ตีปี๊บกันครึกโครมในการส่งออกทุเรียนปลอดสารย้อมสี Basic Yellow 2 นำร่องจาก 5 ล้ง แค่ 5 ตู้ หรือ 96 ตันไปจีน ในวันที่ 20-21 มกราคม 2568
หลังจากที่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) แจ้งพบปัญหาการใช้สารย้อมสี “Basic Yellow 2 หรือ BY2” ในทุเรียนส่งออกของไทย โดยสารดังกล่าวองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B
โดย GACC ได้กำหนดให้ทุเรียนส่งออกทุกลอตของไทยไปจีนต้องแนบใบรับรองรายงานผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการ (Test Report) ว่า ปลอดสาร BY2 และแคดเมียม โดยจีนจะสุ่มตรวจซ้ำที่ด่านนำเข้าทั้งทางบก ทางอากาศ ทางเรือ หากพบสารตกค้างดังกล่าวจะระงับการนำเข้าทันที และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2568 มีทุเรียนสดไทยเฉียด 100 ตู้ ถูก “ตีกลับ” โดยจีนไม่ให้ผ่านด่าน เพราะไม่มีการรับรองปลอด BY2 โชว์ และนำกลับมาขายตลาดภายในประเทศไทย และหากสุกมากต้องขายเข้าโรงแปรรูปหรือห้องเย็นเท่านั้น
เป็นที่ทราบกัน ในแวดวงผู้ส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนว่า การใช้สารย้อมสีเปลือกทุเรียนเริ่มแรกเกิดขึ้นจากผู้นำเข้าในเมืองจีนบอกว่า ตลาดในประเทศจีนชอบเปลือกทุเรียนสีเหลือง ทำให้ช่วงหลาย 10 ปีก่อน คนไทยจึงนำขมิ้นมาผสมน้ำ และนำลูกทุเรียนลงไป “ย้อมสีเหลือง” ของขมิ้นติดที่เปลือก ซึ่งขมิ้นถือเป็นสีที่มาจากธรรมชาติไม่ได้เป็นอันตราย
แต่เมื่อ 3-4 ที่ผ่านมา ก็คนจีนอีกที่มาบอกผู้ส่งออกไทยว่า ตอนนี้บางตลาดของจีนชอบให้เปลือกทุเรียนเป็นสีเขียวส่งออกจึงได้ “ย้อมสีเขียว” ตามที่ตลาดจีนต้องการ
ที่สำคัญมีบริษัทคนจีนนำเข้าสารย้อมสีเขียวมาให้ พร้อมรับจ้างเดินสายย้อมสีเขียวให้กับล้งต่าง ๆ ก่อนการส่งออก เรียกว่า เป็นล่ำเป็นสัน มีการใส่เสื้อทีม ทำหน้าที่เดินสายรับย้อมกันด้วย ซึ่งทำกันมา 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยจีนไม่ได้ตรวจสอบว่า สารย้อมสีดังกล่าวมีส่วนผสมของสารเคมีอันตรายที่ก่อให้เกิด “มะเร็ง” ได้
จนล่าสุด GACC ได้สุ่มตรวจพบที่เปลือกทุเรียนไทยที่ส่งไปตลาดจีนมีการย้อมสาร BY2 ที่แม้จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว แต่ยังเรียกสารย้อมสีว่า Basic Yellow 2 ที่มีส่วนผสมของสารก่อมะเร็งกลุ่ม 2B ที่ WHO ระบุเป็นสารก่อมะเร็ง
ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการตรวจได้เพียง 2 บริษัท คือ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีสาขา 5 แห่งที่ตรวจได้ และบริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) AMARC
ขณะที่หลายคนหวั่นเกรงว่า หากฤดูทุเรียนภาคตะวันออกที่มีผลทุเรียนสดออกพร้อมกันรวม 1 ล้านกว่าตันจะรับตรวจทันหรือ รวมถึงการตรวจทุเรียนแช่แข็งส่งออก
ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ รายงานเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2567 จีนนำเข้าทุเรียนสดจากไทยเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2567 ไทย 784,730 ตัน ลดลง -13.21% มูลค่านำเข้า 27.49 พันล้านหยวน ลดลง -12.71% นำเข้าทุเรียนแช่แข็งไทยปริมาณมากกว่า 44,000 ตัน มูลค่า 2.158 พันล้านหยวน
นางสาววรัญญภัคก์ ศรีมหัทธนเวคิน ประธานกรรมการบริษัท ควีนโฟเซ่น ฟรุต จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาทุเรียนที่ส่งออกจีนต้องตีกลับทุกตู้/ชิปเมนต์ ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 สาเหตุจากไม่มีใบรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ (Test Report) และสาร Basic Yellow 2 ทำให้ต้องลากตู้กลับมาแล้วขายส่ง ขายปลีกและขายโรงงานแช่แข็งในไทยนั้น เห็นว่ากรมวิชาการเกษตรน่าจะตรวจสาร BY2 ก่อนที่จะให้เปิดตู้นำทุเรียนออกจำหน่าย
