‘เล่าเข้าปาก’ พ็อกเก็ตบุ๊ครวม 14 บทสัมภาษณ์ เรื่องราวของคนดังที่คุณคิดถึง
Ton_Online February 01, 2025 11:12 PM

เปิดตัวพ็อกเก็ตบุ๊ค ‘เล่าเข้าปาก’  14 บทสัมภาษณ์ เรื่องราวผู้คนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ และบทเพลงที่หลายๆ คนคิดถึง โดย ‘ออฟ ธรรมธวัช ศรีสุข’

พ็อกเก็ตบุ๊ค “เล่าเข้าปาก”  เปิดเรื่องราวในความทรงจำ บทสนทนา และผู้คนแห่งยุคที่หลายๆ คนคิดถึง โดย ‘ออฟ-ธรรมธวัช ศรีสุข’ ผู้เป็นทั้งคอลัมนิสต์หนุ่ม ดีเจ และเจ้าของเพจเล่าเข้าปาก ที่อยากบันทึก พาความทรงจำมาสื่อสารผ่านรูปแบบ Physical แผ่นกระดาษที่มีกลิ่น สัมผัสจับต้องได้ และไม่หายไปตามเวลา

โดยพ็อกเก็ตบุ๊ค “เล่าเข้าปาก” ประกอบด้วยบทสนทนา เรื่องราวผู้คนในแวดวงภาพยนตร์ และบทเพลงที่อยู่ในความทรงจำ จำนวน 414 หน้า

ธรรมธวัช เล่าว่า หนังสือเล่มนี้น่าจะขีดเส้นใต้ชีวิตในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเมจิคโมเมนต์และเรื่องน่าเสียใจเกิดขึ้น ได้เจอผู้คนที่พิเศษมากมาย มันถูกทำเพื่อขอบคุณพ่อที่จากไป และยืนยันตัวตนว่าความฝันนั้นยังอยู่ดี

“หลายๆ คน น่าจะรู้มาบ้างว่า งานชิ้นนี้ยากลำบาก กว่าจะเข็นมันจนเสร็จ เพราะเราทำกันเองโดยไม่มีสำนักพิมพ์ มีแต่แพชชั่น ทุกอย่างเริ่มนับจากหนึ่ง จนมันสมบูรณ์ โดยมีเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ มาช่วยกันในขั้นตอน Post-Production หวังว่ามันจะเดินทางไปเจอผู้คนที่ชอบอะไรเหมือนๆ กัน พูดคุยเรื่องเดียวกัน” ธรรมธวัช กล่าว

และต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน จากบทสัมภาษณ์ของ “เล่าเข้าปาก”

โบ สุรัตนาวี สุวิพร

“ตอนเป็น Triumph Kingdom สนุกที่สุด ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับจอยซ์ อยู่กับคนที่เรารู้ว่าเค้ารักเรา ตอนนี้แฟนเพลงเบเกอรี่ เวลาไปที่ไหนแทนที่เราจะเป็นคนให้ กลายเป็นเค้าให้เรามากกว่า นั่นคือสิ่งที่โบได้รับมาทั้งชีวิต มีคนสำคัญในชีวิตเคยพูดว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือ Part Of Life ต่อให้เป็นความสุขหรือความทุกข์ มันก็จะผ่านไป เราไม่ได้ยึดติดกับความโด่งดัง หรือความผิดพลาดที่เคยเป็น เมื่อผ่านไปแล้ว มันคือส่วนสำคัญและประสบการณ์ที่ดีในชีวิต”

