“รัฐสภา” รับหลักการ”แก้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา “สว.-รทสช.” รุมค้าน “พรรคประชาชน” หลังเปิดทาง “คนนอก” ร่วมวง กมธ.แก้ รธน.ได้ “ส.ว.รัชนีกร” เดือดจัด ท้า ส.ส.รอบหน้าลงสมัคร ส.ว.ด้วย จะได้รู้ว่ามันยากแค่ไหน ขณะที่ “หมออ๋อง” คัมแบ๊กอีกรอบนั่ง กมธ.วิสามัญ ส่วน “สว.พันธุ์ใหม่” โวยไม่มีชื่อในกมธ.ฯ จน”วันนอร์” ต้องสั่งพักการประชุม สุดท้ายสว.เสียงข้างน้อยสมใจได้นั่งกมธ.
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 มกราคม 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พิจารณาเรื่องด่วน ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เสนอโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
โดย นายพริษฐ์ได้เสนอสาระสำคัญของร่างข้อบังคับฯ คือ การแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ว่า มี 3 ประเด็นหลัก คือ 1.เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมต่อกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) โดยเสนอปลดล็อก และเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหรือ ส.ว.สามารถเสนอชื่อบุคคลทั่วไปเข้าร่วมเป็น กมธ.เหตุผลสำคัญเพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น รวมถึงให้บุคคล ภาคประชาสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์กับการแก้รัฐธรรมนูญที่มากกว่าสมาชิกรัฐสภา แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วม
2.ลดการใช้กระดาษเพิ่มใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ สำหรับงานธุรการของรัฐสภา และ 3.ยกเลิกบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่มีความจำเป็นเกี่ยวกับหมวดการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่เกี่ยวการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภานั้น พบว่า ในการอภิปรายของ ส.ว.รวมถึง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขในประเด็นการกำหนดให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้าร่วมเป็น กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงติดใจในประเด็นที่ตัดลักษณะของการพ้นตำแหน่ง กมธ. ว่าด้วยการขาดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกออกไป
โดย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า มติของพรรครวมไทยสร้างชาติ มีมติไม่รับหลักการของร่างแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่เสนอ เนื่องจากมีประเด็นการกำหนดให้บุคคลภายนอกที่ไม่เป็นสมาชิกรัฐสภาร่วมเป็น กมธ.แก้รัฐธรรรมนูญ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ เป็นกฎหมายสูงสุดควรให้สิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา
ด้าน นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า ในประเด็นกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญมี 2 ประเด็นที่เสนอให้แก้ไข คือ การกำหนดการพ้นตำแหน่งของ กมธ.ที่ตัดการขาดจากสมาชิกภาพออกไป อย่างไรก็ตาม การขาดจากสมาชิกภาพไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีความผิดทุจริต ผิดจริยธรรม หรือต้องโทษที่ร้ายแรง จึงไม่สมควรทำหน้าที่ต่อในฐานะตัวแทนประชาชน นอกจากนั้นแล้วในการตั้ง กมธ. ที่กำหนดสิทธิให้ผู้แทนประชาชนที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็น กมธ.จำนวน 1 ใน 3 คือ ตัวแทนที่เตรียมไว้ เตรียมตัวให้เข้ามาเป็น กมธ. 15 คน ซึ่งเท่ากับ ส.ว.หรืออาจจะมากกว่า หากเอาตัวแทนผู้เสนอร่างกฎหมายเข้ามาทำหน้าที่โดยไม่ไว้วางใจฝีมือ สมาชิกรัฐสภาแก้กฎหมาย เท่ากับว่าระบบรัฐสภาล้มเหลว
