จุฬาฯ ผนึก BGI วิจัยการวิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวมของประชากรสูงวัยในไทย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาฯ และ BGI (Beijing Genomics Institute) ประกาศความร่วมมือในโครงการวิจัย CHANGS (Comprehensive Health Analysis for AgiNG Study) เพื่อการวิเคราะห์สุขภาพแบบองค์รวมของประชากรสูงวัยในประเทศไทย ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) มี รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ รับมอบอำนาจจาก ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาฯ และ ดร.หวัง เจียน ผู้ร่วมก่อตั้งและประธาน BGI Group เป็นผู้แทนลงนามความร่วมมือในโครงการ CHANGS ศ.นพ.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าโครงการผู้สูงวัยสุขภาพดีจากจุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย และ ดร.มิเกล เอสเตบัน หัวหน้าโครงการจากBGI ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา และวิเคราะห์สุขภาพของประชากรสูงวัยในประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีโอมิกส์ (omics technology) และปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ผล (AI based bioinformatics) โดยจุฬาฯ จะรับผิดชอบรวบรวมตัวอย่างจากอาสาสมัคร และข้อมูลทางคลินิก ส่วน BGI จะสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูล
โครงการ CHANGS จะเป็นโครงการวิจัยที่สำคัญยิ่งในการทำความเข้าใจกระบวนการชราภาพของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ของโครงการนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรสูงวัย เพิ่มศักยภาพในการดูแลตนเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง และมีความสุข โดยคาดว่าวิธีการวินิจฉัย และการรักษาที่ได้ จะเกิดประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ และสังคมทั่วโลกต่อไป
นอกจากนี้ จุฬาฯ และ BGI ยังได้ร่วมมือกันในโครงการ “Chula-BGI Joint TalentTraining Program” เพื่อพัฒนานักศึกษาและบุคลากร ในสาขาที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาบุคลากรสำหรับงานวิจัยด้านนี้ต่อไป