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้

ในอนาคตได้ยินว่า ทางบริษัทประกันจะนำ “แผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่มประเทศไทย” ของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล 15,559 หมู่บ้าน คิดเป็นพื้นที่เสี่ยงรวม 142,067 ตารางกิโลเมตร (84.8 ล้านไร่) หรือประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศไทย มาใช้ในการพิจารณารับประกันภัย

ยกตัวอย่าง “พื้นที่เสี่ยงภัยสีแดง” หากไปปลูกสร้างอาคาร บ้านเรือน อยู่ในพื้นที่เหล่านี้ บริษัทประกันภัยอาจจะไม่คุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะทราบอยู่แล้วว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย บริษัทประกันอาจจะไม่รับผิดชอบ ซึ่งในต่างประเทศมีการเขียนระบุเงื่อนไขเหล่านี้ไว้ชัดเจน

ขณะที่กรมทรัพยากรธรณีบอกชัดว่า บรรดาเทือกเขาทั้งหลายในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณชายแดน รวมถึงภูเขาในจังหวัดภูเก็ต ล้วนเป็นเทือกเขา “หินแกรนิต” ซึ่งมีสภาพเก่ามีอายุตั้งแต่ 150 ถึง 200 ล้านปี

ตอนนี้หินแกรนิตที่ประกอบเป็นภูเขาเหล่านั้นเริ่มเก่าแก่ เริ่มผุ ถ้ามีสิ่งกระตุ้นจากปริมาณน้ำฝนมากเกิน 150 มิลลิเมตร ตกต่อเนื่องเกินกว่า 24 ชม. จะเกิดการอุ้มน้ำ เมื่ออุ้มน้ำหนักมาก จะรับน้ำหนักไม่ไหว จะมีการเคลื่อนตัวที่รวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น ดังนั้น อนาคตใครจะไปซื้อที่ดิน ปลูกบ้านอยู่อาศัย ปลูกพูลวิลล่า หลังละหลาย 100 ล้านบาทขาย คงต้องเริ่มกางแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยดูก่อนแล้ว !

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.