“หากไม่เชื่อว่า สองสภาทำได้ กลับเอาตัวแทนคนกลุ่มหนึ่งที่สถาปนาตัวเองเป็นผู้แทน คนที่เป็นตัวแทนตั้งตัวเป็นตัวแทนเพื่อเอาสัดส่วนนี้ ผมคิดว่าการเปิดช่องแบบนี้ไม่เห็นด้วย ในหลักการที่เสนอแก้ไขมานั้นผมไม่เห็นด้วย ทางที่ดีควรไปยกร่างแยกเนื้อหา แต่หากติดประเด็นนี้ผมไม่เห็นด้วย” นายวิทยากล่าว
ขณะที่การแสดงความคิดเห็นของ ส.ว. อาทิ น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ ส.ว. อภิปรายด้วยความอัดอั้นตันใจ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคนนอกเป็น กมธ.ว่า ส.ส.ที่กำลังคุยอยู่อย่างมากมายตอนนี้ ไม่ได้ฟังเลย ท่านอาจจะมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกท่านมา 1 คนมีสิทธิ เลือก 1 ท่าน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนกลุ่มอาชีพอย่างพวกเรา ส.ว.เข้ามาเหมือนท่าน เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่ท่านอาจจะลืม ถ้าท่านลืมขอให้กลับไปอ่านใหม่อีกรอบได้
น.ส.รัชนีกรกล่าวต่อว่า อีกประการหนึ่งก็คือสถานภาพของ ส.ส.และ ส.ว. เป็นเครื่องรับรองและยืนยันว่า จะรับผิดชอบต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอยู่ในมือท่านอยู่แล้ว ตนไม่เห็นด้วยเลย กับการที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็น 1 เสียงในคณะ กมธ. แต่ตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะเชิญนักวิชาการ ภาคประชาสังคม ผู้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญเข้ามาให้ความเห็นในฐานะของที่ปรึกษา และในส่วนที่เขาเชี่ยวชาญ เนื่องจากนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านั้น อาจจะไม่ต้องรับผิดโดยตรงต่อการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเหมือนกับสถานภาพของ ส.ส.และ ส.ว.
“ประชาชนมีสิทธิในการเข้าใช้สิทธิตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงใช้สิทธิในการลงประชามติ การเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงการเลือกตั้ง ส.ส. เหมือนที่ ส.ส.บางท่านบอกว่า มาจากการเลือกตั้ง สมาชิกบางสภาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ท่านคะ สมัยหน้าท่านลง ส.ว.ไหมคะ ท่านจะได้รู้ว่า เราเข้ามายากแค่ไหน สมัคร 1 อำเภอ เลือกกันในกลุ่มตัวเองไม่พอ ยังจะไขว้กันอีก ไขว้กันโดยการจับสลากนะคะ ไม่สามารถมองตาใครแล้วให้เลือกเราได้เลย ซื้อก็ไม่ได้ เพราะไม่รู้จะซื้ออย่างไร มันเยอะ หลังจากตัวแทนอำเภอเข้ามาแล้ว เรายังไปเป็นตัวแทนจังหวัด ใช้วิธีการเดิมอีก ดิฉันเป็นตัวแทนของจังหวัดพังงา วันที่ดิฉันได้เป็นตัวแทนจังหวัด ดิฉันกล่าวด้วยความสัจจริงว่า วันนั้นดิฉันขอบพระคุณชาวพังงาอย่างมาก ดิฉันมาเกินจากที่ดิฉันคาดไว้เยอะ เกินจากนี้ดิฉันถือว่าเป็นกำไร สิ่งเดียวที่ดิฉันทำคืออธิษฐาน ท่าน ส.ส.ท่านเข้ามาด้วยการอธิษฐานไหมคะ ดิฉันอธิฐานว่า หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในประเทศนี้มีจริง หากท่านเห็นว่าดิฉันมีความรู้ความสามารถที่จะเข้ามาทำเพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้ ขอให้ดิฉันได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา แล้วดิฉันก็ได้รับเลือกในระดับประเทศที่มันยากไม่รู้จะยากอย่างไร” น.ส.รัชนีกรกล่าว
ส่วน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. อภิปรายว่า การแก้ไขข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ดูเหมือนเป็นการปูทางไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ตนติดใจในประเด็นการแก้ไขคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นกรรมาธิการ โดยร่างแก้ไขนั้นได้ตัดเกณฑ์ที่ กมธ.จะพ้นจากตำแหน่งใน (4) ว่าด้วยการขาดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกออก เท่ากับว่าจะให้คนที่ต้องคดีเข้ามาเป็น กมธ.
