ในสภาวะสังคมไทยที่เต็มไปด้วยภัยไซเบอร์
ไม่ว่าจะเป็นการหลอกให้กดลิงก์เว็บปลอมเพื่อดูดข้อมูลสำคัญ ยันรหัสพาสเวิร์ด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พูดคุยหลอกล่อให้โอนเงิน หรือแม้กระทั่งเฟคนิวส์ ข่าวปลอมที่เกลื่อนไปทั่วโซเชียลมีเดีย
เมื่อไม่มีพื้นฐานการรับมือ ขนาดผู้ใหญ่ยังตกเป็นเหยื่อ แล้วเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจะเหลืออะไร
เพื่อรอดพ้นจากภัยในสังคมยุคใหม่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้ร่วมกับ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และ เครือมติชนจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการสร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กด้วยหนังสือพิมพ์ เมื่อไม่นานมานี้
มุ่งหมายให้ ‘ครู’ มีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้นักเรียนรักการอ่าน โดยใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อการเรียนการสอน สู่ปลายทางคือ การรู้จักคิดวิเคราะห์ให้หลากหลาย รู้เท่าทันสื่อและความเปลี่ยนแปลงของโลก
ด้วยเชื่อว่า การสร้าง ‘ภูมิการเรียนรู้’ ในวัยเด็กระดับชั้นประถมศึกษา จะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ได้ผลระยะยาวมากที่สุด สตาร์ตจากจุดเริ่มต้น คือการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จากการอ่าน อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดในการแสวงหาความรู้ เพื่อปรับตัว เพื่ออยู่รอด
เพราะรากฐานจากการเรียนรู้ ไม่ว่าจะสาขาวิชาไหน ล้วนเพิ่มพูนความรอบรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความสามารถคิดเชิงวิพากษ์
นอกจากแชร์ทริกในการจับผิดข่าวปลอมด้วยวิจารณญาณแล้ว ยังได้เสริมสร้างชุดทักษะความรู้จากกระบวนการโต้ตอบ การพูดคุย ซักถาม นับเป็นการกระตุ้นความใฝ่รู้ ปลุกความกระหายในการค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง
“เมื่อ 10 ปีที่แล้ว สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติก็เคยร่วมกับหนังสือพิมพ์มติชน ในโครงการส่งเสริมการอ่าน แต่วันนี้ได้เพิ่มเรื่องการรู้เท่าทันสื่อเข้ามาด้วย”
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยินดีสุดหัวใจที่ได้มาร่วมจัดโครงการนี้อีกครั้ง พร้อมหวังว่าคุณครูจะได้ความรู้นำไปจัดกิจกรรมให้นักเรียน ซึ่งทางเครือมติชนจะส่งหนังสือพิมพ์ไปให้ที่โรงเรียนเพื่อส่งเสริมการทำกิจกรรม หลังจากนั้นคุณครูจะได้กลับมาเล่าฟีดแบ๊กให้ฟังว่า หลังจากใช้หนังสือพิมพ์เป็นสื่อส่งเสริมการอ่าน ช่วยให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ รักการอ่าน รวมถึงรู้จักความเป็นข่าวมากขึ้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติหวังไว้
“ต้องขอขอบคุณคุณครูทุกท่านที่สละเวลามาร่วมกิจกรรมกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เครือมติชน และขอขอบคุณกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่สนับสนุนโครงการนี้เป็นอย่างดี”
เรียกได้ว่า อาคารข่าวสดในเครือมติชนล้นไปด้วยบุคลากรในสถาบันการศึกษา มีทั้งคุณครูที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วมหานคร ทั้งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 35 คน ตบเท้าเข้าร่วม
