ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2550 (มาตรา 4) ได้กำหนดความหมายของคำว่า ‘เด็ก’ ไว้ว่าคือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ในหลายประเทศทั่วโลก เด็กและเยาวชนถือเป็นบุคคลสำคัญยิ่ง เพราะถือเป็นทรัพยากรที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้น ผู้ใหญ่ทุกคนจึงมีหน้าที่ส่งเสริมสวัสดิการ สุขภาพ และการพัฒนาอย่างเต็มความสามารถของเด็ก ไปจนถึงการปกป้องคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงจากครอบครัวเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน จากปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่มากระทบการเติบโตของเด็ก รวมถึงสร้างความตระหนักถึงสิทธิของพวกเขาตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด 2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง 3. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา และ 4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม ที่อยู่บนหลักการไม่เลือกปฏิบัติและถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จับมือกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว จัดเสวนาหัวข้อ ‘ความรุนแรงในครอบครัวกับอนาคตเด็กไทย…ที่ขาดแคลนการลงทุน’ เพื่อเสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็กให้แก่ผู้ ใหญ่ในสังคม นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้สะท้อนปัญหาเชิงรุกที่กระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยว่า 2 ใน 3 ของโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนมาจากปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากสิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็ส่งผลให้เด็กลองในสิ่งที่ไม่ควร ไม่ว่าจะเป็น ติดการพนัน การสูบบุหรี่ การใช้ยาเสพติด ไปจนถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดูจากผลสำรวจการดื่มแอลกอฮอล์ในเด็กเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ระหว่างปี 2547 – 2558 พบอัตราการดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 23.5 – 29.5% และแม้ปี 2564 ตัวเลขจะลดเหลือ 20.9% หรือราว 1.9 ล้านคน แต่ในข้อมูลยังพบผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับทุกกลุ่มอายุสูงถึง 34.05% และในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปีถึง 16.75% นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบกับความรุนแรงในครอบครัว
และข้อมูลที่น่าสนใจโดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวบรวมข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่เสนอผ่านสื่อในปี 2566 รวม 1,086 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 316 ข่าว คิดเป็น 29.1% ยาเสพติด 283 ข่าว คิดเป็น 26.1% ทั้งนี้ ชัดเจนว่าอบายมุขทุกชนิด ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดที่สมองจะพัฒนาไปได้ดีจนถึงอายุ 25 ปี ทั่วโลกจึงทำทุกทางเพื่อปกป้องเด็กจากอบายมุข และมีงานวิจัยจำนวนมากชี้ชัดว่า ครอบครัวที่มีคนเสพติดอบายมุข มีความเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในครอบครัว และสร้างบาดแผลในชีวิตของเด็ก
“ฉะนั้นผู้ใหญ่ในสังคมจึงมีหน้าที่จัดสรรสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้เด็กมีสิทธิในการเลือกใช้ชีวิตของตนเองแต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการมีทางเลือก สสส. ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยไม่ว่าอยู่ในสถานะไหนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต จึงได้มอบชุดสื่อรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ อาทิ สมุดระบายสี ป้าย ให้กับบ้านพักเด็กและครอบครัวทุกจังหวัด เพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสิทธิเด็ก การปกป้องคุ้มครองเด็กจากอบายมุข ไปจนถึงความรุนแรงในครอบครัว
สสส. หวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเดินหน้าในเรื่องสิทธิเด็ก รวมถึงทำให้ให้พ่อแม่หรือคนรอบตัวเด็กและเยาวชน สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นต้นแบบที่ดีที่เพื่อร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ดูแลเด็กและเยาวชนของเราให้ห่างจากอบายมุขหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และหาพลังเชิงบวกมาหนุนให้เกิดอนาคตที่ดีแก่เยาวชนของเรา” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. เสริมว่า จากข้อมูลของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่าน Hotline 1300 หน่วยงานกลางในการเร่งรัด จัดการ ติดตามการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพประชาชน และกลุ่มเป้าหมายผู้ประสบปัญหาทางสังคม พบว่า ในปี 2567 มีผู้ขอรับความช่วยเหลือเป็นจำนวน 188,000 ราย ซึ่ง 12.4% เป็นเรื่องปัญหาเด็กและเยาวชน โดยมีประมาณ 26,000 ราย
“น่าสนใจคือ ปัญหาเรื่องความรุนแรงเป็น 1 ใน 5 ของปัญหาที่ขอรับความช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งในวันเด็กแห่งชาติปี 2568 นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความรุนแรงในครอบครัวแล้ว ยังนับเป็นปีแห่งโอกาสของเด็กทุกคนที่จะได้เรียนรู้และปรับตัว พร้อมที่จะมีทางเลือกในชีวิตให้อนาคตของตนเองด้วย” นางอภิญญา กล่าว
ด้าน นายภานุเดช สืบเพ็ง ตัวแทนเยาวชนที่เคยเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เล่าเรื่องราวของตนเองให้ฟังว่า ชีวิตวัยเด็กของตนนั้นไม่เหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ เพราะพ่อติดเหล้าและชอบทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ทำให้แม่ทนไม่ได้จึงแยกทางกัน ส่วนตนเองและน้องๆ หนีออกจากบ้านมาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ นอนวัดบ้างที่สาธารณะบ้าง จนมีคนแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับ และพาตนกับพี่ น้องแยกส่งไปอยู่ที่มูลนิธิต่างๆ
“ตั้งแต่นั้นมาผมก็ใช้ชีวิตอยู่ที่มูลนิธิมาโดยตลอด หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ตนก็ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลืองานมูลนิธิดังกล่าวได้บ้างจนถึงวันที่มูลนิธิปิดตัวลง ปัจจุบันยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จมากมาย แต่อย่างน้อยได้มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคมและประเทศชาติ” นายภานุเดช ปิดท้ายอย่าปล่อยให้ใครมาสร้างบาดแผลในใจให้ ‘เด็กและเยาวชน’ ของเรา