กมธ.ความมั่นคง ถกปมขายไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน หนุนแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าแจง ‘กฟภ.’ เผย ระงับไปเลยไม่ได้ ต้องประสานผ่าน กต. คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกประสานไปแล้วแต่ยังไม่ได้คำตอบ ด้าน สมช.ยังงง ขายไฟกระทบความมั่นคงอย่างไร
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 23 ม.ค.2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน พิจารณาศึกษา และติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟอกเงิน การใช้บัญชีม้าในกระบวนการยาเสพติดที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรม ที่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ แก๊งคอลเซ็นเตอร์รวมถึงกรณีที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟฟ้าบริเวณชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ได้แก่ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ผู้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.แม่สาย
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า ผู้ว่า กฟภ.จะเป็นผู้ที่ชี้แจงแทน ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ เนื่องจากติดภารกิจต่างจังหวัด ขณะที่หน่วยงานอื่นส่งเพียงตัวแทนมาชี้แจงเท่านั้น
นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการกมธ. ถามว่า หากกฟภ.ใช้อำนาจยุติการขายจนกว่าจะได้ข้อเท็จจริง สามารถใช้ได้หรือไม่ และหากใช้อำนาจยุติบริษัทที่อาจจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หน่วยงานใดที่จะมาเอาผิดท่าน หากกังวลเรื่องการกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นจะกระทบในเรื่องใดบ้าง และจะได้คำตอบจากกระทรวงการต่างประเทศเมื่อไหร่
ตัวแทน กฟภ. ชี้แจงว่า วงจรการนำไฟฟ้าจะนำเข้าไปส่งในพื้นที่เลย เรารู้เพียงโครงสร้างแต่ไม่ทราบว่าโครงสร้างดังกล่าว นำไปส่งที่ใดบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมไปแล้ว ส่วนกระบวนการขายไฟฟ้านั้น ต้องดำเนินการผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่งต่อไปยังสถานทูตประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากจะระงับการขายไฟจะต้องดำเนินการย้อนกลับ และกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย
ตัวแทน กฟภ. กล่าวต่อว่า เราเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถวิเคราะห์ในเรื่องนี้ได้โดยตรงว่า หากยุติจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และขณะนี้ได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ แต่เป็นในเชิงนโยบาย ซึ่งจะต้องนำเข้าครม. ผ่านกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่าเราทำอย่างครบถ้วนแต่ต้องรอการพิจารณาและความเห็นชอบบางอย่างจาก ครม.เพื่อนำมาดำเนินการให้ตรงจุดต่อไป
ตัวแทน กฟภ. กล่าวด้วยว่า วันที่ 29 ม.ค. การไฟฟ้าจะประชุมบอร์ดใหญ่ แล้วจะสรุปว่าการดำเนินการจะอย่างไร จากนั้นจะนำเข้า ครม. ว่าจะตัดไม่ให้ใช้ไฟเลย หรือตัดทีละจุด ซึ่งมีรายละเอียดอยู่ และจากการที่ประสานไปกับกระทรวงการต่างประเทศก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ส่วนส่งเรื่องไปเมื่อไหร่นั้น จะขอส่งเป็นเอกสารกลับมาอีกครั้ง ย้ำว่าจะทำเรื่องส่งไปยังครม. เพื่อให้ ครม.พิจารณา แล้วจะดำเนินการตามที่เสนอไป
ด้านนายไผท สิทธิสุนทร ผู้อำนวยการกองกิจการชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เป็นตัวแทนของ สมช.กล่าวว่า หากการไฟฟ้าตัดสินใจนำเข้าครม. และครม.ต้องส่งมาที่ สมช. ซึ่งสมช.จะนำเรียนว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่อยากได้การคอนเฟิร์มจากหน่วยความมั่นคงว่าจะกระทบความมั่นคงหรือไม่
เฉพาะเรื่องไฟฟ้าที่จ่ายไป ทาง สมช. ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนแต่จะนำไปหารือกับผู้บริหาร สมช. และจะต้องเชิญสำนักข่าวกองแห่งชาติ หน่วยข่าวของทหาร หน่วยข่าวกรองของทหารสันติบาล กระทรวงกลาโหม เข้าประชุมร่วมกับ สมช.
ทั้งนี้ ช่วงท้ายที่ประชุมยังเสนอแนะให้เชิญ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ หน่วยข่าวของทหารหน่วยข่าวกรองของทหาร สันติบาล เข้าร่วมประชุมกมธ. เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปถึงการขายไฟไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ว่าส่งผลต่อความมั่นคงอย่างไร