รัฐสภาไฟเขียวหลักการร่างแก้ข้อบังคับประชุมรัฐสภา เปิดทาง "คนนอก" ร่วมแจมแก้ รธน. ตั้ง กมธ. 18 คน
เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 268 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาเป็นไปอย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ทั้งนี้ในส่วนของพรรคเพื่อไทย พบการอภิปรายของนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนมีความเห็นก้ำกึ่งว่าจะรับหรือไม่ เนื่องจากยังมีความเห็นต่างในรายละเอียด โดยเฉพาะการแก้ไขในประเด็นกรรมาธิการ โดยการเป็น กมธ. ต้องมาจากหลายสัดส่วน รวมถึงสัดส่วนของพรรคการเมือง แต่เมื่อ กมธ. ขาดจากสมาชิกของพรรคการเมืองใด จะทำให้ดำรงตำแหน่งต่อไปไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขข้อ 123 ถือเป็นหัวใจของกระบวนการตรากฎหมายสูงสุด ทั้งนี้ หากรับฝาก กมธ. ที่ตั้งขึ้นให้แก้ไขในรายละเอียดให้เหมาะสม แต่หากไม่รับเพราะข้อบังคับที่ใช้ตั้งแต่ปี 2563 มีหลายประเด็นที่ต้องสังคายนา
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยควรรับหลักการ แม้มีข้อถกเถียงในการตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ได้หรือไม่ สามารถพิจารณาในชั้น กมธ. ได้ เพื่อหาข้อสรุปทางกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตนมีข้อสังเกตด้วยว่า สามารถตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาได้หรือไม่ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สามารถตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาของ กมธ. ได้ ชั้นนี้รับหลักการได้ และตั้ง กมธ. พิจารณาในสาระบัญญัติของข้อบังคับที่เขียนไว้มาตรา 123 และ 123/1 เพราะวิสามัญเป็นตัวกำหนดไว้ว่า สามารถตั้งบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทำหน้าที่ได้
จากนั้นนายพริษฐ์ อภิปรายสรุปด้วยว่า ประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาติดในการตัดเงื่อนไขให้ กมธ. พ้นจากตำแหน่งกรณีที่ขาดจากสมาชิกภาพของสภาที่เป็นสมาชิกนั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับกรณีที่บางพรรค หรือ ส.ว. เสนอบุคคลภายนอกเป็น กมธ. แต่หากเขียนไว้ จะมีปัญหาทางกฎหมายทันที ที่บอกว่าอาจไม่มี ส.ส. ส.ว. เป็น กมธ. เลยนั้น อาจเป็นไปได้ กรณีที่พรรคการเมืองและ ส.ว. ไม่เสนอสมาชิกของสภาของตนเองได้ แต่หากเห็นว่าควรมีสมาชิกรัฐสภาอยู่ใน กมธ. ในโควตาของ สว. ไม่ต้องเสนอคนนอก เพื่อปิดปัญหา อย่างไรก็ดี หาก ส.ว. หรือ ส.ส. จะเสนอชื่อใคร ต้องขออนุมัติจากสมาชิกรัฐสภา หากพบว่ามี กมธ. ที่น้อยไป สามารถแก้ไขได้ หากต้องการหลักประกัน สามารถรับหลักการแล้วไปแก้ไขในชั้น กมธ. ได้
นายพริษฐ์ ชี้แจงว่า กรณีที่เสนอให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น กมธ. นั้น เป็นกรณีพิเศษที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน ส่วนจำนวนและถ้อยคำนั้น ตนดึงมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ โดยพบว่ามติของรัฐสภา 415 เสียง เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ถือว่ารัฐสภาลงมติรับหลักการร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ที่พรรคประชาชนเสนอ จากนั้นได้ตั้งกรรมาธิการฯ เพื่อพิจารณา 18 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเสนอรายชื่อ กมธ. ในสัดส่วนของวุฒิสภา จำนวน 5 คน พบว่ามีประเด็นขัดแย้งระหว่าง ส.ว. 2 กลุ่ม ในการเสนอรายชื่อ ซึ่งได้มีการเสนอรายชื่อไปแล้ว อยู่ระหว่างขอผู้รับรอง แต่ทางกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ ได้ลุกขึ้นทักท้วง และแสดงความไม่พอใจว่า ไม่มี ส.ว. ที่เป็นเสียงข้างน้อยเข้าไปร่วมเป็น กมธ. เลย โดยพยายามจะเสนอรายชื่อ กมธ. ในสัดส่วน ส.ว. ที่เป็นเสียงข้างน้อยเช่นกัน แต่ก็ยังมีการถกเถียงกันไม่จบ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย ส.ว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ จึงเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติตัดสิน จนมีผู้ลุกขึ้นเสนอให้พักการประชุม เพื่อให้ ส.ว. ไปตกลงกันก่อน จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ประธานการประชุม ได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที
จากนั้นในเวลา 13.15 น. หลังจากที่ทาง ส.ว. ไปหารือ และตกลงกันแล้วเสร็จ ก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมเปลี่ยนแปลงรายชื่อ กมธ. ในสัดส่วนของ ส.ว. จำนวน 5 คน ที่มีการไปตกลงกันใหม่ โดยมีการเปลี่ยนรายชื่อให้ สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เข้าไปเป็น กมธ. คือนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ จากนั้นนายมงคล สุระสัจจะ รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ให้ฝ่ายเลขาฯ แจ้งรายชื่อ กมธ. ทั้ง 18 คน โดยการตั้ง กมธ.ชุดนี้ กำหนดระยะเวลาเสนอคำแปรญัตติ 15 วัน และได้สั่งปิดประชุมในเวลา 13.25 น.