เมื่อวันที่ 3 มกราคม น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ล่าสุด ได้รับรายงานนางสาวชนัญญา พรรณรักษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซลเกาหลีใต้ ถึงการเติบโตของตลาดสินค้าเครื่องปรุงรสในเกาหลีใต้ โอกาสและช่องทางในการขยายตลาดและส่งออกสินค้าเครื่องปรุงรสของไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลคำจำกัดความและการแบ่งประเภทเครื่องปรุงในเกาหลี โดยกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยา ว่า เครื่องปรุง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำตาล เกลือ เครื่องเทศ โปรตีนไฮโดรไลเสตยีสต์หรือสารสกัดจากยีสต์รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารมาผสมกับอาหาร แล้วแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบผง เม็ดหรือของแข็ง โดยมีปริมาณความชื้นไม่เกิน 8% โดยเครื่องปรุงรสชนิดเหลว ถูกจัดอยู่ในเครื่องปรุงรสประเภทซอส และยังได้กำหนด เครื่องปรุงรสผสม หมายถึงเครื่องปรุงรสที่ผลิตจากวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เนื้อสัตว์ หรือเครื่องเทศต่างๆ เป็นต้น และยังแบ่งประเภทเครื่องปรุงออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เครื่องปรุงรสทั่วไป เครื่องปรุงรสจากธรรมชาติและเครื่องปรุงรสจากการหมัก
สำหรับแนวโน้มตลาดเครื่องปรุงรสในเกาหลีใต้ พบว่า หลังการระบาดของโควิด-19 การรับประทานอาหารนอกบ้านลดลง และนิยมปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านเพิ่มขึ้น ตลาดอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ ให้ผู้บริโภคเลือกใช้ตามความต้องการ รวมถึงผงปรุงรส และยังมีกระแสนิยมอาหารรสเผ็ด ทำให้มีการเปิดตัวซอสเผ็ดที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ซอสหม่าล่าสำหรับทำอาหารจีนซอสทาบาสโกสำหรับอาหารเม็กซิกัน และซอสศรีราชาสำหรับอาหารไทย และยังมีเทรนด์เรื่องสุขภาพ ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ โดยเครื่องปรุงรสจะต้องทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
น.ส.สุนันทา กล่าวว่า อาหารไทยเป็นที่นิยมและรู้จักในเกาหลี โดยอาหารหลัก ๆ เป็นที่นิยมอยู่แล้ว
เช่น ปูผัดผงกระหรี่ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ส้มตำ และอาหารเมนูใหม่ ๆ ที่ความนิยมเพิ่มสูงขึ้น เช่น ผัดกะเพรา ยำวุ้นเส้นเป็นต้น การจำหน่ายเครื่องปรุงสำหรับเมนูอาหารดังกล่าว อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ส่งออกไทยและผู้บริโภคเกาหลี เนื่องจากผู้บริโภคเกาหลีจะได้รับรสชาติอาหารแบบไทยจริง ๆ รวมถึงการร่วมมือกับร้านอาหารซุปเปอร์มาเก็ตในเกาหลี ในการทำ Meal Kit (ชุดอาหารพร้อมปรุง) อาหารไทย ก็จะเป็นโอกาสในการขยายตัวของเครื่องปรุงไทยในเกาหลี
นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มการบริโภคแบบใหม่ เน้นบริโภคอาหารตามรสนิยมของตนเองมากขึ้น
ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาเครื่องปรุงที่มีรสชาติหลากหลาย และการใช้บรรจุภัณฑ์ของสินค้าจะต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล ควบคู่กับการคำนึงถึงความสะดวกสบาย ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยเข้าสู่ตลาดเกาหลีได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ปัจจุบัน เครื่องปรุงไทยที่จัดจำหน่ายในเกาหลี มีหลายประเภท เช่น เครื่องปรุงรสที่มีส่วนผสม
ของเนื้อสัตว์ เครื่องปรุงรสปรุงสำเร็จและเครื่องปรุงรสชนิดน้ำซุปเข้มข้น เป็นต้น ทำให้การประกอบอาหารไทยง่ายมากขึ้น และยังทำให้รสชาติอาหารที่ปรุงนั้นใกล้เคียงกับรสชาติดั้งเดิมอีกด้วย