กิจกรรมเสิร์ฟความรู้เท่าทันแบบอัดแน่น ทั้งการบรรยาย ‘รู้จักหนังสือพิมพ์’ โดย รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม และ รศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ การบรรยาย ‘รู้จักหนังสือพิมพ์ออนไลน์ เท่าทันข้อมูลเท็จ ข่าวปลอม โฆษณา’ โดย ผศ.ปาจารีย์ ปุรินทวรกุล และ ฐิติชัย อัฏฏะวัชระ การแนะนำ ‘หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ในเครือมติชน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ และ เมธาวี มัชฌันติกะ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเวิร์กช็อป สร้างเสริมทักษะเท่าทันสื่อเพื่อเด็กอีกด้วย
อ่าน วิเคราะห์ แยกแยะ
ฉีดวัคซีนกันเสี่ยง ปูทักษะชีวิต
“เราเห็นพลังของครู คิดว่าเป้าหมายหลักคือนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียน ป.5 ที่มีอายุ 10 ปี พูดตรงๆ ว่าเป็นความเสี่ยงของ fundamental (รากฐาน)
ดังนั้น เขาจะเกิดมาอยู่ในสังคมแบบไหน ตรงนี้สำคัญ สิ่งที่เขาจะเติบโต เราจะบ่มเพาะอย่างไร”
ความเห็นของหัวหน้าโครงการ รศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยุโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล คณวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สะท้อนว่าผลผลิตที่ดี ย่อมมาจากการบ่มให้สุกงอม
โดยหลักสูตรการอบรมนี้จะให้นักเรียนมีทักษะทางสังคม ทักษะชีวิต ให้มีการแยกแยะการรับรู้ข่าวสาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสาร เมื่อก่อนสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว ถือว่ามีความสำคัญในการบ่มเพาะต่อจิ๊กซอว์คนคนหนึ่ง ให้เขามีชีวิตที่แข็งแรงมากแค่ไหนในสังคม
แต่วันนี้ปัจจัยสำคัญที่มีผลเยอะมากคือ โลกโซเชียลมีเดีย–สื่อสังคมออนไลน์ ที่กลายเป็นสถาบันหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของเด็กอย่างมาก
“หลักสูตรที่ทำให้รู้เท่าทันสื่อ จะทำเด็กคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้เริ่มต้นจากการอ่านที่ต้องแข็งแรง ไม่ใช่แค่อ่านออกเขียนได้
แต่ต้องอ่าน คิด วิเคราะห์ได้ แล้วนำไปสู่การเขียนที่ทุกคนเป็นสื่อได้ ในการส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนมองขาด
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าการเข้าถึงเด็กได้จะต้องใช้โรงเรียน สิ่งสำคัญการจะเข้าถึงเด็กได้ต้องใช้คุณครู ซึ่งต้องเป็นคุณครูภาษาไทย เพราะการอ่าน คิด วิเคราะห์ เป็นหลักสูตรในวิชาภาษาไทย โครงการนี้สำคัญมาก ต่อให้คิดหลักสูตร สื่อการสอนดีอย่างไร แต่คนที่หยิบไปใช้ไม่เข้าใจ และไม่ได้รู้สึกถึงความสำคัญก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้น จึงต้องมีกระบวนการอบรมครูก่อน
“เราไม่ได้บอกแค่ว่าหนังสือพิมพ์เป็นอะไร การรู้เท่าทันคืออะไร ทั้งหมดนี้หาอ่านได้ในกูเกิล หรือเอไอ มีเยอะแยะ แต่ที่สำคัญในยุคเอไอที่มี ก็ไม่รู้ได้ว่าข้อมูลมีความถูกต้องทั้งหมดหรือไม่ แต่มากกว่านั้นคือพลังที่จะส่งต่อมีความสำคัญมาก”