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าทุเรียนในตู้/ชิปเมนต์นั้นมีความปลอดภัย 100% ทั้งผู้บริโภคผลสด แกะเนื้อ ในตลาดภายในประเทศ และทุเรียนแช่เยือกแข็งที่ส่งออกไปจีน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ส่งทุเรียนแช่เยือกแข็งส่งตลาดจีนที่มีความพร้อม ควรตรวจสาร BY2 ด้วย หากจีนมีข้อกำหนดที่ต้องการให้ตรวจแบบทุเรียนผลสด
“ทุเรียนที่ตีกลับโรงงานแช่แข็งจะไม่มีตรวจสาร BY2 โรงงานแช่แข็งรับซื้อไปจำนวนมาก เนื่องจากราคาถูก กก.ละ 70-80 บาท เกรงว่าถ้าจีนเห็นว่ามีโอกาสสุ่มเสี่ยงสารปนเปื้อน หากจีนกำหนดให้มีใบรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ BY2 ในทุเรียนแช่แข็ง แบบทุเรียนผลสดด้วย จะกระทบกับการส่งออกทุเรียนแช่แข็ง
ที่โรงงานมีออร์เดอร์อยู่แล้ว 100-1,000 ตู้ หากผู้ประกอบการส่งออกที่มีความพร้อมควรตรวจสาร BY2 เพิ่มจากการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ 4 ชนิด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะห้องแล็บที่ให้บริการ เพราะทุเรียนแช่เยือกแข็งของไทยที่มีมูลค่าปีละหลายแสนล้านบาท” นางสาววรัญญภัคก์กล่าว
แหล่งข่าวจากสมาคมนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรไทย-จีน จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติการส่งออกทุเรียนแช่เยือกแข็งต้องตรวจสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 4 ตัว การเพิ่มการตรวจสาร BT2 จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตู้ละ 20,000 บาท เป็นการเพิ่มต้นทุนขณะที่โรงงานแช่แข็งรองรับปริมาณผลผลิตที่ล้นตลาดในแต่ละปี รับซื้อทุเรียนช่วงราคาตกต่ำ ตู้ทุเรียนสดที่ถูกตีกลับมา
มีบางส่วนนำมาขายโรงงานแช่แข็งราคา กก.ละ 70-80 บาท ครั้งนี้มีตู้ส่งไปจีนรอตรวจ BY2 จำนวน 8-9 ตู้ หากตีกลับมาจะนำเข้าโรงงานแช่แข็งเช่นกันจะขาดทุนมาก
การส่งทุเรียนแช่แข็ง หากเป็นการแกะเนื้อจากลูกสด ปกติส่งออกจะมีการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ 4 ชนิดอยู่แล้ว ถ้าบังคับต้องให้มีการตรวจ BY2 อีกจะเป็นลักษณะไทยทำเกินหรือไม่ในเมื่อจีนไม่มีข้อกำหนด เป็นการเพิ่มต้นทุนทำให้การส่งออกมีขั้นตอนที่ยุ่งยากเพิ่มขึ้น และไม่แน่ใจแล็บที่ให้บริการเพียงพอหรือไม่ เอาแค่ตรวจ BY2 ผลสด ช่วงพีก 100 ล้ง ส่งออกล้งละ 10 ตู้ รวม 1,000 ตู้/ชิปเมนต์ ตรวจตัวอย่าง 5,000 ลูกต้องใช้เวลากี่วัน
นายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุเรียนที่ถูกตีกลับจากการไม่มีใบตรวจวิเคราะห์ BY2 แนบไปตั้งแต่ 10 ม.ค. 68 ผู้ส่งออกควรนำตัวอย่างของทุเรียนตู้ที่ถูกตีกลับมาเข้าแล็บเพื่อตรวจหาสารนี้ก่อน
หากไม่พบก็สามารถนำมาจำหน่ายในประเทศหรือนำไปแปรรูปได้ ส่วนที่ตรวจพบต้องฝังกลบทำลายให้หมด ไม่ควรนำมาขายเพื่อการบริโภคในประเทศ หรือแปรรูปอย่างเด็ดขาด เรื่องนี้กรมวิชาการเกษตรต้องออกมาชี้แจงกับประชาชนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับทุเรียนที่ถูกจีนตีกลับ
ทางด้าน นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาร BY2 ไม่เข้าเนื้อทุเรียน การชุบที่เปลือกหรือแช่ทั้งลูก น่าจะมีอันตรายอยู่บ้าง แต่คงเล็กน้อย 2-3% หากเป็นการแกะเนื้อเข้าโรงงานแช่แข็งสารเกาะที่เปลือกอาจจะมีโอกาสปนเปื้อนติดถุงมือไปได้ ถ้าให้แน่ใจควรตรวจสารปนเปื้อน BYD ในล้งด้วย แม้ว่าไม่ได้ส่งออก
ทั้งนี้มาตรการนำเข้าทุเรียนแช่แข็งจากไทยที่จะนำเข้าจีนต้องแนบรายงานผลวิเคราะห์ (Test Report) ทุกชิปเมนต์ โดยแสดงวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค 4 ชนิด คือ Salmonella, Staphylococcus aureus, Listeria monocytogenes, Escherichia coli ตามเกณฑ์ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต้องไม่พบเชื้อก่อโรคทั้ง 4 ชนิด