จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ มอง ‘อีสาน’ กระทำความ ‘แมส’ เบลอเส้นแบ่งศูนย์กลาง สถาปนาวัฒนธรรมไทบ้าน
GH News January 19, 2025 12:44 PM

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
มอง ‘อีสาน’ กระทำความ ‘แมส’
เบลอเส้นแบ่งศูนย์กลาง
สถาปนาวัฒนธรรมไทบ้าน

เป็นปรากฏการณ์ที่ทุบเส้นแบ่ง สะเทือนเทสต์คนภาคกลาง

ดูแค่วันขึ้นปีใหม่นี้ ดนตรีอีสานอินดี้ ถูกเปิดกันแทบจะทุกวงปาร์ตี้

เพราะไม่ใช่แค่ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ วงคอนเสิร์ตหมอลำหน้าฮ้าน ลูกอีสานจ๋าๆ ที่กลายเป็นฮิตในหมู่คนรุ่นใหม่

เพลง ‘จื่อบ่’ หรือ ‘สวยขยี้ใจ’ (พี่หลงรักเธอเข้าแล้วนะแม่ยอดยาหยี) ที่ดังติดหูไปทั่วฟ้าเมืองไทย ลามไปเพื่อนบ้าน

ทว่า ความเป็นอีสานยังค่อยๆ แผ่ซ่าน ‘ซึมลึก’ ขยายขอบเขตออกไป ผ่านการผลิตซ้ำคำว่า ไทบ้าน

ถ่างนิยามให้กว้างกว่าแค่ความเป็น ‘คนพื้นถิ่น’ เป็นคำใช้เรียกพวกพ้องเดียวกันก็ได้ เหมือนที่คนอีสานมักถามกันว่า ‘ไทบ้านได๋?’ คุณเป็นคนที่ไหน หรือจะเป็นเชิงเหยียดก็ได้ เช่น ‘วันนี้แต่งตัวไทบ้านจัง’

ที่แน่ๆ ไม่ว่าแง่ไหน ล้วนทำให้เห็นความอยู่ใน ‘กระแส’ ถูกเมนชั่นถึง

“คำว่า ‘ไทบ้าน’ มันมีพลวัต ลื่นไหลตามสภาพสังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงการเมือง วัฒนธรรมด้วย”

“มันกลายเป็นกระแสหลัก อย่างตลาดนัดในกรุงเทพฯ เปิดเพลงอีสานกันเยอะ มันกำหนดทิศทางการไปต่อของมหรสพชาวบ้าน ในภูมิทัศน์ทางเสียงของประเทศนี้เลย ก็ว่าได้”

เสียงสาวอีสาน อย่าง ‘แหวน’ จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ ที่เชื่อมั่นเต็มเปี่ยมในพาวเวอร์ของลูกข้าวเหนียว

เป็นนักวิชาการอิสระ อดีตนักเรียนมานุษยวิทยา ผู้หลงใหลในประเด็นทางสังคม-วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จนรู้ลึกด้านความสัมพันธ์ทางเสียงและภาพ ที่เชื่อมร้อยกับความคิดและพฤติกรรมของ ‘คน’ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่ถือกำเนิด

เปิดเพจ field-feel เล่าเรื่องราว เป็นมาแล้วทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการที่ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, หนึ่งในคณะทำงาน ‘โครงการพัฒนาทักษะการบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม’ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จากทุนหนุนสร้าง โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม

สวมแว่น นักมานุษยวิทยาดนตรี นั่งดีปทอล์กกับ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ นักวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ถึงประเด็นลึก ‘ไทบ้านอีสานกับวัฒนธรรมสมัยนิยม | Series Anthropology in Focus | เมื่อเร็วๆ นี้

หลังทุ่มศึกษา ซุ่มมองความเป็นอีสานผ่านหรสพ รถแห่ เห็นวัฒนธรรมย่อย (Subculture) ที่พยายาม ‘ดัน’ ตัวเองขึ้นมาจากชายขอบแบบเนียนๆ ไม่ตะโกน แต่กลับแมส ได้แสงแห่งความนิยม แบบล้นๆ

⦁ ตอนไหนอย่างไรกัน ที่ ‘ไทบ้าน’ ถูกหยิบขึ้นมาอธิบายในลักษณะ วัฒนธรรมร่วมสมัย (Pop Culture)?

ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นความหมายเชิงลบ ก็ ‘ถูกกดทับ’ มาหลายทศวรรษ มันมีความเปลี่ยนแปลง 10-20 ปีมาแล้ว เราเห็นกระแสการต่อรองทางสังคม เศรษฐกิจ รวมไปถึงการเมือง ที่มีมากขึ้นในชาวอีสาน เกิดการ ‘สถาปนาวัฒนธรรมไทบ้าน’ ขึ้นมาในกลุ่มของตัวเอง หลายคนผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสื่อ เลยมีการหยิบยกคำที่ตัวเองรู้สึกว่า ถูกกดทับ มาเป็นวัฒนธรรมแบบ ‘กระแสนิยม’

⦁ อย่างคนชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ให้ความหมาย ‘ไทบ้าน’ ต่างออกไปไหม?

