หมอเฉ่ง “งานวิจัยสุดบ้า”จับคนมาทดลองสูดควันพิษ งง ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการจริยธรรมได้ยังไง
กรณีมีการนำเสนอข่าว การทำวิจัย ของนักวิจัยผู้หนึ่ง ทำงานวิจัยอันตรายของ PM2.5 โดย จับผู้เข้าร่วมวิจัย ออกกำลังกายที่สภาวะฝุ่นต่ำ 21 วัน ต่อด้วย พักผ่อนอีก 21 วันระหว่างกลาง และไปเผชิญสภาวะฝุ่นสูง อีก 21 วัน มีการวัดค่าปอดและเลือด วันที่หนึ่งและวันที่ 21 แรก และวัดซ้ำ ในวันที่หนึ่งและ 21 หลังในสภาวะที่ต่างกันของฝุ่น ทั้งนี้ การ จับคนมาวิ่งในสภาวะฝุ่นขึ้นสูง เป็นที่ทราบกันอยู่ว่า PM2.5 เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกายอย่างมาก ทั้งหายใจที่ลำบาก, มีอาการเจ็บคอ, ภาวะเลือดออกทางจมูก หรือจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อทางเดินระบบหายใจ เมื่อเผชิญกับสภาวะ PM ที่มีค่าสูง (102.33ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร) ระดับเม็ดเลือดขาวมีการเพิ่มขึ้นถึง 1.39 ไมโครลิตร “อย่างไรก็ตาม” สภาวะฝุ่น PM ที่ 83.44 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเม็ดเลือดขาวของผู้ทดสอบมีการเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 0.92 ไมโครลิตร
ซึ่งการเพิ่มขึ้นของเม็ดเลือดขาวย่อมหมายถึง การที่ร่างกายมีการอักเสบและติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทำให้เม็ดเลือดขาวต้องทำงานหนักในการเป็นภูมิคุ้มกันร่างกาย เพื่อตอบสนองต่อการอักเสบและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากฝุ่นละออง โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจและระบบหมุนเวียนเลือด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ฆนัท ครุธกูล อายุแพทย์โรคหัวใจ นายกสมาคมโภชนาการเพื่อกีฬาและสุขภาพ กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นนี้ว่า หลักการของการพิจารณาจริยธรรมในการศึกษาทางคลินิกมีความสำคัญเพื่อให้มั่นใจว่า การวิจัยทางคลินิกจะไม่กระทบต่อความปลอดภัยและสิทธิของผู้เข้าร่วมการศึกษา โดยปกติแล้วจะอาศัยหลักการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น หลักการจากคำแนะนำของ องค์การอนามัยโลก (WHO) และ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ในการพิจารณาจริยธรรมในการศึกษาทางคลินิก โดยหลักการที่สำคัญคือ 1. ความเคารพในความเป็นมนุษย์ (Respect for Persons) ผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องได้รับการเคารพและปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและชัดเจนในการตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัย (Informed Consent) และไม่ถูกบังคับหรือถูกหลอกลวงในการเข้าร่วมวิจัย ผู้เข้าร่วมต้องมีสิทธิในการตัดสินใจและสามารถถอนตัวจากการวิจัยได้โดยไม่ถูกลงโทษ
2. การทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและความเสี่ยงต่ำที่สุด (Beneficence and Non-maleficence) การวิจัยควรมีการออกแบบให้สามารถสร้างประโยชน์ที่สูงสุดให้กับสาธารณชนหรือกลุ่มเป้าหมาย และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมการวิจัย ผู้เข้าร่วมไม่ควรได้รับอันตรายจากการวิจัย และการทดลองควรจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมในทุกขั้นตอน 3. ความยุติธรรม (Justice) ผู้เข้าร่วมการวิจัยควรได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่น การเลือกกลุ่มตัวอย่างควรเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการวิจัย ควรให้โอกาสในทางการวิจัยแก่กลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือกลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเพียงพอ
4. การประเมินความเสี่ยงและผลประโยชน์ (Risk-Benefit Assessment) การประเมินความเสี่ยงและผลประโยชน์เป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาจริยธรรม โดยต้องมีการคำนึงถึงการลดความเสี่ยงในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้ผลลัพธ์จากการวิจัยเป็นไปในทางที่ดีที่สุด ผลประโยชน์จากการวิจัยต้องสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนและมีผลประโยชน์ที่แท้จริงสำหรับผู้เข้าร่วม 5. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Confidentiality) ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้าร่วมการวิจัยต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเคร่งครัด การเปิดเผยข้อมูลจะต้องได้รับการอนุญาตจากผู้เข้าร่วม และข้อมูลที่ได้จะต้องถูกจัดเก็บและใช้ตามข้อกำหนดทางกฎหมายและจริยธรรม
6. การอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรม (Ethics Committee Approval) • การวิจัยทางคลินิกต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการ เพื่อตรวจสอบว่าโครงการวิจัยนั้นๆ เป็นไปตามหลักจริยธรรมและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วม
หลักการเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นในการคุ้มครองสิทธิและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการวิจัย รวมถึงการให้ความมั่นใจว่าผลการวิจัยจะมีประโยชน์ต่อสาธารณชน และเป็นไปตามมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล
นพ.ฆนัท กล่าวว่า รู้สึกตกใจที่เห็นงานวิจัยรูปแบบนี้ปรากฏออกมา เพราะ การทดลองนี้มีการละเลยความปลอดภัยและสุขภาพของผู้เข้าร่วม อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้เข้าร่วม และจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการคุ้มครองสุขภาพของพวกเขา คณะกรรมการจริยธรรมควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนอนุมัติการวิจัยที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ แม้ว่าผลการวิจัยจะมีคุณค่า แต่ความเสี่ยงที่ผู้เข้าร่วมต้องเผชิญไม่สามารถยอมรับได้ การวิจัยที่ปลอดภัยและมีจริยธรรมควรมีการพิจารณาผลกระทบจากการทดลองต่อผู้เข้าร่วมอย่างละเอียด แนะนำให้กระบวนการวิจัยทุกขั้นตอนต้องคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมอย่างจริงจัง
นพ.ฆนัท กล่าวว่า ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีอากาศปิด ในพื้นที่เมืองที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นก๊าซพิษหลายชนิด ทั้ง คาร์บอนมอนน็อกไซด์ คาร์บอนไอออกไซด์ ฝุ่นขนาดเล็ก ตั้งแต่ พีเอ็ม10 และพีเอ็ม2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นพิษเล็กจิ๋วที่สามารถทะลุทะลวง อวัยยวะต่างๆในร่างกาย ทั้งแต่ หลอดลม ปอด และระบบเลือกได้ จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงที่ต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะกิจกรรมที่จ้องสูดเอาอากาศเข้าไปในร่างกายมากกว่าปกติ เช่นยกการ วิ่งออกกำลังกายกลางแจ้ง
“เมื่อมีการแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราควรหยุดกิจกรรมการวิ่งกลางแจ้งทันที ไม่ว่าในสนามกีฬา หรือ โดยเฉพาะอย่างอย่างยิ่ง การวิ่งข้างถนน อันตรายมาก การวิ่งออกกำลังกายข้างถนนหรือในพื้นที่ที่มีฝุ่นกลางแจ้ง เสี่ยงต่อการสูดดมมลพิษ: การวิ่งใกล้ถนนอาจทำให้สูดดมควันจากรถยนต์และมลพิษทางอากาศ ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว การสัมผัสฝุ่นละออง: ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการอักเสบและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคปอดเรื้อรังหรือโรคหัวใจ”นพ.ฆนัท กล่าว
นพ.ฆนัท กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการจราจร เพิ่มความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกรถชน หรือการสะดุดล้มบนพื้นถนนที่ไม่เรียบ ผลกระทบต่อข้อเข่าและข้อต่อ: การวิ่งบนพื้นผิวที่แข็ง เช่น คอนกรีตหรือแอสฟัลต์ อาจทำให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อได้รับแรงกระแทกมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บหรือปวดข้อในระยะยาว อุณหภูมิและสภาพอากาศ การวิ่งกลางแจ้งในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การเกิดภาวะฮีทสโตรก หรือการเป็นไข้หวัด