วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 68 ยังคงได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว แต่เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนอาจเติบโตต่ำกว่าคาด ชี้ โครงการ “Easy-E-Receipt-แจกเงิน 10,000 บาท” มีแรงส่งน้อย เผยสศค. หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 67 เหลือ 2.5% จาก 2.7% และคงจีดีพีปี 68 ที่ 3% จับตาตัวเลขจริงของสภาพัฒน์ฯ 17 ก.พ.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า ภาคท่องเที่ยวแม้เผชิญความท้าทายแต่ยังจะเป็นแรงหนุนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเครื่องชี้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2567 โดยภาพรวมปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยว รวมถึงรายจ่ายลงทุนภาครัฐที่เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่มูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี
ด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัว แม้ได้อานิสงส์จากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 แต่ยอดขายยานยนต์หดตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจากหมวดยานพาหนะและหมวดก่อสร้าง
วิจัยกรุงศรี ประเมินเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2568 ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของภาคท่องเที่ยว แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะสั้นแต่แนวโน้มโดยรวมยังคงเป็นบวก จากข้อมูลในช่วงวันที่ 1-26 มกราคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 3.02 ล้านคน (+19.3% YoY) สร้างรายได้ 150,650 ล้านบาท นำโดยนักท่องเที่ยวจีน (532,853 คน)
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ Easy-E-Receipt และมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท อาจให้ผลบวกไม่มาก และหากเทียบกับการแจกเงินในเฟส 1 วงเงินกว่า 1.4 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนซึ่งพบว่าการบริโภคในช่วงดังกล่าวทรงตัว (ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน -0.1% QoQ) สะท้อนกำลังซื้อที่อ่อนแอของผู้บริโภค
โดยกระทรวงการคลังคงประมาณการ GDP ปีนี้ขยายตัวที่ 3% จากปีก่อนที่คาดว่าจะโตเพียง 2.5% ส่วนความคืบหน้ามาตรการคุณสู้เราช่วยยังมีผู้สนใจต่ำกว่าคาด ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2567 จากขยายตัว 2.7% เหลือเพียง 2.5% ส่วนปี 2568 ยังคงประมาณการ GDP ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 3% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5%-3.5%)
นอกจากนี้ ทางการยังรายงานความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยผ่านโครงการคุณสู้เราช่วย โดยมีลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวคิดเป็นเพียง 25% ของเป้าหมายที่จะช่วยแก้หนี้ได้ 2.1 ล้านบัญชี (ข้อมูลถึง ณ วันที่ 28 มกราคม จำนวน 576,496 บัญชี) การปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ของสศค. สะท้อนแรงส่งของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนที่อาจอ่อนแอกว่าคาด สาเหตุสำคัญมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่ลดลง (ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2567 หดตัว 2.0% YoY แต่หากไม่รวมอุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตจะขยายตัว 1.3%)
ทั้งนี้ ยังต้องรอติดตามการประกาศตัวเลข GDP จากสภาพัฒน์ฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ สำหรับข้อมูลการเข้าร่วมในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยยังมีผู้สนใจต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก ซึ่งชี้ว่าการบริโภคในปีนี้อาจเติบโตได้จำกัดจากแรงกดดันของปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูความคืบหน้าของโครงการนี้หลังสิ้นสุดการเปิดให้ลงทะเบียนภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้