พณ.ชี้ราคาผลิตสินค้าไทย ม.ค.ผันผวนตามศก.โลก แนวโน้มก.พ.แพงขึ้น
GH News February 03, 2025 10:02 AM

พณ.ชี้ราคาผลิตสินค้าไทย ม.ค.ผันผวนตามศก.โลก แนวโน้มก.พ.แพงขึ้น

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ภาพรวมดัชนีราคาผู้ผลิตของไทย เดือนมกราคม 2568 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2567 กลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่มีทิศทางเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลกและความต้องการของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่แม้ว่าปัจจุบันจะได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาดผู้ส่งออก แต่ก็กำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก สภาพเศรษฐกิจของตลาดปลายทาง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้ภาพรวมของราคาผู้ผลิต ยังคงมีความผันผวนในระดับที่ทรงตัวหรืออาจจะมีความเคลื่อนไหวไม่มาก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมกราคม 2568 เท่ากับ 111.1 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 (YoY) เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาสินค้า หมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง สูงขึ้นร้อยละ 2.0 จากสินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพารา จากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกภูมิภาคใหม่ ผลปาล์มสด จากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง ในขณะที่ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ สับปะรดโรงงาน จากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม จากความต้องการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน

สำหรับสินค้าที่ราคาปรับลดลง ประกอบด้วย ข้าวเปลือกเจ้า จากการที่ประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก อ้อย จากฐานราคาของปีก่อนที่สูง ประกอบกับปีนี้ผลผลิตออกมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากความต้องการใช้ในภาคปศุสัตว์ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หัวมันสำปะหลังสด จากความต้องการในตลาดส่งออกที่ลดลง พืชผัก (มะนาว คะน้า พริกแห้ง) จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกและมีปริมาณน้ำที่เพียงพอทำให้ปริมาณผลผลิตออกมาก

และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้แก่ ทองคำ เคลื่อนไหวตามราคากลไกตลาดโลก และอุปกรณ์กีฬา ปรับราคาขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และน้ำยางข้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่มีความต้องการอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น กลุ่มเครื่องจักรและเครื่องมือ ได้แก่ เครื่องสูบน้ำ

กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ได้แก่ รถกระบะ และรถบรรทุกขนาดเล็ก กลุ่มสิ่งทอ ได้แก่ ผ้าใยสังเคราะห์ และเครื่องนอน ปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น

ขณะที่มีการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากเคลื่อนไหวตามทิศทางราคาตลาดโลก กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ เนื้อสุกร เนื้อปลาสดแช่แข็ง ปลาป่น มันเส้น และน้ำตาล เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกราคาลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าและการแข่งขันในตลาดโลก กลุ่มโลหะขั้นมูลฐาน ได้แก่ เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น ท่อเหล็กกล้า เหล็กเส้น เหล็กฉาก เหล็กรูปตัวซี ลวดเหล็ก ตามปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง

กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี ได้แก่ เอทานอล สารพอลิเมอร์และสารเคมี (โพรพิลีน ไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ เพียวเทเรฟธาลิคแอซิด) เม็ดพลาสติกและพลาสติกขั้นต้นปรับราคาตามวัตถุดิบที่ลดลง และกลุ่มผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่แผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรพิมพ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำและวงจรรวม Integrated Circuit (IC)และอุปกรณ์หน่วยรับข้อมูล/แสดงผล ตามปัจจัยอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 2.0 จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) แร่เหล็ก และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้จากการทำเหมือง ได้แก่ ยิปซัม โดโลไมต์ ทราย เกลือ ซึ่งราคาเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก

แนวโน้มดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนกุมภาพันธ์ 2568 คาดว่าจะสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) ความต้องการบริโภคในภาพรวมของประเทศที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว 2) ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

ส่วนปัจจัยกดดันที่สำคัญยังคงเป็น 1) ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชน 2) การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ประกอบกับฐานราคาสินค้าเกษตรในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านราคาพลังงาน อัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในทิศทางใด ทั้งนี้ จะต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แม้ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมกราคม 2568 จะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวยังคงเป็นปัจจัยจากภายนอก ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เห็นว่าควรมีมาตรการหรือแนวทางในการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร และกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความมั่นคง เช่น

1) จัดให้มีตลาดรับรองสินค้าเกษตรที่ครอบคลุมชนิดสินค้าที่หลากหลาย เพื่อจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจทางเลือกที่มีศักยภาพมากขึ้น ลดอุปทานส่วนเกินของตลาดสินค้าเกษตรหลัก

2) ส่งเสริมการกระจายตลาดของผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป เพื่อเพิ่มอุปสงค์ของสินค้าเกษตรและช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต

3) รักษาระดับมาตรฐานสินค้าให้มีคุณภาพตลอดกระบวนการเพื่อสร้างการยอมรับของตลาด และช่วยยกระดับราคาของสินค้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image
© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.