มาริษ แจงปม MOU 44 ยังไม่ตั้งกรรมการ JTC เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น 28 ม.ค. ยัน รัฐบาลจะไม่ทำโดยพลการ ยึดหลักปฏิบัติ 3 ข้อ เพื่อประโยชน์ประเทศ
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา มีพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามเป็นหนังสือของนายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา สว. ถามเรื่องการเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา 26,000 ตรางกิโลเมตร ซึ่งนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ถาม ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี
นายมาริษ ชี้แจงว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการใดในพื้นที่อ้างสิทธิ์ ไทย-กัมพูชา และยังไม่ได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมเทคนิคไทยกัมพูชา หรือ JTC ของไทยชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการเจรจากับกัมพูชา
โดยระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกลไกดังกล่าว รัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และจะนำข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะจากสมาชิกวุฒิสภาที่ได้อภิปรายไปประมวลรวบรวมประกอบการกำหนดท่าทีของไทยในการเจรจา เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน
“ในเรื่องนี้รัฐบาลจะเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาโดยยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการเจรจา ส่วนกรอบการเจรจาที่มีอยู่บนพื้นฐานของ MOU 44 ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาลทุกยุคที่มีก่อนหน้านี้ นับตั้งแต่ที่มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ
เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเครื่องมือในการเจรจาที่เหมาะสมและสมดุลในการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้ครบถ้วนในมิติความมั่นคง ทั้งเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล เศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงอธิปไตยและผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ” นายมาริษกล่าว
รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า แนวทางที่รัฐบาลจะยึดหลักปฏิบัติ 3 ข้อ คือ 1.ประชาชนต้องยอมรับได้ 2.รัฐสภาต้องสามารถให้ความเห็นชอบ และ 3.เป็นไปตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ยืนยันรัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดโดยที่รัฐสภาไม่เห็นชอบ และจะเจรจาบนพื้นฐานตามที่ได้แจ้งไว้
ส่วน MOU44 นั้นเป็นเพียงกลไกที่กำหนดกรอบการเจรจาระหว่างประเทศระหว่างไทยและกัมพูชาไม่ใช่การยอมรับการอ้างสิทธิ์ของกัมพูชาแต่อย่างใด และไม่ส่งผลต่ออธิปไตยของประเทศไทยเหนือเกาะกูด เนื่องจากไทยมีอำนาจในอธิปไตยเหนือเกาะกูดโดยสมบูรณ์ และไทยได้ใช้อำนาจดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเสมอมา
ส่วนสาระสำคัญของ MOU44 กำหนดให้การเจรจาแบ่งเขตและพัฒนาพื้นที่ควบคู่กันโดยแบ่งแยกไม่ได้ หากการเจรจาบรรลุข้อตกลงร่วมกัน รัฐบาลจะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินการให้มีผลผูกพัน
“รัฐบาลจะไม่ทำโดยพลการ ทุกสิ่งทุกอย่างรัฐสภาแห่งนี้จะต้องให้ความเห็นชอบ ระหว่างนี้รัฐบาลจะจัดเวทีเสวนาเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง สำหรับการเสวนาครั้งต่อไปจะดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของรัฐสภา ในวันที่ 28 ม.ค.นี้” นายมาริษ กล่าว