ผู้เขียน | นฤตย์ เสกธีระ |
---|
แท็งก์ความคิด : อ่านอย่างเท่าทัน
หากจำกันได้เมื่อปีที่แล้วเครือมติชนจัดโครงการส่งเสริมการอ่านหนังสือพิมพ์ขึ้นมา
ใช้ชื่อโครงการ “โรงพยาบาลอ่านสร้างสุข” มีเป้าหมายนำหนังสือพิมพ์ไปให้ผู้ใช้บริการสถานพยาบาลได้อ่านหนังสือพิมพ์
เพราะปัจจุบันหาหนังสือพิมพ์ยาก เนื่องจากแผงการจัดจำหน่ายน้อยลง
แต่อย่างน้อยหากใครที่คิดอยากหาหนังสืออ่าน แวะเวียนไปยังโรงพยาบาลเป้าหมายก็จะสามารถอ่านข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ได้
ดั่งที่เคยบอกมาหลายครั้งว่าหนังสือพิมพ์มีข้อดีหลายจุด
จุดหนึ่งคือเป็นสื่อที่สรุปเหตุการณ์ข่าวสารของเมื่อวานได้ดีที่สุด
หนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับนำเสนอข่าวสารครบถ้วน ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
จัดลำดับความสำคัญข่าวด้วยพื้นที่หน้าที่ 1 และพื้นที่หน้าใน
บ่งบอกความสำคัญของข่าวด้วยขนาดการพาดหัว พาดหัวใหญ่ สำคัญมาก พาดหัวเล็ก สำคัญรองลงมา
แถมการอ่านข่าว 1 ข่าวคือการสรุปประเด็นที่สำคัญเอาไว้ให้อย่างสั้น กระชับ ได้ใจความ
ยิ่งไปกว่านั้น หนังสือพิมพ์ยังนำเสนอข่าว 2 ด้าน ทำให้ผู้อ่านได้ข้อมูลข่าวสาร 2 ทาง
หนังสือพิมพ์ซึ่งมีอายุอยู่บนโลกใบนี้มายาวนาน ผ่านการพัฒนามาหลายยุค จึงเป็นสื่อที่มีความลงตัว
เพียงแต่ในห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา พฤติกรรมการอ่านของคนในโลกเปลี่ยนแปลงไป
จากนิยมการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เปลี่ยนไปนิยมการอ่านสื่อออนไลน์
แต่ก็ใช่ว่าหนังสือพิมพ์จะลดทอนความสำคัญในการนำเสนอข่าว
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มูลนิธิสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้จัดโครงการส่งเสริมการอ่าน
ใช้ชื่อ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์”
โครงการนี้เคยมีมาก่อน แต่แล้วก็สะดุดหยุดกึกไปพักใหญ่ แล้วปีนี้จึงหวนกลับมาจัดใหม่
ครั้งก่อนที่จัดโครงการนี้เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ยังเล็ก
เพิ่มความคุ้นเคย และสามารถเรียนรู้เท่าทันข่าวสารที่มีการนำเสนอ
ทั้งนี้ เพราะหนังสือพิมพ์มีจุดแข็ง คือ จับต้องได้ มีกองบรรณาธิการที่เข้มแข็ง มีการคัดกรองข่าวสารก่อนนำเสนอ
กระบวนการของกองบรรณาธิการช่วยป้องกันข่าวลวง ข่าวเท็จ หรือ Fake News
ปัจจุบัน การเสพข่าวสารแปรผันไปอยู่กับแท็บเล็ต และดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบตามมาหลายอย่าง
โดยเฉพาะข่าวลวง ข่าวเท็จ หรือ Fake News
การสร้างภูมิด้วยการเรียนรู้อย่างเท่าทันสื่อด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่วัยเด็กน่าจะช่วยได้
โครงการ “สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์” จึงเกิดขึ้น
ขณะนี้โครงการขับเคลื่อนถึงขั้นตอนการอบรมครู เพื่อทำความรู้จักองค์ประกอบของหนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์
เรียกว่าก่อนจะเท่าทันสื่อต้องรู้จักสื่อกันเสียก่อน
ครูที่เข้าโครงการมาจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
น่าสนใจตรงที่โครงการนี้กำหนดตัวชี้วัดว่า ต้องมีนักเรียนไม่น้อยกว่า 3,000 คนได้เรียนรู้กิจกรรมผ่านสื่อหนังสือพิมพ์
ปรากฏว่านับถึงขณะนี้มีนักเรียนอย่างน้อย 6,000 คน จะได้เรียนรู้กิจกรรมดังกล่าวผ่านสื่อหนังสือพิมพ์แล้ว
สำหรับสื่อที่เข้าร่วมโครงการมีหลายฉบับ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
หนังสือพิมพ์มติชนก็ร่วมโครงการกับเขาด้วย
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะครูในโครงการจึงมาเยี่ยมเยียนเครือมติชน
พอคนที่เห็นตรงกันเรื่องการส่งเสริมการอ่าน การสร้างภูมิให้เด็กและเยาวชน และรู้จักใช้ประโยชน์จากหนังสือพิมพ์ ทำให้คนทำหนังสือพิมพ์รู้สึกใจฟู
ยิ่งพลิกไปดูตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่ทางโครงการตั้งใจให้เกิดขึ้น ยิ่งรู้สึกดี
เพราะตัวชี้วัดเชิงคุณภาพได้พูดถึงการนำเอากิจกรรมการเรียนรู้สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ให้นักเรียนไปพัฒนาเป็นแผนการเรียนรู้
หรือแผนการสอนของคุณครูในโรงเรียนต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเป้าหมายให้นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ มีทักษะการอ่าน ทักษะการคิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณ คิดเชิงสร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อ เท่าทันข้อมูลปลอม ข่าวลวง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
และหากผลการผลักดันจากโครงการนี้สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้จริง
เราจะมีเครือข่ายความร่วมมือวิชาการวิชาชีพที่มีหน้าที่พัฒนาเด็กในการอ่าน
อ่านด้วยภูมิรู้ อ่านอย่างเท่าทัน
อ่านอย่างมีสติตรึกตรอง
นฤตย์ เสกธีระ