สสส.เสริมเด็กไทย‘เล่นอิสระ’วางรากฐานของชาติแข็งแกร่ง-มั่นคง
GH News January 21, 2025 09:23 AM

เพราะ ‘การเล่น’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ สำหรับเด็กแล้ว การเล่นไม่เพียงเป็นกิจกรรมที่ทำให้อารมณ์ดี มีความสุขเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นกิจกรรมช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้อย่างรอบด้าน เพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน สามารถสร้างคุณค่าให้ตนเองและสังคมได้ แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤติจากภัยพิบัติธรรมชาติ สถานการณ์วิกฤติจากฝีมือมนุษย์ และสถานการณ์วิกฤติที่ซับซ้อน ส่งผลกระทบปัจจัยพื้นฐานของเด็ก ทำให้เด็กมีสภาวะยากลำบาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยน เปิดตัว ‘International Play Association Thailand’ หรือ ‘สมาคมการเล่นนานาชาติ’ สาขาประเทศไทย (IPA Thailand) เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมและปกป้องสิทธิในการเล่นของเด็กทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการเล่นในการพัฒนาของเด็ก และส่งเสริมให้เด็กไทย เข้าถึงโอกาสในการเล่นอิสระ ผ่านยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ได้แก่ 1. สร้างศักยภาพผู้เกี่ยวข้องให้มีความสามารถในการสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นอิสระ 2. ปลุกพลังครอบครัว และชุมชนในการส่งเสริมการเล่นอิสระ 3. สื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการส่งเสริมการเล่นอิสระ และสิทธิในการเข้าถึงโอกาสการเล่น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อที่ 31 เรื่องการมีส่วนร่วมของเด็กผ่านการเล่น

 ‘การเล่นอิสระ’ (Free Play) หมายถึง การเล่นที่ให้เด็กเป็นคนคิดเอง ออกแบบเอง กำหนดเองว่าอยากเล่นอะไร จะเล่นแบบไหน ซึ่งจุดนี้จะเป็นรากฐานชีวิตของเด็กนางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานเล่นอิสระสร้างความสุขในประเทศไทยของ สสส. ทั้งระดับนโยบายและภาคีเครือข่ายว่า ประเทศไทยเคลื่อนตัวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ หมายถึง มีผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรไทยทั้งหมด ขณะเดียวกันจำนวนเด็กเกิดใหม่ก็น้อยลงเรื่อยๆ สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์เกิดน้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวและโครงสร้างประชากรอย่างมาก ดังนั้น หากประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์และไม่สามารถทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ได้ ในปี 2626 จำนวนประชากรไทยจะลดลงเหลือเพียง 33 ล้านคนเท่านั้น

 นางสาวณัฐยา กล่าวต่อว่า สสส. ในฐานะองค์กรสร้างสุขภาวะที่ดีให้คนทุกช่วงวัย ที่อยากผลักดันและส่งเสริมให้เด็กทุกคนเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ จึงสนับสนุนให้เด็กมีพื้นที่ในการเล่นอิสระ เสริมทักษะและประสบการณ์ชีวิต ไปพร้อมกับสร้างคุณค่าให้ตัวเองและสังคมได้ ผ่านองค์กรคุณภาพอย่าง IPA Thailand ที่มีหมุดหมายสำคัญ คือการสานพลังภาคีร่วมผลักดันให้เกิดหลักสูตรและมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพผู้อำนวยการเล่น หรือ Play worker ผู้ที่จะทำให้เด็กได้เข้าถึงโอกาสการเล่นอย่างแท้จริง ผ่านการถอดบทเรียนและวิธีการในระดับสากลควบคู่บทเรียนจากพื้นที่ปฏิบัติทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนให้บุคลากรท้องถิ่น เช่น อบต. อบจ. และให้มีทักษะผู้อำนวยการเล่น เพื่อสนับสนุนเด็กในพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนขับเคลื่อนให้มีลานเล่นอิสระในชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงสร้างให้ครูหรือผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็ก (ศพด.) กว่า 17,000 แห่ง มีความรู้และทักษะ Play worker เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมต่อไป

 “การเล่น โดยเฉพาะการเล่นแบบธรรมชาติหรือการเล่นอิสระ เป็นวิธีการที่ง่าย ได้ผล ทั้งในเชิงป้องกันและส่งเสริมสุขภาวะฐานกายฐานใจ มีหลักฐานจากงานวิจัยนานาชาติชี้ชัดว่าการเล่นอิสระ ช่วยสร้างความเข้มแข็งในตัวตนและพื้นฐานจิตใจ รวมถึงช่วยฟื้นฟูเด็กจากภาวะความเครียด หมายความว่าหากเด็กได้เล่นอย่างเสรีเต็มที่ในทุกช่วงวัย พวกเขาจะเติบโตมามีความยืดหยุ่นทางจิตใจสูง พร้อมรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดหวังหรือการสูญเสีย” นางสาวณัฐยา กล่าว ด้าน นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้อธิบายถึงนิยามวิกฤตของโลกและประเทศไทย ที่ส่งผลต่อการเล่นของเด็กไว้ว่า เมื่อปี 2560 IPA World เริ่มสนใจและศึกษาเกี่ยวกับการเล่นของเด็กในสภาวะวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเด็กเล่นอะไร สถานการณ์วิกฤตมีผลกระทบต่อการเล่นของเด็กมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างไร โดย IPA World ได้ให้นิยามวิกฤต มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. วิกฤตที่เกิดจากธรรมชาติ 2. วิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ 3. วิกฤตที่ซับซ้อนเกิดจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นมีหลายระดับ จากรายงานวิจัยเรื่อง Access to Play for Children in Situations of Crisis : Synthesis of Research in Six Countries ปี 2560 โดย IPA World พบว่า การช่วยเหลือเด็กในสภาวะวิกฤตต่างๆ จะเน้นไปที่การช่วยเหลือโดยการสนับสนุนอาหาร ที่อยู่อาศัย แต่ ‘การเล่น’ ไม่ได้ถูกให้การสนับสนุนมากนัก ในปี 2563 IPA World จึงสร้างแนวคิด IPA Play in Crisis Support for Parents and Carers ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเล่นในภาวะวิกฤตให้กับผู้ปกครองหรือผู้ที่ใกล้ชิดเด็ก ซึ่งสำคัญไม่แพ้กับการสนับสนุนอาหารหรือที่อยู่อาศัย

 “ในการวิจัยครั้งนั้น เราเน้นไปที่กระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นหลัก คือเด็กจะเป็นคนพาผู้ใหญ่ไปเห็นว่าเขารู้สึกอย่างไร เล่นอะไรในภาวะวิกฤต อาทิ กรณีการเกิดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เด็กถูกปิดกั้น มีโอกาสน้อยมากที่จะออกไปเล่นกลางแจ้งหรือเล่นกับเพื่อน ซึ่งสิ่งที่ IPA ทำ คือการออกคู่มือสำหรับพ่อแม่และผู้ดูแลเด็ก ว่าควรปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้เด็กๆ ที่บ้านได้เล่นอิสระอย่างเต็มที่” ผู้อำนวยการ สสย. กล่าว สำหรับหน่วยงานภาครัฐอย่าง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดย แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต เสริมว่า ‘การเล่น’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ เพราะขณะที่เล่นถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีแรงจูงใจ ผ่อนคลาย สนุกสนาน พร้อมที่จะเรียนรู้ การเล่นเป็นพื้นที่สำหรับให้เด็กๆ ได้สร้างสรรค์และจินตนาการ มีสกิลการมองไปข้างหน้า และรู้ว่าตนเองอยากทำอะไรหรือมีการคิดที่เป็นระบบ สิ่งเหล่านี้จะเกิดการต่อยอดต่อไปในอนาคต จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เรียกว่าการเล่นอย่างอิสระ การเล่น จะได้ผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ‘พ่อแม่’ ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเวลาคุณภาพ เพื่อให้เขาเติบโตมามีเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายและจิตใจ พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.