อยู่ที่ระดับความสัมพันธ์ด้วย คำเรียกกลุ่มคนหรือภาษา มักผูกพ่วงกับการ ‘ต่อรอง’ โดยเฉพาะทางเศรษฐกิจและการเมือง เลยมีผลกับการมองและการใช้คำด้วย ถ้ากับผู้อาวุโส ก็จะมองเป็นคำเบสิก เพิ่งโทรคุยกับปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นข้าราชการเก่า ท่านก็อธิบายว่า ‘ไทบ้าน’ ก็คือชาวบ้านทั่วไปนั่นแหละ สามัญชนที่อยู่ในอีสาน แต่มายุคเราจะเห็นบริบทที่หลากหลาย เป็นคำหยอกล้อเพื่อนสนิทก็ได้ แต่ถ้าไปพูดกับคนไม่สนิทมาก ก็มีเรื่องได้ อยู่ที่ความสัมพันธ์ส่วนตัวด้วย

⦁ มีอีกคำที่เฉพาะกลุ่มขึ้นมาหน่อย คือ ‘วิจัยไทบ้าน’ เซนส์เดียวกัน?

ไม่มั่นใจว่าใช้หลากหลายหรือเปล่า ถ้าเห็นจริงจังก็อย่างงานของ อ.พัฒนา กิติอาษา ที่เขียนบทความวิจัยเรื่องไทบ้าน แกใช้คำว่า ‘ภาษางานวิจัยไผก็เฮ็ดได้ ‘ (งานวิจัยใครๆ ก็ทำได้) ไม่ได้หมายถึงว่ามันง่ายขนาดนั้น แต่ในเซนส์ของ อ.พัฒนา มองว่าช่วงทศวรรษ 2540 กระแสวิพากษ์สังคมในหมู่นักวิชาการ นักพัฒนา หรือสื่อ ที่เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านและทรัพยากรในอีสาน มากในช่วงเวลาดังกล่าว ก็พยายามจะชวนชาวบ้านมาทำงานวิชาการ ด้วยจุดแข็งของ ‘ไทบ้าน’ อย่างแรกเลยคือ เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย วิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง แต่ที่ขาดคือ ‘ระเบียบวิธี’ ถึงจะเชื่อถือได้

⦁ ถ้าจำไม่ผิด คำนี้ชัดขึ้นในช่วงที่มี ‘กรณีเขื่อนปากมูล’ ที่มีการวิจัยเรื่องการสร้างเขื่อน โดยนักวิชาการ-องค์กรรัฐ ซึ่งชาวบ้านรู้สึกว่าเข้าข้างรัฐเกินไป นำมาสู่ การที่คนธรรมดาพยายามทำงานวิชาการตอบโต้ ซึ่งคุณแหวนเคยไปพูดที่ ‘มหา’ลัยไทบ้าน’ ด้วย?

จริงๆ ในท้องถิ่นก็เริ่มหยิบยกคำนี้มาใช้ เราเคยได้ทำวิดีโอตอนหนึ่งร่วมกับ วารสารเมืองโบราณ ไปที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตามรอยการขุดค้นทางโบราณคดี ของ ชาร์ล ไฮแอม ใช้ชื่อตอนว่า ‘โบราณคดีไทบ้าน’ ด้วย ทำให้รู้สึกเหมือนพยายามหาตรงกลางระหว่างความเป็นวิชาการที่เคร่งตึง กับความถ่ายทอดง่ายๆ แบบไทบ้าน

อย่าง ‘มหา’ลัยไทบ้าน’ ก็ได้ถามหลักการกับ ‘ครูสอยอ’ (สัญญา มัครินทร์) อดีตครู ที่ผันตัวออกมาทำกิจกรรมทางสังคมที่บ้านตัวเอง เขาก็อธิบายว่า เริ่มต้นจากการท่องเที่ยวชุมชนก่อน แล้วก็เริ่มไปสัมพันธ์กับองค์กร-หน่วยงานต่างๆ แต่ด้วยความเป็นครู อยากจะสร้างองค์ความรู้ที่มันใหม่และสร้างสรรค์ ใช้คำว่าโรงเรียนก็จะดูเล็กไป อยากจะแตะกับสังคมที่ใหญ่กว่า ใช้ ‘มหาวิทยาลัย’ ก็อาจจะดูภาพใหญ่ขึ้น อีกอันคือ โปรเจ็กต์เว็บไซต์ชุมชน ที่ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น เราเห็นความพยายามใช้เทคโนโลยีกับการพัฒนาชุมชน โดยใช้คำว่าไทบ้าน ซึ่งค่อนข้างจะหลากหลาย

⦁ ถ้า ‘ไท’ แปลว่าอิสระ อิสระจากอะไร จากกรุงเทพฯ ไหม ในแง่วิธีคิดศูนย์กลางอำนาจ?

(หัวเราะ) มันคืออิสระในการตัดสินใจ ใช้ชีวิต กำหนดทิศทาง อาจจะถูกครอบด้วยทุนทางสังคม แต่อย่างน้อยก็อิสระจากกรอบที่หนาเกินไปเช่น ระบบ ระเบียบราชการที่มีปัญหา

จากมุมมองของ ศ.ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์ ในช่วง 2500 ต้นๆ จะมีคำที่เราชอบใช้เล่นๆ คือ “cosmopolitan villagers” แปลตรงๆ ว่า ‘ไทบ้านผู้รอบรู้’ ไทบ้านคือคำว่า villagers นั่นแหละ เป็น ‘ไทบ้านที่สากล ที่รอบรู้ ที่เชื่อมกับโลกภายนอก’ ซึ่ง อ.คายส์มองว่าในช่วงแรกคนอีสานเข้าไปกรุงเทพฯ ในลักษณะ ‘แรงงานชั่วคราว’ รับจ้างเล็กๆ น้อย ถึงหน้านา ก็กลับมาทำนาต่อ ด้วยค่าแรงที่ถูก ด้วยงานที่ไม่ได้เป็นสกิลที่ต้องการมานัก เลยรู้สึก ถูกดูแคลน ซึ่งมันผูกพ่วงไปกับการดูแคลนในเชิงวัฒนธรรมด้วย แรงงานกลุ่มนี้ก็เลยต้องพยายามหาพื้นที่ทางสังคม จนเกิดเป็น ‘วัฒนธรรมย่อย’ ที่ปรากฏขึ้นในกรุงเทพฯ เช่น ร้านอาหารต่างๆ ลาบอุบล ลาบอุดร

เคยมีคนสงสัยว่า สูตรลาบยโส กับลาบอุบล ต่างกันยังไง เถียงกันเรื่องนี้กันอยู่พักนึง (หัวเราะ) เราเลยบอกว่า ไม่ได้มีสูตรเฉพาะ มันคือที่มาของเจ้าของร้านที่พยายามจะสร้างบางอย่าง (ยิ้ม) สำหรับเรา มันคือ ‘พื้นที่ทางสังคมหนึ่ง’ ที่ทำให้คนไปรวมตัวกัน คือชื่อ ‘ลาบสารคาม’ เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าจะรสมือเหมือนกันทุกร้าน มันแสดงออกในรูปของวัฒนธรรมย่อย ในลักษณะต่อรองเมืองใหญ่ เหมือนกับงานที่เคยได้อ่าน ของ Dick Hebdige ที่มีการศึกษา การต่อต้านวัฒนธรรมกระฎุมพี ของวัยรุ่นอังกฤษ ก็ใช้วิธีแบบนี้เลย ใช้การบริโภคในชีวิตประจำวัน ผ่านดนตรี กีฬา ศิลปะ ทำให้เห็นว่า‘วัฒนธรรมย่อย’ ถือเป็นระบบการสื่อสารอย่างหนึ่งเหมือนกัน มันนำไปสู่ ‘การต่อสู้ทางวัฒนธรรม’ และสร้าง ‘ผลผลิต’ ใหม่ในตัวของมันเอง

ต่อเนื่องมาก็เห็นในงานของ อ.พัฒนา ที่นำเสนอมุม ‘ดนตรีกับแรงงานอีสาน’ ที่นำอารมณ์ทางวัฒธรรมมาใช้ในดนตรี เพื่อเป็นสื่อประกาศจุดยืนทางอัตลักษณ์ ความเป็นตัวเอง อย่าง ‘แข็งขันและต่อเนื่อง’

⦁ โยงกับแนวคิดที่ อ.พัฒนา พยายามเสนอเรื่อง ‘อีสานอนิจลักษณ์’ (Isan becoming) ที่มองว่า อีสานไม่หยุดนิ่ง ปัจจัยคือ บริบทการเมือง ความปรารถนาภายในและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งในมุมของ อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร ก็เคยพูดถึงว่า อีสานมีจุดแข็งคือ ‘การปรับตัว’ ตามความเป็นสมัยใหม่ในกรุงเทพฯ ผสมกับความเป็นท้องถิ่น ทำให้ส่วนตัวคิดว่าความเป็นไทบ้านนั้น เป็น ‘ป๊อปคัลเจอร์’ ที่มาจากกระบวนการ ‘อีสานอนิจลักษณ์’ ซึ่งเข้าไปปรับทิศทาง จากเดิมถูกทำให้เป็นบ้านนอก มาวันนี้กลับทิศ ทำให้กรุงเทพฯถูกเบลอ ‘ความเป็นศูนย์กลาง’ ลง (Provincialize) และโต้กลับอยู่ตลอดเวลา?

เราก็คิดอย่างนี้ ส่วนตัวก็เป็นผลผลิตของการเปลี่ยนแปลงลักษณะแบบนี้แหละ คือเราก็เข้านอก-ออกใน ‘สนาม’ สนามที่หมายถึงบ้านของตัวเอง ก่อนหน้านี้ที่ว่า นักมานุษยวิทยาต้องออกไปศึกษาคนอื่น ทีนี้กลายเป็นว่า เฮ้ย! เราสิต้องกลับไปศึกษาตัวเอง เพราะพอเราเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นส่วนกลางมากขึ้น เราไม่ได้เข้าใจรากตัวเอง

ต้องกลับไปสนใจรากของตัวเอง ที่ไม่เคยรู้จักมันจริงๆ

⦁ ‘ร้านลาบ’ กลายเป็นที่รวมตัว แล้วการย้ายถิ่นนั้น มีปัจจัยอะไรนำพา?

ที่เราโฟกัส คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ปฏิเสธบทบาทและอิทธิพลตรงนี้ไม่ได้เลยว่า เป็นช่วงที่รัฐบาลทั้งไทยและอเมริกา เข้ามาพัฒนาอีสานค่อนข้างจะเยอะ อย่างน้อยที่สุดคือ ระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน ขนส่งสาธารณะ เป็นอิทธิพลที่ทำให้คนอีสานเข้ากรุงเทพฯ เพราะเข้าได้ง่ายขึ้นแล้ว

ในขณะเดียวกัน การพัฒนาต่างๆ ก็จะชอบมีคนใช้คำว่า ‘พัฒนาอยู่ แต่ไม่คัก’ คือมันถูกพัฒนานะ แต่ยังไม่สุด เรายังไม่สามารถเติบโตด้วยทรัพยากรที่เรามีในท้องถิ่นได้ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มันเหมือนผลักให้ ‘ลูกอีสาน’ ต้องออกมาข้างนอก จะมีวาทกรรมนึง ที่เราเองก็ชอบใช้บ่อยๆ แล้วก็ยังเป็นตลกร้าย ที่หยอกล้อกันบ่อยๆ คือ ‘สู้เขา บ้านเฮามันแล้ง’ (หัวเราะ) แล้งในที่นี้ ไม่แล้งแค่น้ำ มันแล้งโอกาสด้วยหรือเปล่า

แล้งส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เราต้องออกมาใช้ชีวิตข้างนอก เพื่อท้ายที่สุด ‘จะต้องได้กลับบ้าน’ มันจะมีความแบบนี้อยู่ในเนื้อในตัวลูกอีสาน

⦁ ช่วงเวลาไหน ที่เกิดการแผ่ขยายทางวัฒนธรรมไทบ้าน จากอีสานเข้าสู่ภาคกลาง?

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพการโยกย้ายแรงงานค่อนข้างชัด และอีกงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องลูกทุ่งอีสาน เขียนถึงความเป็น ป๊อปคัลเจอร์ของอีสานในยุคหนึ่ง ทำให้เห็นพลวัต เส้นทางการเดินทางของกลุ่มผู้บริโภค แฟนคลับ ที่มาเป็นแรงงาน และเป็นกำลังสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนทิศทางของลูกทุ่งไทยเลยนะ ซึ่งยังเปลี่ยนแปลงเรื่อยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 จนมาถึงราว 2540 ที่ก่อนหน้านี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นชายขอบ พอมีกำลัง กำลังทรัพย์ กำลังคน มีฐานแฟนคลับลูกทุ่งเอย หมอลำเอย เลยกลายมาเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมกระแสหลักไปแล้ว ทำให้เห็นว่ามัน Empower คนอีสาน

แม้จะเป็นคนตัวเล็กๆ แต่มีจำนวนมาก

⦁ เพลงอีสาน บอกอะไรได้บ้าง?

หูยยย บอกได้เยอะ (หัวเราะ) อันนี้ก็อาจจะไบแอสนิดนึง ในฐานะคนที่ศึกษาเพลงและเสียง ก็เห็นว่าเราจะหาความจริงแท้ดั้งเดิมของเพลงอีสานไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าอะไรคือออริจินัล ไม่ใช่แค่อีสานหรอก มันก็คือวัฒนธรรมทั่วไปของคนสามัญชนนั่นแหละ ที่ไม่สามารถฟิกซ์ได้ วัฒนธรรมการบริโภคของผู้คนทั่วไปมันแตกต่างจากความเป็นราชสำนัก ที่ถูกทำให้คลาสสิก ที่ต้องหยุดนิ่ง แต่เพลงของชาวบ้านมันไม่ใช่ มันต้อง ‘ปรับตัวเข้าหา’ กลุ่มเป้าหมาย ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาใหม่อยู่ตลอดเวลา

จำนวนผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มแรงงานผลัดถิ่น เกิดการรวมกลุ่ม ทั้งผ่านวัฒนธรรมที่เรียก ‘หน้าฮ้าน’ นำไปสู่การสถาปนาวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มแรงงาน จนมีอิทธิพลมากพอจะกำหนดทิศทางของ ‘มหรสพ’ โดยเฉพาะลูกทุ่งในไทย หลายค่ายใหญ่ ทำค่าย Sub ขึ้นมา เพื่อตอบสนองกลุ่มแรงงานผลัดถิ่นโดยเฉพาะ ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของการเมือง วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ จากที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในสมัยทุนนิยม ก็เริ่มมีบทบาท แสดงออกผ่านวัฒนธรรมพวกนี้

อย่างเพลง ‘คักใจเจ้าแล้วบ่’ จริงๆ มีหลายเพลงที่ทำให้เห็นภาพหนุ่มอีสานสูญเสียหญิงอันเป็นที่รักจากการเดินทางไกลเพื่อแสวงหาหนทางเติบโต ในสายตาครูเพลงในช่วงนั้น การเดินทางทำให้พลัดพรากเพราะผู้หญิงไปเจอนายทุน รู้สึกถึงความเป็น Loser ไม่สามารถเลี้ยงผู้หญิง หรือต่อรองทางเศรษฐกิจได้ ‘กรุงเทพฯกลายเป็นตัวมาร’ ในการพลัดพรากความรัก เล่าภาพช่องว่างที่ต่างกันมาก เพลง ‘ช่างทองร้องไห้’ ที่แฟนไปเจอคนใหม่คือเถ้าแก่ของตัวเอง หรือสัมพันธ์กับทหารอเมริกันในยุคสงครามเย็น มันยังเห็นพล็อตแบบนี้อยู่ พอบริบทสังคมเปลี่ยนไป ก็เปลี่ยนวิธีการเล่า

⦁ ความแมสของวัฒนธรรมไทบ้านอีสาน แตกต่างจากวัฒนธรรมชนบท ในภาพจำของคนยังไง?

จุดร่วมมันคือ การเปลี่ยนแปลงที่พยายามโชว์ให้เห็น แต่ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งที่เราเห็นคือ ‘คนอีสานมักม่วน’ ก็ไม่แน่ใจว่า มุมของคนภาคอื่นๆ มองเข้ามาเป็นยังไง แต่คนอีสานพยายามพรีเซ็นต์อย่างนั้น ว่ารักสนุก ทุกข์ก็สนุก มี ‘เต้ยโศก’ ไหนจะหมอลำจังหวะแดนซ์ๆ แต่ถ้ามาลงในเนื้อหาจริงๆ บางเพลงมันสะท้อนชีวิต ความทุกข์ยากต่างๆ ด้วยซ้ำ

⦁ ความเป็นไทบ้าน มีการปรับให้เข้ากับคนที่ไม่ใช่อีสานไหม?

เราว่าวัฒนธรรมอีสานปรับตัวค่อนข้างเยอะ อย่างที่เราเห็น ‘ลาบเป็ด’ หรือวัฒนธรรมการกิน ‘ปลาร้า’ ปัจจุบันเราจะเห็นอีสานในกรุงเทพฯเยอะ และหลากหลายมาก บางอย่างในท้องถิ่นก็ไม่มีแบบนี้ เช่น บางร้านมีเมนูส้มตำเป็นร้อย อย่างเราไปกินข้าวกับเพื่อน แม่เป็นอีสาน พ่อจีน เพื่อนมันสั่ง ‘ตำเส้นเล็ก’ เหมือนก๋วยเตี๋ยวที่ใส่ปลาร้า

ในส่วน ‘มหรสพ’ เราได้เห็นงานวันลอยกระทง ที่วัดท่าพระ เคยมาเก็บข้อมูลเรื่องรถแห่ที่นี่ 5-6 ปีที่แล้ว คืออะไรใหม่ๆ มันมาเกิดที่กรุงเทพฯ ปีนี้ไม่มีรถแห่ กลายเป็นหมอลำคณะหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่เราเห็นในเวทีหมอลำ พยายามจะชูความเป็นไทย และร้องเพลง Made in Thailand ที่ผนวกความเป็นหมอลำเข้าไป มีการพูดถึง ‘นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล’ เออ! อันนี้มันก็คือการปรับตัวนึงของมหรสพไทย ไม่ต่างจาก ‘ตำกุ้ง ตำแซลมอน’ ศักยภาพสูงมากในการปรับตัว

⦁ อยากให้ยกตัวอย่าง Pop Culture ไทบ้านอีสานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะหนัง เพลง มหรสพ?

จากที่ทำงานมา เราได้เห็นว่า ‘ลูกทุ่งอีสาน’ มันเติบโตจริงจังมาตั้งแต่ช่วงต้น 2500 ช่วงพีคๆ ปี 2530 เห็นค่ายใหญ่ลงมาผลิตเป็นอุตสาหกรรมบันเทิง แต่กลุ่มเป้าหมายยังเป็นแรงงานพลัดถิ่น พอมาหลัง 2550 เกิดค่ายเล็กๆ ในชนบทอีสานค่อนข้างเยอะ ผลิตเพลงที่ไม่ใช่ ‘เพื่อชีวิต’ แต่สะท้อนความรักหนุ่มสาวทั่วไปด้วยซ้ำ ไม่ได้ตอกย้ำความต้อยต่ำอย่างเดียวแล้ว มีสายลมแสงแดดเหมือนสตริงทั่วไป แต่อัตลักษณ์จะสอดแทรกในมิติของเสียง ไม่ว่าจะภาษาพูด สำเนียงดนตรี อาจจะใส่แคน พิณ เข้าไป แต่สตรักเจอร์ยังร่วมสมัย เล่นคอร์ดง่ายๆ

เล่าชีวิตของวัยรุ่นอีสาน มันสะท้อนว่าคนยุคนี้เติบโตกับวัฒนธรรมดนตรีแบบไหน แต่ที่น่าสนใจคือ เฮ้ย! มันมีความเล่นกับรากวัฒนธรรมบางอย่าง หลายเพลงมากเล่นกับเรื่อง ‘ขวัญ’ โดยเฉพาะพิธีกรรมแต่งงาน จะได้เห็นจากหลายๆ MV ที่แมสเลยคือเพลงของ Palmy ที่มีวัฒนธรรม ‘ส่อนขวัญ’ โดยเฉพาะค่าย Serng MUSiC ที่เป็นรูปธรรมสุดใน 2 ทศวรรษนี้แล้ว ‘ขวัญ’ คือสปิริตที่คนอีสานให้ความสำคัญ เป็นชีวิตและจิตวิญญาณ ถ้าเสียขวัญไปมันยิ่งกว่าเสียใจ ต้องทำพิธี ‘ส่อนขวัญ’ ช้อนขวัญกลับมาอยู่ในเนื้อในตัว วัยรุ่นหนุ่มสาวเขาหยิบยกประเด็นพวกนี้มานำเสนอ Identity ตัวเองได้อย่างน่าสนใจ

อย่างหนัง เราได้เห็น ‘จักรวาลไทบ้าน’ ความจริงที่เกิดมาก่อนคือ 2 เรื่องนี้ ‘ผู้บ่าวไทบ้าน อีสานอินดี้’ ที่เริ่มมีกลิ่นบางอย่าง โปรดักชั่นที่เติบโตในหมู่นักเรียน นักศึกษาอีสานเอง พอมายุคนี้มันเป็นค่ายอุตสาหกรรมบันเทิงที่เติบโตมากในช่วงเวลาหนึ่งเลยด้วยซ้ำ

⦁ ในมุมส่วนตัว เรื่องทุนสำคัญในการ Dominate งานสร้างสรรค์เหล่านี้ ซึ่งเป็นทุนที่มาจากส่วนกลาง พอมาในยุคหลัง หรือว่าเขาทำเสิร์ฟกันเอง? แต่พอมันแมส ก็เริ่มดึงดูดทุนต่างๆ เข้ามา?

อย่าง มหรสพ รถแห่ ก็มีสติ๊กเกอร์อยู่ข้างรถ เป็นแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังที่ไม่ได้ท็อป 10 ในประเทศ แต่เป็นที่รู้จักในการบริโภคของตลาดอีกแบบ กลุ่มที่ฟังเพลงแนวนี้จะสนับสนุนรายปี/เดือน มีส่วนกำหนดทิศทางงานสร้างสรรค์ด้วย มันอาจจะต้องการกลุ่มตลาดแบบใหม่ ที่ผลิตโดยสายตาคนท้องถิ่น เพื่อตอบสนองคนท้องถิ่นเอง กลายเป็นกลุ่มก้อน การหารายได้หลากหลายขึ้น เลยสร้างตัวตนได้ง่ายขึ้น เช่น การเป็นยูทูบเบอร์ ค่ายเล็กๆ รับงานเองได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนจะดังได้ต้องมีนายห้าง ผู้สนับสนุนหลักที่ต้องปั้นกันจริงจัง แต่ทุกคนเป็นสื่อได้ มีสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ที่ผลิตสื่อได้ด้วยตัวเอง

เพลงไทบ้านทำกันง่ายๆ มีอุปกรณ์แค่ไม่กี่ชิ้น บางเพลงที่ผลิตให้ศิลปิน ยอดเป็นร้อยล้านวิว ก็มาจากห้องเล็กๆ โอกาสและช่องทางการเติบโตมันมากขึ้น ตัวแปรสำคัญคือ เทคโนโลยีนี่แหละ เราว่าตัวแปรสำคัญไม่แพ้ ‘ทุน’ คือการเป็นผู้ผลิตได้ด้วยตัวเอง มันต่อรองได้มากขึ้น ถ้าใช้เป็น

⦁ รัฐมีบทบาทที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไหม?

อันนี้ก็แอบหวังนะ (หัวเราะ) เพราะสมัยนี้รัฐค่อนข้างชูเรื่อง ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ การจะสนับสนุนเรื่องนี้จริงจัง ก็ควรจะมองถึงค่าย หรือผู้ประกอบการเล็กๆ ที่ผลิตสื่อ หรือมหรสพในท้องถิ่นด้วย

⦁ ถ้าไทบ้านอีสาน เป็นป๊อปคัลเจอร์ที่เกิดจากความแร้นแค้น ไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐานนำมาสู่การเติบโตจากทุนวัฒนธรรมอีสาน บางส่วนรับใช้ทุน หรือกลายเป็นนายทุนเอง จะเรียกว่า ความเป็นไทบ้าน ไปนอบน้อมกับทุนในที่สุด หรือเป็นการ ‘ทวงคืนจากทุน’ โดยใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือ คิดยังไง?

ส่วนตัวมองว่า ไม่ได้หนักไปทางใดทางหนึ่งขนาดนั้น เรียกว่าการ ‘ต่อรอง’ ดีกว่า โอเคต่อสู้อยู่แล้วแหละ นอบน้อมไหม? ก็มีส่วน เลยใช้คำกลางๆ ความเป็นอีสานใหม่ มันใหม่เพราะปรับตัวอยู่เรื่อยๆ ‘รับแล้วปรับ’ เท่าที่ตัวเองอยากจะปรับ ทั้งนอบน้อมและต่อต้านในเวลาเดียวกัน แต่ระดับความหนัก-เบาต้องดูบริบทสังคม การเมืองในแต่ละช่วงด้วย บางช่วง มหรสพถูกใช้เป็นปากเป็นเสียงเรียกร้อง บางช่วงก็เป็นกระบอกเสียงให้รัฐ เพื่อที่จะควบคุมหรือประชาสัมพันธ์บางอย่าง

⦁ แล้วมันสัมพันธ์กับการเมือง หรือการวิพากษ์สังคมอย่างไรบ้าง?

ต้องย้อนไปถึงรากเลย อย่าง ‘กบฏผีบุญ’ ที่เกิดการลุกฮือต่อต้านรัฐ สิ่งที่จะใช้สื่อสารก็คือ ‘หมอลำ’ นี่แหละ สมัยก่อนมันไม่ใช่แค่ความบันเทิงอย่างเดียว ในยุคหนึ่งหมอลำถูกยกย่องเป็น ‘ปราชญ์’ เป็นผู้รู้ เพราะข่าวสารต่างๆ ถูกส่งต่อผ่านหมอลำ เพราะอย่างน้อยหมอลำคือนักเดินทาง ต้องไปเล่นบ้านนั้นบ้านนี้ จะเห็นบรรยากาศจาก ‘ลูกอีสาน’ เรียกว่า ใช้ความประชากรนิยม ดึงดูดให้เชื่อสิ่งต่างๆ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเลือกตั้งมีบทบาทสำคัญ หมอลำ หรือมหรสพพื้นบ้านก็ถูกใช้เป็นกระบอกเสียง ทั้งให้รัฐด้วย ในแง่ที่ว่า มีช่วงหนึ่งมี ‘การประกวดหมอลำเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ’ ไหนจะช่วงสงครามเย็นที่ ‘มีบทบาทเรียกคนเข้าป่า’ อันนี้เราเคยไปสัมภาษณ์หมอลำที่มีบทบาทในช่วงนั้น รวมถึง ‘รถแห่’ ในช่วงที่มีประเด็นการเมือง เห็นมิติทางการเมืองชัดเหมือนกัน

⦁ อย่างเพลงหรือหนังในปัจจุบัน สื่ออะไรในทางสังคม-การเมืองบ้างไหม?