“ส่วนบทบาท เจ ใน Goal Club ตอนนั้น TK กำลังพีคช่วงอัลบั้มสอง แต่เริ่มติดต่อมาตั้งแต่อัลบั้มแรก เราถามไปว่าทำไมถึงเลือกเรา จะทำอะไรโบต้องรู้ว่าเค้าต้องการเราจริงๆ หรือเปล่า? พี่เรียว (ผู้กำกับ Goal Club) บอกต้องการคนที่ไม่สวย เอ้า .. ชิบหายละ พี่เรียวแม่งพูดคำนี้เลย แต่ไม่สวยของเค้าคือผู้หญิงที่ไม่ใช่ Stereotype ของนางเอกหนังไทยที่เคยมี ความไม่เพอร์เฟ็กต์ หน้าไม่ต้องแต่ง ไม่จำเป็นต้องเรียบร้อย ไม่ต้องเป็นคนดี เราไม่ได้ผ่านการแคสติ้ง พี่เรียวชี้เลยว่าต้องเป็นเรา เป็นโบ TK เท่านั้น”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ Part Of Life “โบ สุรัตนาวี สุวิพร” การเป็น Triumphs Kingdom จนวันตาย และบทบาท “เจ” ในหนัง Goal Club เกมล้มโต๊ะ Surattanawee Suviporn

 ลีโอ พุฒ

“เกิดมาเราไม่เคยทำงานเหมือนเรื่อง Fake โกหกทั้งเพ เลย ปกติไปถ่ายหนัง-ละคร พอหมดคิวเราก็กลับบ้าน แต่กับ Fake ทำงานเสร็จก็อยากอยู่กองถ่ายต่อ คุยเล่น รอว่าเดี๋ยวเลิกกองพร้อมกันจะไปกินเบียร์

มันคือบรรยากาศการทำงานที่ทุกคนอยากตื่นไปกองถ่าย ไม่มีใครมาสายเลย บทหนังมันใกล้ตัวพวกเรามาก ฉากเมาก็เมากันจริงๆ (หัวเราะ) เมาแล้วเล่นหลุด ก็เอามาใช้ในหนัง เพราะเค้าอยากได้ความธรรมชาติแบบนั้น อย่างซีนที่เราใส่แว่นดำเหน็บบุหรี่ยืนบนถนน นั่นก็ไม่ได้ตั้งใจ พอรู้ว่าโลเคชั่นถ่ายที่ข้าวสารก็กินเบียร์กัน เค้าก็ถ่าย Outtake ไว้เฉยๆ

ส่วนตัวหนังที่ผ่านไป 20 กว่าปีแล้วคนยังพูดถึง มันคงไปทัชคนในแง่ของรูปแบบความสัมพันธ์ ความรัก หรือแฟชั่น การใช้ชีวิต คัลเจอร์ในช่วงเวลานั้น แต่จริงๆ วัยรุ่นก็เหมือนกันทุกยุคแหละ แต่องค์ประกอบแวดล้อม มันเปลี่ยนไปเฉยๆ เราก็ดีใจที่คนยังพูดถึงอยู่”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ “ลีโอ พุฒ” การแสดงและมิตรภาพ 19 ปี พุฒ-ต้า-เรย์ กับบทสนทนาถึง “FAKE โกหกทั้งเพ”

กบ-โอ๊ค Big Ass จากห้องซ้อม “สังกะสี”

“ในวันที่โลกเปลี่ยนไปหาเทคโนโลยี AI มีผลต่อการทำเพลงมากแค่ไหน ความเป็นมนุษย์ในการเล่นดนตรีมันยิ่งสำคัญมากขึ้น ในเมื่ออะไรก็ไม่รู้ทำเพลงได้ ความเป็นมนุษย์ต้องมีสูงขึ้น ความเป็นมนุษย์คือ จินตนาการ ความรู้สึก สัญชาตญาณ ที่สำคัญคือทักษะ ประสบการณ์ อะไรที่ AI ทำไม่ได้ มนุษย์ มีความรัก โลภ โกรธ หลง มีความเจ็บปวด

ยิ่งทำให้การเข้ามาห้องซ้อมคือการใช้ความเป็นมนุษย์ ดำรงชีวิตอยู่ไปกับโลกปัจจุบันที่ไม่มีจุดสิ้นสุด อะไรก็ตามที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่ มันจะสำคัญมากขึ้น ห้องซ้อมดนตรีไม่ใช่ที่ที่ AI มารวมตัวกันอยู่ แต่เป็นห้องที่ “ชีวิต” มารวมตัวกัน มีผิด มีถูก มีด่ากัน มีความพลาดพลั้ง

