วันที่ 2 ก.พ.2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเลือกตั้งสมาชิกและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.เสร็จสิ้นลงไปแล้ว ปรากฎว่าผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย ได้นายกอบจ.ไปทั้งสิ้น 10 จังหวัดจากที่ส่งไว้ทั้งหมด 16 จังหวัด นั้น ส่วนพรรคประชาชนได้ 1 จังหวัด นอกนั้นเป็นผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงนั้น ล่ามีการวิเคราะห์ภายในพรรคเพื่อไทย ประเมินว่า ในภาพใหญ่สะท้อนว่า 3 ฝ่าย คือพรรคเพื่อไทย , พรรคภูมิใจไทย จับมือกับพรรคอนุรักษ์นิยม และกลุ่มของพรรคประชาชน จะไม่มีใครได้สส.เกินครึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า ปี 2570 การตั้งรัฐบาลจะจับมือกันระหว่าง 2 ใน 3 ฝ่ายนี้
ประการที่2 สำหรับพรรคเพื่อไทยถือว่าสอบผ่าน เพราะพรรคเพิ่งลงสนามท้องถิ่นจริงจังครั้งแรก แต่สามารถล้มแชมป์เก่าได้หลายที่ ป้องกันแชมป์ได้เกือบหมด เสียแชมป์ที่เดียวคือลำพูน และที่แพ้คือแพ้แชมป์เก่าที่ยังเข้มแข็งในพื้นที่
ประการที่ 3 พรรคเพื่อไทย เดินด้วยผลงานมาตลอด แต่การว่างเว้นจากการเป็นรัฐบาลมานาน ทำให้ความแข็งแรงส่วนนี้ลดลง ดังนั้นถ้ารัฐบาลเร่งทุกนโยบาย บ้านเพื่อคนไทย ยาเสพติด ราคาพลังงาน แก้หนี้ รถไฟฟ้า 20 บาท และนโยบายอื่นจะเติมพลังได้มากขึ้น
ประการที่ 4 การจัดการทางการเมืองของพรรคสำคัญมาก ทั้งการคัดเลือกตัวผู้สมัคร เช่น ที่จังหวัดมุกดาหาร และบึงกาฬ พบปัญหาว่า ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยค่อนข้างอ่อน และ จังหวัดที่มีความขัดแย้งภายใน เช่น เชียงราย ศรีสะเกษ ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนจังหวัดที่ไม่ขัดแย้ง เช่น นครพนม หนองคาย พรรคเพื่อไทย เอาชนะได้
ประการที่ 5 ยังมองว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ยังคงมีพลังทางการเมือง ส่งผลบวกอย่างยิ่งต่อฐานคะแนนของพรรค ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2570 พรรคจึงยังต้องการพลังของนายทักษิณ ทั้ง AIR WAR และ ภาคสนาม แต่ต้องวางยุทธศาสตร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ลงตามใจผู้สมัคร
ประการที่ 6 การที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่พบประชาชนมากขึ้น พร้อมนำผลงานและนโยบายที่รัฐบาลกำลังทำไปบอกกล่าว ขับเคลื่อนให้เห็นภาพ จะเป็นการสะสมกำลัง สะสมชัยชนะ
ประการที่ 7 ในระยะเวลาเวลา 2 ปีนั้นถือว่าไม่นาน ดังนั้นพรรคต้องทำงานเตรียมการเลือกตั้ง 2570 ตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นที่ 1 ต้องได้สส.ตามเป้าหมาย คือไม่ต่ำกว่า 200 ที่นั่งโดยต้องเริ่มจากการฟิตเครื่องส.ส. ติดตาม ประเมินผลการทำงาน รวมทั้งการค้นหาคนใหม่ที่มีศักยภาพเข้าพรรค
ประการที่ 8 พรรคประชาชน ยังมีพลัง แต่ก็อ่อนแรงลงมากถ้าเทียบกับผลเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นอกจากนี้พรรคประชาชนยังทำการเมืองในรูปแบบที่ยึดกระแส ไม่ผูกพันกับประชาชน จังหวัดที่ได้สส.ทุกเขตแพ้ขาด เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต ด้งนั้นถ้าไม่มีกระแสใหญ่แบบอยากเปลี่ยนเหมือนสมัยการชูจุดขายเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ จะทำให้พรรคประชาชน ทำงานได้ยากมากขึ้น ประการที่ 9 แม้พรรคประชาชน จะได้ที่นั่งนายกอบจ.ลำพูน แต่ไม่ง่ายที่จะสร้างความแตกต่างได้ และในการเลือกตั้งสส.รอบหน้า พรรคประชาชน อาจเสียงหลายที่นั่งสส. มากกว่า
ประการที่ 10 ประเมินว่า พรรคภูมิใจไทย น่าจะมุ่งหน้าไปขยายฐานการเมืองที่ภาคใต้ แต่ขณะเดียวกัน จะกลายเป็นคู่ต่อสู้ที่สำคัญ กับพรรคเพื่อไทย ดังนั้นพรรคต้องมองพื้นที่ให้ละเอียด กำหนดยุทธศาสตร์เป็นรายจังหวัด และเขตเลือกตั้ง และประการที่ 11 จากนี้ต้องทำให้เห็นได้จริงว่านายกอบจ.จากพรรคเพื่อไทย สามารถเชื่อมประสานงานกับส่วนกลาง คือรัฐบาลได้ ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์จริง