วันที่ 22 มกราคม 2568 - นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ม.ค.68 ได้มีมติรับทราบการแก้ไขมาตรา 1523 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ที่แก้ปัญหาความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 13/2567
ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนในกรณีมีชู้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 68เป็นต้นไป
รองโฆษก ระบุว่า การแก้ไขครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ โดยปรับเปลี่ยนถ้อยคำ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่ว่าด้วยความเสมอภาคของบุคคล ดังนี้
ส่วนสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่าด้วยเหตุมีชู้ คู่สมรสที่ถูกกระทำมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ทั้งจากคู่สมรสที่นอกใจ และจากบุคคลที่เป็นชู้ รวมถึงผู้ที่แสดงตนเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ในทำนองชู้
อย่างไรก็ตาม หากคู่สมรสฝ่ายใดยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการนอกใจ จะไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนใดๆ
นายอนุกูล อธิบายเพิ่มเติมว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปัจจุบัน) สาระสำคัญ ดังนี้ มาตรา 1523 เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งและจากผู้ซึ่งได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่อง หรือผู้ซึ่งเป็นเหตุแห่งการหย่านั้น คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไปในทำนองชู้ หรือจากผู้ซึ่งแสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งในทำนองชู้ก็ได้ ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
"การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมให้แก่คู่สมรสทุกเพศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถเรียกร้องค่าทดแทนได้อย่างเท่าเทียมกัน" นายอนุกูล กล่าว