มช.ลุยหลักสูตรใหม่แห่งแรกของเอเชีย สาขาความยั่งยืน ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน
GH News January 15, 2025 03:47 PM

นพ.อนวัช วิเศษบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า มช.เปิดหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งความยั่งยืน หรือ science in sustainability ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี ถือเป็นหลักสูตรแรกในระดับปริญญาตรีของทวีปเอเชีย โดยการนำความรู้จาก 9 ศาสตร์ตั้งแต่รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ ภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มาบูรณาการจนเกิดเป็นหลักสูตรดังกล่าว โดยถือเป็นหลักสูตรที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่องของการผลิตกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

“แนวทางการเรียนการสอนที่มช.วางไว้จะเป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมด โดยแนวทางการพัฒนาบัณฑิตของหลักสูตรนี้ มช. ได้เริ่มจากการสอบถามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตซึ่งส่วนใหญ่ที่เป็นบริษัทชั้นนำด้านความยั่งยืน ทั้งนี้ เมื่อรับรู้ความต้องการด้านต่างๆในตลาด ทางมช.ก็ได้มีการส่งอาจารย์เข้าไปเพื่อศึกษาดูงานและนำออกมาพัฒนาเป็นหลักสูตรขึ้น”นพ.อนวัช กล่าว

นพ.อนวัช กล่าวต่อว่า หลักสูตรจะเรียนทั้งหมดเป็นเวลา 4 ปี โดยปีที่ 1 จะเริ่มจากการปูพื้นฐานเรื่องของความยั่งยืน เพื่อให้นักศึกษาได้รับรู้ว่าความยั่งยืนมีมิติอะไรบ้าง ปีที่ 2 จะเริ่มเจาะลึกเข้าไปในความยั่งยืนในแต่ละด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental, Social, and Governance (ESG) ปีที่ 3 จะเป็นการเรื่องของสหกิจศึกษาตลอดทั้งปีเพื่อให้นักศึกษาได้เข้าไปทดลองงานและได้รับประสบการณ์จริงจากบริษัทชั้นนำที่ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพูดคุยไว้เพื่อพัฒนาหลักสูตรนี้ เมื่อได้รับประสบการณ์จากการทำงานจริงในปีที่ 3 แล้วปีสุดท้ายของการเรียนหรือปีที่ 4 จะเป็นการนำประสบการณ์ดังกล่าวมาค้นหาตนเองและเตรียมพร้อมเข้าสู่โลกของการทำงาน

“วิชาที่มีให้เลือกเรียนจะมีหลากหลายมาก และเป็นวิชาที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่สนใจอยากจะต่อยอดจริงๆได้ ซึ่งทักษะต่างๆที่ได้รับหลังจากเข้าเรียนจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานในอนาคต ยกตัวอย่างจากการพูดคุยกับ บริษัท เอกชนแห่งหนึ่ง มีความต้องการวิศวกรที่สามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้ ฉะนั้นวิศวกรที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของชุมชนได้นอกจากจะมีทักษะทางด้านวิศวกรรมศาสตร์แล้วก็จะต้องมีทักษะการสื่อสารความเข้าใจกับชาวบ้านและชุมชน ซึ่งหลักสูตรนี้จะมีศาสตร์ต่างๆให้นักศึกษาได้เลือกออกแบบเรียนเพื่อพัฒนาในสิ่งที่ยังขาดได้”นพ.อนวัช กล่าว

นพ.อนวัช กล่าวต่อว่า หลักสูตรนี้เริ่มเปิดรับนักศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยจะรับนักศึกษาเข้าเรียนทั้งหมด 40 คน และคาดว่าในอนาคตจะมีการขยายจำนวนนักศึกษาเพิ่มเติม โดยกลุ่มเป้าหมายที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการจะพัฒนาคือนักเรียนที่มีศักยภาพและมองเห็นว่าเมื่อจบการศึกษาออกมา งานที่ทำสามารถมอบคุณค่าให้กับสังคมได้ โดยมช.ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่จะเข้ามาเรียนสายนี้จะต้องจบสายไหนเป็นพิเศษหากมีความสนใจและคุณสมบัติเบื้องต้นตรงสามารถสมัครเข้าเรียนได้ทันที่ผ่านระบบการสมัคร IPAS โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cmu.to/STB-IPAS

“ในตอนนี้หลักสูตรได้รับความสนใจจากนักศึกษาต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่มช.อยากให้นักศึกษาไทยที่สนใจในเรื่องของความยั่งยืนได้เข้าเรียนเพื่อจะได้พัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถขึ้นมาพัฒนาประเทศ ซึ่งสาเหตุที่เด็กไทยยังให้ความสนใจน้อยเนื่องจากอย่างที่ได้กล่าวไปว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรแรกในเอเชีย ทั้งนี้หลักสูตรนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดในการเตรียมพร้อมบัณฑิตของมช. ออกไปพัฒนาสังคม เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติต่อไป หรือที่เรียกว่า CMU DNA ต่อมาได้มีการหารือและต่อยอดกลายเป็นหลักสูตรดังกล่าวขึ้นมา”นพ.อนวัช กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.