เราเชื่อว่าถ้าใครผ่านประสบการณ์ห้องซ้อมมาสักครั้ง มันคือเครื่องบันทึกความทรงจำเฉพาะตัว เป็นไทม์แมชชีน มีกลิ่น เสียงที่เฉพาะตัว มันเลยเป็นมากกว่าสถานที่”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ กบ-โอ๊ค Big Ass จากห้องซ้อม “สังกะสี” แรงกระเพื่อมถึงซีนดนตรี “อันเดอร์กราวน์” และการเกิดขึ้นของค่ายเพลง VOM Records

เอส-คมกฤษ ตรีวิมล

“ฉากนับ 1-10 ดากานดาตื่นหรือเปล่า? … อันนี้เราก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ที่ให้ดากานดายิ้ม มันก็เป็นเมจิคของหนัง เพราะจริงๆ ตั้งแต่ ไข่ย้อย เจอ ดากานดา ครั้งแรกจนถึงจบเรื่อง คนดูก็ตีความดากานดาไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าดากานดารู้มาตลอดว่าไข่ย้อยชอบ บางคนก็บอกว่ารู้ตอนบอกรัก บางทีการไม่บอกอะไรให้ชัดเจน ก็ทำให้เรื่องราวมีเสน่ห์นะ ในชีวิตจริงเราก็ไม่รู้หรอกว่า ไอ้ที่เราชอบเค้า เค้าอาจจะชอบ หรือไม่ชอบเราก็ได้ อาจจะลังเลหรือมีตัวเลือกอยู่

ในมุมเรา รู้สึกว่าสองคนนี้มีความปรารถนาดีต่อกัน ดากานดาอาจจะรู้สึกว่า ไข่ย้อยเป็นเพื่อนที่ดีมากๆ จนกระทั่งรู้สึกดีจนเกินเพื่อน ส่วนไข่ย้อยก็รู้สึกว่าดากานดาเป็นคนที่เค้าคิดถึงอยู่เสมอ เหมือนที่พะงัน ตลอดเวลาในหนัง เค้าเขียนโปสการ์ด เขียนบันทึกถึงดากานดา แสดงว่าตลอดเวลา ไข่ย้อยยังรำลึกถึงดากานดาอยู่ สองคนนี้จึงเป็นกัลยาณมิตร เป็นคนที่สบายใจที่จะอยู่ใกล้ชิดกัน ส่วนในที่สุด มันอาจพัฒนาไปเป็นความรักที่ยั่งยืนหรือเปล่า มันก็เป็นเรื่องของจังหวะชีวิต คือเรื่องเหล่านี้เราก็ทำไปตามความรู้สึกในตอนทำ แต่พอโตขึ้นมาแล้วย้อนดู เราก็มีอีกมุมมองเหมือนกันนะ พอเราอายุมากขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น” ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ “เอส-คมกฤษ ตรีวิมล” 16 ปี “เพื่อนสนิท” จาก “กล่องไปรษณีย์สีแดง” สู่เรื่องราว “ไข่ย้อย” แอบรัก “ดากานดา”

เอ้-กุลจิรา ทองคง

“ความเจ็บปวดของชีวิตการเป็นศิลปิน … พอเราเข้ามาแล้วใช้เวลากับมันเยอะ เอ้เป็นคนอ่อนไหว ปล่อยอารมณ์ไปกับการฟัง การร้อง จนเอาความรู้สึกไปผูกกับการจมดิ่งเยอะเกินไป

การฟังเพื่อมีความสุข กับการฟังเพื่อแกะเพลงไม่เหมือนกัน พอเอาไปร้อง อารมณ์ทุกอย่างมันออกมา ความสุขก็มี แต่ส่วนใหญ่จะเจ็บปวด บางทีการร้องเพลงที่เราอยากจะร้อง เพลงที่เรารักมัน เราร้องมันออกมาซ้ำๆ เอ้รู้สึกว่าเรากำลังตอกย้ำ หรือทำร้ายตัวเองอยู่หรือเปล่า เราจะเล่นไปทำไม หลายครั้งต้องไปเล่น แจ๊ส อินไปกับเมโลดี้แทน

