‘สมศักดิ์’ มั่นใจ ยังไม่มีจังหวัดไหนฝุ่นพิษสีแดงต่อเนื่องเกิน 3 วัน เปิดทางผู้ว่าฯ เสนอพื้นที่เสี่ยง ทำมาตรการ WFH
GH News January 23, 2025 01:07 AM

‘สมศักดิ์’ มั่นใจ ยังไม่มีจังหวัดไหนฝุ่นพิษสีแดงต่อเนื่องเกิน 3 วัน เปิดทางผู้ว่าฯ เสนอพื้นที่เสี่ยง ทำมาตรการ WFH

เมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1/2568 ว่า วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของปี 2568 ซึ่งมีการพูดถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดย สธ. มีพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 ที่มีข้อกำหนดตามมาตรา 14(2) ระบุให้คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม สามารถพิจารณาพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบออกเป็นประกาศพื้นที่เสี่ยง โดยจะมีมาตรการต่างๆ เป็นแนวปฏิบัติ เช่น ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ลูกจ้างสามารถทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการประกาศพื้นที่ให้เวิร์กฟรอมโฮมเลย เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ระบุว่า จะประกาศให้ดำเนินมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมได้ พื้นที่นั้นจะต้องมีค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงมากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อเนื่องกันเป็นเวลามากกว่า 3 วันหรือช่วงเวลาหนึ่ง

“วันนี้ที่ดูแล้วยังไม่มีพื้นที่ไหนเป็นสีแดงติดต่อกันมากกว่า 3 วัน จึงยังไม่มีการเสนอให้ ครม. ประกาศพื้นที่เวิร์กฟรอมโฮม แต่ในที่ประชุมเห็นชอบว่าสามารถใช้มาตรา 35 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเสนอต่ออธิบดีกรมควบคุมโรคพิจารณาเห็นชอบพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น ซึ่งก็จะมีมาตรการเวิร์กฟรอมโฮมด้วย” นายสมศักดิ์ กล่าวเมื่อถามว่ามาตรการเวิร์กฟรอมโฮม มีแนวปฏิบัติอย่างไรบ้าง หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในการเวิร์กฟรอมโฮมนั้น เป็นการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการ จึงไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินมาตรการ ดังนี้ 1.สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืดและถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิจารณาชนิดหน้ากากตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ 2.ออกประกาศเวิร์กฟรอมโฮม ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง 3.จัดทำศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ 4.ขอความร่วมมือเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการ และผู้ประกอบการขนส่ง ดำเนินการลดฝุ่น และ 5.โรงพยาบาลให้จัดทำห้องปลอดฝุ่น สำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด เป็นต้น และแจ้งการพบผู้ป่วยโรคจากฝุ่น PM2.5 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ใช้กลไกทางกฎหมาย ในการแจ้ง รายงาน และสอบสวนโรคจากฝุ่น PM2.5

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.