ปัจจุบันก็ยังมีรากนั้นอยู่นะ ยังมีคนใช้ศิลปะเพื่อต่อรอง เข้มข้นไปถึงการต่อสู้ด้วยซ้ำ อย่างในช่วง ‘คาร์ม็อบ’ ก็จะเห็นหมอลำหลายคนขึ้นเวที รวมไปถึงผู้จัดหนังในกระแส (รอง) แต่ถ้ามันเติบโตมากขึ้นก็จะกลายเป็นกระแสหลักได้ จะได้เห็นคนพวกนี้อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งด้วย

สำหรับการรับรู้ของคนทั่วไป เราได้เห็นสื่อท้องถิ่น อย่าง Lanner, อีสานเรคคอร์ด ในมหาวิทยาลัยมี ‘เสียงไทบ้าน’ ตอนนี้ทุกคนเป็นสื่อ ไม่ใช่แค่มหรสพแล้ว แต่เป็นการบอกกล่าวเล่าเรื่องราวการเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมด้วยซ้ำ

ในมุม ‘ดนตรี’ โครงสร้างก็คือเพลงสตริง แต่ใส่คำร้อง สำเนียง เสียงพิณ แคน ที่เป็นความอีสาน คนนอกไม่เข้าใจภาษาก็ฟังได้ แต่อีกนัยยะ มันประกาศอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ออกมาด้วย อย่าง ‘ก้อง ห้วยไร่’ เป็นอีสานร่วมสมัย ที่ Subculture ลงมาอีก คือ สําเนียงญ้อ แบบสกลนคร หรือสำเนียงแบบอีสานใต้ จะมีกันตรึม มีภาษาเขมรด้วย คือมันชูความหลากหลายในอีสานเองด้วยซ้ำ

⦁ ผลผลิตพวกนี้ เรียกว่าเป็นความพยายามทำให้คนทั่วไปซึมซับวัฒนธรรมอีสาน?

มันมีผลแน่นอน มันกลายเป็นกระแสหลัก อย่างตลาดนัดในกรุงเทพฯ เปิดเพลงอีสานกันเยอะ มันสามารถกำหนดทิศทางการไปต่อของมหรสพชาวบ้าน ใน ‘ภูมิทัศน์ทางเสียง’ ของประเทศนี้เลยก็ว่าได้ ในท้องถิ่นอื่นๆ ก็มีความพยายามแสดงตัวตนทางอัตลักษณ์มาตลอด แต่ความหนัก-เบาแต่ละช่วงขึ้นอยู่กับผู้ผลิตและผู้บริโภคในแต่ละช่วงด้วย

⦁ ความม่วน มีอารมณ์ขัน ยิ่งทำให้เข้าถึงคนได้ง่าย?

มันวิพากษ์รัฐตรงๆ ไม่ได้ การใช้เรื่องตลกมาเปลี่ยนมู้ด มันจะล้อเลียนได้สนุกกว่า หรือการพูดเรื่องเพศ มันมีเวลา-จังหวะของมัน ความเป็นชาวบ้านที่ใช้ความหยาบโลน ตลกร้าย ก็สะท้อนความถูกกดทับอย่างหนึ่ง เมื่อพูดหรือแสดงตรงๆ ไม่ได้ ก็ต้องเลี่ยงบาลี ไม่งั้นอึดอัดแย่เลย (หัวเราะ)

⦁ ในฐานะคนอีสาน มองสื่อไทบ้าน ส่งผลต่อการรับรู้ของคนร่วมสมัยมากน้อยแค่ไหน มันเชื่อมช่องว่าง ระหว่างความเป็นเมืองกับชนบท หรือยิ่งทำให้ถ่างออกไป?

เรามองว่าเทคโนโลยี ก็เหมือนกับ ‘ถนนมิตรภาพ’ ถ้าเทียบกับสมัยก่อน มันก็สร้างโอกาสอีกหนทางนึง คือเราไม่ติดกับการที่จะผลิต หรือสถาปนาวัฒนธรรมอะไรขึ้นมา ในฐานะคนที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ อีกขาเป็นคนไทบ้านด้วย เรามองว่ามันก็เป็นโอกาสหนึ่ง ควรจะสร้างทางเลือกที่หลากหลาย ใครถนัดอะไร เดินไปเวย์นั้น คนบริโภคก็จะเลือกเสพในแบบที่ต้องการเอง

สำหรับเรา มันไม่ได้ตัดขาดขนาดนั้น แต่เทคโนโลยีกลับช่วย ‘เบลอเส้นขอบและศูนย์กลาง’ ด้วยซ้ำ เราดูสื่อนั้นจากที่ไหนก็ได้ โอเค มันสร้างกลุ่มก้อน ตั้งแต่มีแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้เห็นว่า เฮ้ย เราไม่ได้โดดเดี่ยวทางความคิดนะ เดี๋ยวนี้มีอินฟลูเอนเซอร์ที่โชว์ความเป็นไทบ้าน แค่พายเรือจับปลาเฉยๆ คนฟอลโลว์เป็นแสนๆ เลยรู้สึกว่า จริงๆ คนพลัดถิ่นเอง มันโหยหาความเป็น ‘กลุ่มก้อน’