การเติบโตทำให้เอ้เห็นอะไรมากขึ้น ช่วงเวลาที่มีความสุขเรามักเห็นอะไรด้านเดียว จนลืมว่ามันมีด้านตรงข้ามเสมอ และไม่ทันได้เผื่อใจยอมรับ อาจไม่ใช่ว่าเติบโตแล้วเอ้ความสุขน้อยลง แต่ทำให้เอ้เข้าใจความรู้สึกอีกด้านมากขึ้น”

ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ “เอ้-กุลจิรา ทองคง” ชีวิต ความฝัน สิ่งกดทับจากสังคม กับการเติบโตบนรอยยิ้ม และคราบน้ำตา

ภายในหนังสือ 14 บทสัมภาษณ์/เรื่องราว ประกอบด้วย

1.เอส-คมกฤษ ตรีวิมล (ผู้กำกับภาพยนตร์ เพื่อนสนิท)

2.ศรัญดา (อดีตพนักงาน ที่ทำงานในร้านขาย-วีดีโอแผ่นหนังกว่า 30 ปี)

  • ลีโอ พุฒ – พุฒิพงศ์ ศรีวัฒน์ (FAKE โกหกทั้งเพ, อสุจ๊าก)

4.เอ้-กุลจิรา ทองคง (เอ้ The Voice)

5.โจ๊ก-อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ (Goal Club เกมล้มโต๊ะ, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม)

6.อำลา..สากาลา

7.ตูน โชติกา คำวงศ์ปิน (Stoondio)

8.บอม-อภินันท์ ปิยะพรหมศิริ (ดีเจสันติสุข)

9.เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล (ผู้กำกับภาพยนตร์ Goal Club เกมล้มโต๊ะ, อหิงสา จิ๊กโก๋มีกรรม, เราสองสามคน)

10.โบ-สุรัตนาวี สุวิพร (Triumphs Kingdom, Goal Club เกมล้มโต๊ะ)

11.กบ-ขจรเดช พรมรักษา X โอ๊ค-พงษ์พันธ์ พลสิทธิ์ (Big Ass)

12.ต้น-นิธิวัฒน์ ธราธร (ผู้กำกับภาพยนตร์ Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, หนีตามกาลิเลโอ)

End Credit “21 ปี ภาพยนตร์มนต์รักทรานซิสเตอร์”

สำหรับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นงานเปิดตัวหนังสือเล่มแรก ธรรมธวัช บอกว่า ด้วยความตั้งใจที่ไม่อยากให้เป็นแค่ “การขายหนังสือ” แต่อยากแชร์ประสบการณ์ และพูดคุยเรื่องที่เราชอบร่วมกัน จึงหาเรื่องจัด Exhibition ขนาดเล็ก เน้นอบอุ่น น่ารัก ที่สามารถเล่าเนื้อหาในหนังสือ การเดินทางตลอด 4 ปีของเล่มนี้ งานไม่มีพิธีอะไรครับ บรรยากาศสบายๆ ที่ชั้นสองร้าน Method to my madness ลง MRT พหลโยธิน ประตู 2

โดยงานจะเริ่ม 5 โมงเย็น Til late ส่วนชั้นล่างร้านเปิดปกติ มีพี่ๆ ดีเจไลน์อัพเข้มๆ ขับกล่อมความสนุกเหมือนเดิม ซื้อหนังสือ ลงมาจิบต่อกันสวยๆ ใครที่จองไว้หรือสนใจสามารถซื้อและรับหนังสือได้วันนั้นเลยโดยหนังสือ กับ Exhibition จะวางขายและแสดงถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2568 (ร้านปิดวันจันทร์)

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.