รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผย เรียกทุกแบรนด์มือถือหารือด่วน ที่กระทรวงดีอีฯ วันจันทร์นี้ เรื่องมาตรการคุมการลงแอปฯ ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ด้าน ผอ. ETDA ชี้ ระบบปฏิบัติการ (OS) เป็นเหมือนแพลตฟอร์มอีมาเก็ตเพลส หากมีหลักเกณฑ์คุมแอปไม่มีคุณภาพสามารถเอาผิดได้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เรื่องการติดตั้งแอปพลิเคชันเงินกู้มากับโทรศัพท์มือถือของแบรนด์ OPPO และ realme เป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่ใช่แค่กับสองแบรนด์นี้ แต่ผู้ผลิตและจำหน่ายทุกรายก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
ในเบื้องต้นเรื่องนี้เกี่ยวข้องสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ซึ่งได้มอบหมายให้เชิญตัวแทนผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายมือถือทุกแบรนด์มาหารือร่วมกันถึงมาตรการด้านการคุ้มครองข้อมูล ในวันจันทร์ที่ 21 ม.ค. นี้ ที่กระทรวงดีอี
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการกำกับดูแลซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งมากับระบบปฎิบัติการนั้น ยังไม่เคยมีการออกมาตรการมาก่อน และทางกระทรวงกำลังศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้ที่ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ต้องขออนุญาตรัฐก่อนติดตั้งแอปในมือถือ
ด้าน ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความเป็นไปได้ในการกำกับดูแลระบบปฏิบัติการมือถือด้วยว่า หากเทียบเคียงการกำกับดูแลทางกฎหมายที่ใกล้เคียงกัน คือตามกฎหมายแพลตฟอร์ม (พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565) อาจมองได้ว่า ระบบปฏิบัติการมือถือ หรือ OS ของผู้ผลิตทุกแบรนด์ มีลักษณะคล้ายอีมาร์เก็ตเพลส เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า หรือ TEMU เพราะเป็นที่ซึ่งเจ้าของมาร์เก็ตเพลส ผู้ซื้อ และผู้ขายมาเจอกัน
หากมีผู้ขาย นำสินค้าไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมมาวางขายบนแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส ตัวแพลตฟอร์มมีหน้าที่ต้องตรวจสอบและปิดกั้นก่อน หากไม่ทำก็มีความผิดทางกฎหมาย
ดังนั้นหากแบรนด์มือถือปล่อยให้มีแอปของบุคคลที่สามที่เป็นอันตรายไม่ได้มาตรฐาน โดยที่ตนไม่ได้ตรวจสอบไม่ได้ปิดกั้น มาติดตั้งบนระบบปฏิบัติการของตน ก็ถือว่าทางผู้ผลิตมือถือมีความผิดได้เช่นกัน
แต่ทั้งนี้เป็นเพียงการตีความตามลักษณะที่ปรากฎในเบื้องต้นเท่านั้น ต้องมีมาตรการและหลักเกณฑ์เรื่องซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องอีกหลายอย่างก่อน
เช่นในกรณีสินค้าบนอีมาร์เก็ตเพลส มีทั้งมาตรฐานอุตสาหกรรม มาตรฐานอาหารและยา และอื่นๆ เป็นหลักเกณฑ์ หากไม่ทำตามจึงมีความผิด ฝั่งซอฟต์แวร์บนมือถือก็ต้องมีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ให้ผู้ผลิตตกลงร่วมกันและทำตาม ใครไม่ทำจึงผิด