“รมต.น้ำ” เปิดปีใหม่ “ลาหู่นานาชาติ” ยัน รัฐบาลให้ความสำคัญพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม หนุนต้นทุน วัฒนธรรม ต่อยอด ซอฟต์ พาวเวอร์ พัฒนาศก. สร้างงาน สร้างรายได้
18 ม.ค. 68 – ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS จ.เชียงราย “รมต.น้ำ” น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่ลาหู่นานาชาติ ครั้งที่ 2
โดยมี นายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าฯเชียงราย นายวุฒิพงษ์ สวรรค์โชติ นายกสมาคมลาหู่นานาชาติ คณะผู้บริหารสมาคมลาหู่นานาชาติ หัวหน้าส่วนราชการและพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่จากทั้ง 7 ประเทศ เมียนมา ลาว เวียดนาม จีน ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา และไทย ร่วมงาน
โดยงานสืบสานศิลปวัฒนธรรมประเพณีปีใหม่ลาหู่นานาชาติ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติพันธุ์ลาหู่ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ในการรักษา และส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลัง
โดยในพิธีมีกิจกรรมของชาวลาหู่ที่หาชมได้ยาก เช่น การเดินขบวนพาเหรดพี่น้องชาติพันธุ์ลาหู่ พิธีรดน้ำดำหัว ชุดการแสดง การเต้นรำแบบชนเผ่าลาหู่ การสาธิตวิถีชีวิตของชาวลาหู่ การสาธิตกีฬาพื้นบ้าน รวมถึงการแสดงคอนเสิร์ตนานาชาติ
น.ส.จิราพร กล่าวว่า รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค จึงมีนโยบายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ถือเป็นนโยบายสำคัญ
โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2567 เห็นชอบหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร ให้กับบุคคล 4 กลุ่ม รวมจำนวน 483,626 คน ให้ได้รับสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ถาวร หรือสัญชาติไทย ส่งผลให้การแก้ปัญหาเรื่องสัญชาติดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลได้ผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ (ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์) อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หากกฎหมายแล้วเสร็จ จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองให้เข้าถึงสิทธิอย่างเสมอภาค
อีกทั้ง ยังได้ส่งเสริมศักยภาพของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ให้นำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดเป็น Soft Power เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี