เงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค ตลาดรอลุ้น CPI สหรัฐคืนนี้
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 มกราคม 2568 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/1) ที่ระดับ 34.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/1) ที่ระดับ 34.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยคืนที่ผ่านมา (14/1) กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนี PPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% หลังจากปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือน พ.ย. ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือน พ.ย.
ขณะนี้นักลงทุนมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยดัชนี CPI ของสหรัฐในคืนนี้ (15/1) เพื่อประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 2.7% ในเดือน พ.ย. และคาดว่าดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานจะเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบรายปี ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน พ.ย.
ด้านปัจจัยภายในประเทศ วันนี้ (15/1) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดถึงการตั้งเป้าหมายของรัฐบาล ที่ต้องการจะผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ให้ขยายตัวได้ 4%
ส่วนปี 2569 เพิ่มขึ้นเป็น 5% ว่ารัฐบาลตั้งเป้าหมายชัดเจนในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้เกิน 3% เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในปี 2569 สามารถขยายตัวได้ที่ระดับ 4-5% หากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ เห็นผลชัดเจนทั้งหมด ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.68-34.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.74/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/1) ที่ระดับ 1.0300/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/1) ที่ระดับ 1.0262/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
โดยวันนี้ (15/1) อามิลี เดอ มองต์ชาแลง รัฐมนตรีฝ่ายงบประมาณและบัญชีสาธารณะของฝรั่งเศส เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งเป้าควบคุมอัตราเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 1.4% มองต์ชาแลงให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ TFI ว่า รัฐบาลตั้งเป้าจะผลักดันให้ร่างงบปะมาณปี 2568 ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ได้ภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้
และสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานว่า เมื่อวันอังคาร (14/1) ฟรองซัวส์ บายรู นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ได้กล่าวปราศรัยต่อรัฐสภา ส่งสัญญาณพร้อมเจรจาปรับปรุงการปฏิรูประบบบำนาญที่ยังเป็นประเด็นขัดแย้ง เพื่อโน้มน้าวให้ สส.ฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นเสียงสำคัญสนับสนุนร่างงบประมาณปี 2568 สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของฝรั่งเศส ข้อมูลเบื้องต้นจากสำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส (INSEE) ระบุว่า อยู่ที่ 1.3% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทรงตัวจากระดับเดือน พ.ย.พร้อมวางแผนปรับลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐในปี 2568 ลง 3 หมื่นล้าน ถึง 3.2 หมื่นล้านยูโร
ทั้งนี้ ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.0288-1.0316 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0300/01 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/1) ที่ระดับ 157.92/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/1) ที่ระดับ 157.94/98 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ วันนี้ (15/01) นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวว่า BOJ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับระดับการสนับสนุนทางการเงิน หากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุเอดะกล่าวในการประชุมของ BOJ ระดับภูมิภาคซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐชุดใหม่ และแรงผลักดันในการเจรจาด้านค่าจ้างในญี่ปุ่นในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจกำหนดเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
โดยอุเอดะกล่าวว่า มีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มค่าจ้าง และมีการหารือกันว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ในการประชุมนโยบายสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 156.73-158.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 156.88/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ในสัปดาห์นี้ของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ (15/01), ยอดค้าปลีกของสหรัฐ (16/01), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (16/01), ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือน ม.ค. (16/01), ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐ (16/01), และตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านของสหรัฐ (17/01)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -6.65/-6.5 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.65/-2.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