แต่เป็น ‘ภาพเหมารวม’ ไหม? ในสายตาของชนชั้นกลาง ที่มองว่าเอะอะก็กระดกเหล้า จริงๆ ไม่ใช่ เหมือนอย่างเราคนตกใจว่า เป็นอีสานแล้วทำไมกินส้มตำไม่เผ็ด อ้าว! ส้มตำมันสามารถกินแบบพริกน้อยๆ ได้ไง (หัวเราะ) คือภาพเหมารวมว่า คนอีสาน ต้องกินเผ็ด-เค็ม อย่างเราศึกษามหรสพ แต่เออ เราเต้นไม่เป็น (หัวเราะ) ก็จะโดนล้อ แต่คนเราเติบโตมาไม่เหมือนกัน ลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมก็เหมือนกัน

⦁ ในฐานะคนอีสาน รู้สึกภูมิใจกับความแมส มากน้อยแค่ไหน?

แน่นอน อย่างแรกมันภูมิใจในความเป็นกลุ่มก้อน อย่างน้อยเราไม่ได้โดดเดี่ยวในสังคมทุนนิยมนะ ถึงแม้ว่าจะกลับจากที่ทำงานแล้ว อยู่ห้องพักในกรุงเทพฯ ที่ค่อนข้างอยู่แบบเดี่ยวๆ แต่พอเราเข้าไปเสพวัฒนธรรมต่างๆ มันเหมือนเชื่อมโยงมโนสำนึกของเรา มันเหมือนน้ำที่กินตอนกระหาย เวลากลับบ้าน มันให้ความรู้สึกนั้น

⦁ เทคโนโลยีและโซเชียล มีผลต่อการแพร่กระจายของวัฒนธรรมไทบ้าน ขนาดไหน?

โดยเฉพาะช่วงโควิด มีเพลงเต็มเลยนะที่ฉลองล้านวิวแตก มันเป็นปรากฏการณ์ที่ค่ายใหญ่ๆ ก่อนหน้านี้ทำไม่ได้ เพราะ 1.User ไม่เยอะ 2.แพลตฟอร์มการฟังไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนไปไหนไม่ได้ก็ฟังเพลงอยู่บ้าน บางทีศิลปินมีแนวทางทางการเมืองที่ตรงจริตกับเราด้วย ก็เป็นผลสำคัญที่ทำให้กระแสพวกนี้เปลี่ยนทิศด้วยเหมือนกัน

เวลาไปตลาดนัด ไปร้านส้มตำ มันจะมีนักร้องบางท่านที่ยอดวิวมากที่สุดในยูทูบ 3 ปีซ้อน โอ้โห! จะไม่ 3 ปีซ้อนได้ไง เราไปนั่งคืนเดียวเปิดเพลงเขา วนทั้งคืน (หัวเราะ)

⦁ วัฒนธรรมไทบ้านอีสาน ส่งผลต่อการเติบโตขึ้นของวัฒนธรรมคล้ายๆ กัน ในภูมิภาคอื่นบ้างไหม?

เราชอบอันนึงของภาคเหนือ เคยดูไหม ‘หนังส้มป่อย’ แทบจะเป็นไทบ้านแบบอีสานอินดี้ เราว่ามันคือความเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวที่เติบโตในท้องถิ่นนั้นๆ มันคือความเป็นเนทีฟ ร่วมสมัย ที่มีทุกภาค

ด้วยระบบสาธารณูปโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้อีสานเจริญขึ้น ถ้ามองในระบบทุนนิยม เพราะมีการเคลื่อนของทุน ของคน และมหรสพมันก็เคลื่อนด้วย มันส่งผลต่อป๊อปคัลเจอร์ของอีสาน และ ‘ซาวด์สเคป’ ที่เปลี่ยนไป อย่างน้อยการมีแซกโซโฟนในหมอลำซิ่ง มันเปลี่ยนภูมิทัศน์เรื่องเสียง ของสังคมและวัฒนธรรมอีสานมากพอสมควร เราได้เห็นการใช้คีย์บอร์ด มันไม่ใช่แค่หมอลำ แต่มันส่งผลมาถึงวงกลองยาว มหรสพอื่นๆ ที่มันลากมาเป็น ‘รถแห่’ ในปัจจุบันด้วยซ้ำ

⦁ คิดว่าจะมีพัฒนาการใหม่ๆ ที่มาพร้อมเทคโนโลยีพวกนี้ไหม?

แน่นอน มันตอบรับและตอบสนองตรงๆ อยู่แล้ว ทิศทางการเติบโตของรถแห่และหมอลำ มันแอบอิงอยู่กับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตอนนี้อีกปัจจัยคือแพลตฟอร์ม มาเมื่อไหร่ มหรสพเปลี่ยนทันที อย่างเพลง ‘ลำมัจฉาฮิโนกิ’ มันเป็นปรากฏการณ์ที่เราอึ้งมาก ร้องยากนะ แต่สมมุติมันดังเมื่อคืน ตื่นเช้ามา รถแห่เอาไปเล่นแล้วอ่ะ

มันสะท้อนสังคมได้เร็วขนาดนั้นเลย

อธิษฐาน จันทร์กลม – เรียบเรียง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) – ภาพ

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.