ในช่วงฤดูหนาว ฝุ่น PM 2.5 กลับมาเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี จะได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เด็กเล็ก จะมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายของพวกเขาได้รับมลพิษในปริมาณมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรคในระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงยังส่งผลต่อพัฒนาการของสติปัญญาและระบบประสาทอีกด้วย
14 ม.ค. 2568 – พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน สามารถแทรกซึมเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ลึกถึงปอด และเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างง่ายดาย ซึ่งฝุ่นเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ และโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต โดยเฉพาะในเด็กจะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ หากเด็กหายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปสะสมในร่างกายจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง แสบจมูก แสบคอ น้ำมูกไหล
สำหรับเด็กบางรายจะมีการแพ้ คันตาและแสบตา บางคนอาจมีอาการเจ็บคอ ถ้าฝุ่นตัวนี้เข้าไปทางเดินหายใจส่วนล่าง ก็ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ หลอดลมไว ส่งผลให้เด็กไอเรื้อรัง และสามารถกระตุ้นให้เกิดโรคหอบหืดได้ ในเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่าง โรคหอบหืด ภูมิแพ้ หรือโรคทางเดินหายใจ จะมีความเสี่ยงอาการกำเริบมากยิ่งขึ้น
พญ.นงนภัส ให้ข้อมูลต่อว่า ฝุ่น PM 2.5 เป็นภัยคุกคามร้ายแรงสำหรับเด็ก ที่ระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ การสัมผัสฝุ่นในระยะยาวอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ หรือมีไอคิวลดลงอย่างต่อเนื่อง และการสัมผัสฝุ่นเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เด็กมีความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดหัวใจ” ในอนาคตเร็วกว่าที่คิด โดยจากการศึกษาพบว่า เด็กที่สูดฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน ทำให้ความเสี่ยงของ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” เพิ่มขึ้น เพราะฝุ่นสามารถเจาะทะลุเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ และลงไปในหลอดเลือดได้ เมื่อฝุ่นเข้าสู่กระแสเลือด จะกระตุ้นให้เกิดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันส่งผลให้เกิด โรคหลอดเลือดหัวใจ และภาวะหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี วิธีการดูแลเด็กจากฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่สำคัญมาก พ่อแม่ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงให้เด็กออกไปอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง เช่น พื้นที่กลางแจ้งในช่วงที่มีค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ควรจำกัดกิจกรรมกลางแจ้ง และหากต้องออกไปข้างนอก ควรให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งสามารถป้องกันฝุ่นขนาดเล็กจากการเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจเช็กค่าฝุ่นในอาคาร และใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อกรองฝุ่นในบ้าน รวมทั้งหากเด็กมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หอบเหนื่อย หรือหายใจติดขัด ควรพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการตรวจเช็คและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
ฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่แค่ปัญหาที่จะส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่ยังเป็นภัยเงียบที่ค่อยๆ ทำลายสุขภาพเด็กในระยะยาว ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเรื้อรัง อื่น ๆ ในอนาคต การปกป้องเด็กจากฝุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้และส่งผลดีต่อสุขภาพของพวกเขาในอนาคต