เมื่อวันที่ 15 มกราคม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงแนวทางการจัดการปัญหาการพรีโหลดแอปพลิเคชันมากับโทรศัพท์มือถือ โดยระบุว่า กระทรวงดีอีได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) และสำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ศึกษาแนวทางการออกกฎระเบียบเพื่อดูแลเรื่องนี้ ทั้งนี้ การศึกษาและกำหนดมาตรการจะประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายประเสริฐจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังเดินทางกลับจากการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (World Economic Forum) ที่สวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค.68
“กรณีที่เกิดขึ้นกับ 2 แบรนด์มือถือ OPPO และ Realme อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ.คอมพ์) และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงอาจละเมิดกฎหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เนื่องจากยังไม่ได้รับใบอนุญาตในการให้บริการสินเชื่อดิจิทัล คาดว่าช่วงปลายเดือน ม.ค.68 จะมีความคืบหน้าในมาตรการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว” นายประเสริฐ กล่าว
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เชื่อว่า การกำกับดูแลแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดลงในโทรศัพท์มือถือสามารถดำเนินการได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีปัญหาของ 2 แบรนด์มือถือที่ผ่านมา ขณะนี้ กระทรวงดีอีกำลังศึกษาแนวทางว่า จะดำเนินการควบคุมผ่านการออกกฎหมายใหม่ หรือการแก้ไขกฎหมายเดิมที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัด เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) หรือไม่ นอกจากนี้ อาจมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งมีบทบาทในการตรวจสอบความปลอดภัยของโทรศัพท์มือถือในด้านคลื่นความถี่ และผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้ก่อนนำออกจำหน่ายในประเทศไทย
“กระทรวงดีอี ตั้งเป้าดำเนินมาตรการดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ภายในไตรมาสแรก หรือไตรมาสที่ 2 ของปีนี้” นายวิศิษฏ์ กล่าว