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ควรให้สมาชิกรัฐสภาดำรงตำแหน่ง ซึ่งสมาชิกรัฐสภาที่มีรวม 700 คน คือ ส.ส. 500 คน ส.ว.200 คน ส่วน กมธ.ที่จะตั้งมีจำนวน 45 คน ดังนั้น เมื่อ กมธ.พ้นตำแหน่ง เพราะขาดจากสมาชิกภาพ พรรคการเมืองควรตั้งบุคคลตามสัดส่วนของพรรคมาทดแทน ไม่เป็นปัญหา แต่หากยังให้คนที่ขาดสมาชิกภาพเป็น กมธ.ได้ถือว่าดูแคลนกันไปหน่อย
“ในพรรคการเมืองมีผู้มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก แต่การเสนอแบบนี้คงหลับตาดูแล้วเห็นว่าใครขาดสมาชิกภาพในอนาคตหรือไม่ ขอให้ทบทวน เพราะ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญนั้นมีความสำคัญ หากตัดส่วนคุณสมบัติที่ขาดคุณสมาชิกภาพออกไปจะเห็นใครมาทำหน้าที่ อ้าปากเห็นไปถึงริดสีดวงทวาร” นพ.เปรมศักดิ์อภิปราย
ขณะที่ นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ส.ว. อภิปรายไม่เห็นด้วยในการแก้ไขข้อบังคับข้อ 123 ที่กำหนดให้ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญมาจากรายชื่อที่สมาชิกรัฐสภาเสนอ เท่ากับเปิดทางให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้ามาทำหน้าที่ และการกำหนดสัดส่วนให้ประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าเป็น กมธ.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ กมธ.ที่กำหนดให้มี 45 คน ถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่กำหนดว่า ส.ส. ส.ว. หรือสมมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย
“การเสนอแก้ไขแบบนี้เท่ากับว่า จะตั้งใครก็ได้ใน 45 คน ไม่ต้องมีสมาชิกรัฐสภา แม้แต่คนเดียวก็ได้ ผมมองว่า ไม่เป็นเหตุที่สมควร เพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจหน้าที่ และสิทธิแก่สมาชิกรัฐสภา อีกทั้งการเสนอให้มีตัวแทนประชาชนที่เสนอแก้รัฐธรรรมนูญนั้น ผมติดใจในกระบวนการคัดเลือกที่ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่ถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง แม้ว่า การเสนอประชาชนเป็น กมธ.เป็นเจตนาดี เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม แต่การปฏิบัติและโครงสร้างตั้ง กมธ. อาจไม่สมดุล อาจลดทอนอำนาจการถ่วงดุลของ ส.ส.และ ส.ว. กลับเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ไม่มีร่างแก้ไขของประชาชนเข้ามาก็ตาม จะทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญถูกชี้นำโดยเสียงข้างมาก” นายพิสิษฐ์อภิปราย
ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว.พันธุ์ใหม่ อภิปรายว่า ขอสนับสนุนข้อบังคับการประชุมรัฐสภาฉบับนี้ เพราะคือข้อบังคับของตัวแทนของประชาชนดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามเจตจำนงค์ของประชาชน ต้องขอขอบคุณพรรคประชาชนที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาข้อบังคับการประชุมที่ต้องเปลี่ยน และข้อบังคับการประชุมข้อที่ 123 ซึ่งถือเป็นหัวใจ เพราะก่อนหน้านี้ข้อบังคับการประชุมไม่มีการเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการ แต่สมาชิกก็พูดว่านี่เป็นเขตพื้นที่ เขตอำนาจของเรา เราเปิดให้ประชาชนโดยใช้คำว่าคนนอก ตนคิดว่าประชาชนที่ฟังการอภิปรายอยู่เสียใจอย่างยิ่ง
