มาถูกทางแล้ว..สินค้าไทยขายดีหลังรัฐบาลเดินหน้าย้ำ“นโยบายรับรองและทำคุณภาพสินค้าไทยให้โลกไว้ใจ” จนยอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยมูลค่าทะลุ 3.2 แสนล้านบาทสูงที่สุดในประวัติกาล เหตุลูกค้าต่างชาติมั่นใจมาตรฐานสินค้าจากไทย
วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นับเป็นข่าวดีของประเทศไทยหลังจากสินค้าปศุสัตว์ไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลการค้าในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสูงถึงกว่า 3.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับปี 2566
ทำให้เห็นว่าตัวเลขการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นผลมาจากการยกระดับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ผ่านการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ด้วยมาตรการการควบคุมดูแลคุณภาพมาตรฐานระบบ GHPs และระบบ HACCP ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยมีความปลอดภัย สอดคล้องตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าและหลักสากล รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศคู่ค้า จนได้รับความไว้วางใจสินค้าปศุสัตว์จากประเทศไทย
สำหรับภาพรวมตัวเลขการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีการขยายตัวส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 50 คือ กลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์แช่แข็ง มีมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยประเภทเนื้อสัตว์ปีก มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
ขณะที่พบว่าไม่เพียงแต่ประเภทของเนื้อสัตว์เพียงเท่านั้น กลุ่มสินค้าการส่งออกที่มีมูลค่ารองลงมา ได้แก่ กลุ่ม อาหารสัตว์เลี้ยง มีมูลค่าส่งออกในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.36 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2566 ถึงร้อยละ 26.76 โดยคาดว่าปี 2568 นี้จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ไม่เพียงแต่การเติบโตของสินค้าประเภทเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าปศุสัตว์ ในส่วนของกลุ่มอื่น ๆ อาทิ เนื้อสัตว์แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์นม ไข่ รังนก น้ำผึ้ง และอาหารของปศุสัตว์ ก็มีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ ความเชื่อมั่นของสินค้าปศุสัตว์ของไทยที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกเป็นผลมาจาก การยกระดับมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ ผ่านการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยรัฐบาลมั่นใจว่าในปี 2568 การส่งออกสินค้าปศุสัตว์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะมุ่งเสริมสร้างและนำแนวทางการพัฒนาการรักษาให้ได้มาตรฐานในกระบวนการผลิตเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ พร้อมเร่งแสวงหาตลาดการค้าใหม่ แต่ยังคงรักษาตลาดการค้าเก่าไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเม็ดเงินเข้าประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้มีการจ้างงานในภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครื่องจักร แรงงานภาคการเกษตร โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ไปจนถึงโรงงานผลิตสินค้าปศุสัตว์และโรงงานแปรรูป ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย” นายอนุกูล กล่าว