สมรสเท่าเทียม เปลี่ยนชีวิตเยาวชน LGBTQI+ สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว
GH News February 05, 2025 02:26 PM

สมรสเท่าเทียม เปลี่ยนชีวิตเยาวชน LGBTQI+ สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลง เมื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมกำลังจะถูกบังคับใช้ในวันที่ 23 มกราคม 2568 การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงช่วยให้คู่รักเพศหลากหลายได้รับสิทธิทางกฎหมาย แต่ยังสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะในด้านครอบครัว สุขภาพจิต และการลดการเลือกปฏิบัติในสังคม

เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children Thailand) ชี้ถึงผลกระทบเชิงบวกใน 3 มิติหลักจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่สังคมควรตระหนักรู้ และร่วมกันสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคมอย่างรอบคอบ ได้แก่

1.ลดปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและเยาวชน LGBTQI+

รายงาน “สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศในประเทศไทย” ปี 2566 โดย เซฟ เดอะ ชิลเดรน ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ทำการสำรวจจากเด็กและเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวนกว่าสามพันคนทั่วประเทศ

ข้อมูลจากการสำรวจเด็กและเยาวชน LGBTQI+ จำนวน 3,094 ตัวอย่างพบว่า 71% ของเด็กและเยาวชน LGBTQI+ ที่ทำการสำรวจ มีอาการซึมเศร้า (18% อยู่ในระดับซึมเศร้ารุนแรง) 78% มีความวิตกกังวล (21% มีความวิตกกังวลรุนแรง) 25% มีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง และ 15% เคยพยายามฆ่าตัวตาย เนื่องจากต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ความกดดันจากสังคม และการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะช่วยส่งเสริมการยอมรับในเพศหลากหลายที่เปิดกว้างมากขึ้นในสังคม ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัยให้เด็กและเยาวชน LGBTQI+ ได้มากขึ้น

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ร่วมโครงการกับ เซฟ เดอะ ชิลเดรน หลายคนมองว่าสมรสเท่าเทียมช่วยลดการกดดันทางสังคมที่มีต่อ LGBTQI+ และทำให้พวกเขากล้าที่จะแสดงตัวตนออกมาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยขึ้น อีกทั้งยังเน้นว่าการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการ เช่น การปรับระเบียบทรงผมและเครื่องแบบนักเรียน จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมและความมั่นใจในตัวเองของเด็กในโรงเรียน

2.สร้างความมั่นคงให้ครอบครัว LGBTQI+

กฎหมายสมรสเท่าเทียมช่วยรับรองสิทธิหลายๆ ข้อ เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินมรดก ซึ่งเด็กในครอบครัว LGBTQI+ จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินและมรดกในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับผู้ปกครอง ในเรื่องการตัดสินใจทางการแพทย์ โดยคู่สมรสสามารถตัดสินใจเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลของลูกได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

โดยไม่ติดปัญหาเรื่องสถานะของผู้ปกครอง และในเรื่องการดูแลเด็ก เช่น ในกรณีที่มีการแยกทางกัน กฎหมายสามารถกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ปกครองในด้านการดูแลเด็กได้อย่างชัดเจน ลดความซับซ้อนในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ครอบครัวมีสภาพแวดล้อมที่มั่นคง และช่วยให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ

ในส่วนของผู้ปกครอง มีมุมมองที่หลากหลาย ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกคนควรมีสิทธิที่จะเลือกทางเดินชีวิตของตัวเองและมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยเห็นว่ากฎหมายนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างไรก็ตาม ยังมีครอบครัวที่อาจไม่สามารถยอมรับในสิ่งที่บุตรหลานเป็นได้ จึงต้องมีการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองในทุกครอบครัวอย่างเร่งด่วน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังไม่ส่งผลชัดเจนต่อเด็กในบางพื้นที่เพราะ

“เด็กบางคนยังคงบูลลี่กันเพราะมองว่าเป็นเรื่องสนุก แสดงให้เห็นว่าสังคมยังต้องพยายามผลักดันการยอมรับความหลากหลายอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการบังคับใช้และการสร้างความเข้าใจในทุกระดับ” ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมรายหนึ่งกล่าว

3.ลดการเลือกปฏิบัติและส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคม

กฎหมายสมรสเท่าเทียมสามารถลดการเลือกปฏิบัติในสังคมโดยเฉพาะในโรงเรียนและสถานที่ทำงาน จากรายงานข้างต้นระบุว่า 75% ของเยาวชน LGBTQI+ เคยถูกล้อเลียน และ 36% ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน กฎหมายสมรสเท่าเทียมช่วยเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ลดการตีตรา และสร้างการยอมรับความหลากหลาย รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในโรงเรียนและที่ทำงาน ลดการเลือกปฏิบัติและสร้างวัฒนธรรมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

กีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหาร เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญหลังจากการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย คือการผลักดันให้สังคมปรับตัวและยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมในระดับสังคม เราต้องสนับสนุนให้เกิดมาตรการเสริม เช่น การอบรมครู นักเรียน และผู้ปกครองเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถเคารพในสิทธิของกันและกัน นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนระเบียบ เช่น การแต่งกายของนักเรียนและการลดการเลือกปฏิบัติในสถานศึกษาและที่ทำงาน จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ต้องมาจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ โรงเรียน และภาคประชาสังคม เพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริงในชีวิตประจำวันของเด็กและครอบครัว”

กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นมากกว่าการปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย แต่เป็นการสร้างรากฐานของการยอมรับความหลากหลาย และส่งเสริมให้ครอบครัวทุกแบบสามารถเติบโตในสังคมที่เท่าเทียมและเคารพในคุณค่าของกันและกัน ทั้งนี้ การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชีวิตประจำวันยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ความเท่าเทียมที่แท้จริงเกิดขึ้นในทุกมิติของสังคมไทย

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.