“เมื่อเขาเลือกพวกคุณเข้ามาแล้ว พวกคุณเรียกเขาว่าเป็นคนนอกหรือ ตอนที่คุณจะให้เขาเลือกก็ไปกราบขอคะแนนเขา แต่พอเขาเลือกเสร็จแล้วคุณบอกว่าเขาเป็นคนนอก เขาไม่มีสิทธิเข้ามาในวงอำนาจนี้ กำลังหลงผิด และหวงอำนาจกันอยู่หรือเปล่า กำลังกลัวว่าโควต้าหนึ่งในสาม ที่จะเปิดให้ประชาชนเข้ามาเป็นกรรมาธิการร่วมพิจารณารัฐธรรมนูญนั้นจะเบียดบังโควต้าพรรคของท่าน กลุ่มของท่านไป น่าเสียใจ ดิฉันอยากจะให้ทุกท่านเปลี่ยนจากคำว่าบุคคลภายนอก เป็นบุคคลสำคัญ เพราะประชาชนนั้นคือเจ้าของอำนาจที่แท้จริง และถ้าเราจะพิจารณาในเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาชนเป็นผู้เลือกสมาชิกรัฐสภาเข้ามา แล้วเหตุใดจึงกรีดกันไม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนรวมในการที่จะพิจารณากฎหมายสูงสุด ตรงนี้จึงมองว่าสมาชิกรัฐสภาหลายท่านกังวลจนเกินเหตุในการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมาธิการพิจารณากฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่ควรเปิดใจให้กว้างยอมรับพัฒนาการนี้” น.ส.นันทนากล่าว
จากนั้น นายพริษฐ์อภิปรายสรุปว่า การประเด็นที่สมาชิกรัฐสภาติดในการตัดเงื่อนไขให้ กมธ.พ้นจากตำแหน่งกรณีที่ขาดจากสมาชิกภาพของสภาที่เป็นสมาชิกนั้น เป็นการแก้ไขเพื่อให้สอดรับกับกรณีที่บางพรรคหรือ ส.ว. เสนอบุคคลภายนอกเป็น กมธ. แต่หากเขียนไว้จะมีปัญหาทางกฎหมายทันที และที่บอกว่าอาจไม่มี ส.ส. ส.ว. เป็น กมธ.เลยนั้นอาจเป็นไปได้ กรณีที่พรรคการเมืองและ ส.ว.ไม่เสนอสมาชิกของสภาของตนเองได้ แต่หากเห็นว่าควรมีสมาชิกรัฐสภาอยู่ใน กมธ.ในโควต้าของ ส.ว. ไม่ต้องเสนอคนนอก เพื่อปิดปัญหา
อย่างไรก็ดี หาก ส.ว.หรือ ส.ส.จะเสนอชื่อใครต้องขออนุมัติจากสมาชิกรัฐสภา หากพบว่ามี กมธ.ที่น้อยไป สามารถแก้ไขได้ หากต้องการหลักประกันสามารถรับหลักการแล้วไปแก้ไขในชั้น กมธ.ได้ ส่วนกรณีที่เสนอให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น กมธ.นั้น เป็นกรณีพิเศษที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยประชาชน ส่วนจำนวน และถ้อยคำนั้นตนดึงมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
จากนั้น เวลา 12.00 น. ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 415 เสียง ไม่เห็นด้วย 185 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เป็นอันว่าที่ประชุมเห็นสมควรรับหลักการแห่งร่างข้อบังคับการประชุม ฉบับที่ … พ.ศ. … จากนั้นตั้ง กมธ.วิสามัญ จำนวน 18 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส. 13 คน ส.ว. 5 คน แปรญัตติ 15 วัน และนัดประชุม กมธ.ครั้งแรก วันที่ 16 มกราคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการตั้ง กมธ.วิสามัญในครั้งนี้ มีรายชื่อที่น่าสนใจ ได้แก่ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีต ส.ส.พิษณุโลก อดีตรองประธานสภา ถูกเสนอชื่อในสัดส่วนพรรคประชาชนด้วย ขณะที่ในการตั้ง กมธ.สัดส่วนของวุฒิสภานั้นก็เกิดปัญหาขึ้น เมื่อโควต้า ส.ว. 5 คน ไม่มีรายชื่อ ส.ว.เสียงข้างน้อยร่วมอยู่ใน กมธ.ด้วย ทำให้ ส.ว.เสียงข้างน้อยไม่พอใจ จึงเสนอรายชื่อ ส.ว.เสียงข้างน้อยเพิ่มขึ้นมาอีก 4 คน ทำให้มีจำนวน ส.ว.เป็น กมธ. 9 คน ซึ่งเกินโควต้า 5 คนที่ได้รับ
ทำให้เกิดการโต้เถียงกันในกลุ่ม ส.ว.เสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย ขณะที่ ส.ส.บางส่วนเสนอให้ ที่ประชุมรัฐสภาลงคะแนนโหวตตัดสินเลือกคนเป็น กมธ. ในที่สุดนายวันมูหะมัดนอร์สั่งให้พักประชุม 15 นาที เพื่อให้ ส.ว.เสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยไปตกลงเรื่องโควต้า ส.ว.ที่จะมาเป็น กมธ.ให้ลงตัวก่อน
จากนั้น เวลา 13.15 น. การประชุมร่วมรัฐสภา กลับมาประชุมใหม่ หลังพักประชุมไป 45 นาที โดยมี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดย ส.ว.ได้เปลี่ยนแปลงรายชื่อ กมธ. 5 คน โดยมี ส.ว.เสียงข้างน้อยร่วมเป็น กมธ.ด้วย