รศ.ดร.วิไลวรรณวิเคราะห์ด้วยว่า พฤติกรรมของคนในสังคมไม่ว่าจะเจเนอเรชั่นใด สะท้อนอยู่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแล้ว แต่รากของนักวิชาการที่ผนวกกับนักวิชาชีพสื่อ เรามองว่าหนังสือพิมพ์เป็นสื่อการสอนที่ดีในเรื่องของการอ่าน
เพราะต้อง ‘อ่านเยอะ’ แล้วจะต้อง ‘แยกแยะ’
“แต่การอ่านในโลกออนไลน์มีลักษณะเป็นต่อนๆ สั้นๆ เด็กควรรู้จักการอ่านเนื้อหายาวๆ ตรงนี้คือพื้นฐานที่สำคัญ ปัจจุบันทุกสื่อหนังสือพิมพ์ก็มีแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่สำคัญคือ เราเดินทางพาไปถึงสื่อออนไลน์แล้วบอกว่า ในสื่อออนไลน์มีทั้งบวกและลบ มีอันตราย เป็นพื้นที่เสี่ยง เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เราจะช่วยฉีดวัคซีนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น”
คือทักษะการรู้เท่าทันสื่อ ในมุมของอาจารย์ที่สอนด้านสื่อ
ลดเหยื่อเฟคนิวส์ แก๊งคอล
หวังขยายผลความ ‘รู้ทัน’ ทั้งสังคม
นักเรียนเกือบ 6,000 คน คุณครูนับ 219 ชีวิต จากโรงเรียน 193 แห่งที่เข้าร่วม
เป็นมากกว่าจำนวนนับ
เพราะถึงแม้จะให้นักเรียนเป็นเคสศึกษา ในสัปดาห์การเรียนรู้ ครูและนักเรียนจะได้ร่วมออกแบบกิจกรรมและยังต้องช่วยกันคิดหาทางขยายผลในโรงเรียน รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยอีกทอดหนึ่ง
“เรามองถึงผลลัพธ์ระยะยาวที่เขาจะเติบโตอย่างแข็งแรง มีวัคซีนป้องกันตัว อันดับแรกคือ อ่าน คิด วิเคราะห์ แยกระหว่างข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อเฟคนิวส์ ข่าวปลอม ข่าวลวงต่างๆ ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ผู้ใหญ่ก็ตกเป็นเหยื่อด้วยเช่นกัน”
โดยสถานการณ์การรู้เท่าทันสื่อในสังคมไทย หรือ Media Literacy คำคำนี้มีมาประมาณ 20 ปีแล้ว ถ้าวันนี้ประเมินเร็วๆ สังคมไทยมีความตระหนักมากขึ้น แต่ถามทักษะในการรู้เท่าทัน จะเห็นว่าปีที่ผ่านมาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ มิจฉาชีพต่างๆ มาในทุกรูปแบบ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี
“เราจะเห็นได้ว่ามีคนตกเป็นเหยื่อเยอะมาก ไม่ใช่แค่คนไม่มีการศึกษาเท่านั้น คนมีการศึกษามีความรู้ก็ยังโดน อันดับแรก ถ้าโดนเราต้องมีสติพอสมควร ดังนั้น เราต้องป้องกันตัวเอง ขณะเดียวกันทุกคนจะแข็งแรงได้อย่างไร ถ้าสังคมไม่ช่วยกันให้ทุกคนแข็งแรง” รศ.ดร.วิไลวรรณย้ำ
หลักสูตร อัพสกิลจับโป๊ะ
ครูห่วงเด็กถูกหลอก สมาธิสั้น
หันมาฟังเสียง วงค์จันทร์ สิริสินรุ่งเรือง คุณครูสอนภาษาไทยชั้น ป.6 โรงเรียนประชาบำรุง เขตหนองแขม หนึ่งในคุณครูที่ร่วมอบรม
เห็นความจำเป็นของโครงการนี้ที่จะทำให้เด็กรู้เท่าทันสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ที่มีโฆษณาแฝงขึ้นมามากมาย ซึ่งหนังสือพิมพ์จะช่วยในเรื่องของการอ่านและการเขียนได้อย่างมาก
“อย่างการใช้คำในภาษาของสื่อมวลชน การจับคำผิด สถานการณ์ของนักเรียนตอนนี้ มีทั้งถูกหลอกโดยเพื่อน หรือโดนหลอกมาอีกทอดหนึ่ง เช่น มีการถ่ายรูปไม่เหมาะสม
ส่งไปเว็บไซต์ใต้ดิน ซึ่งครูก็ได้เรียกผู้ปกครองมาพบ การถูกหลอกซื้อ–ขายของออนไลน์ ยังพบเป็นประจำ” คุณครูจากโรงเรียนสังกัด กทม. เล่าสิ่งที่เด็กนักเรียนหลายคนเคยเจอมาแล้ว
ส่วนการอบรมในวันนี้ วงค์จันทร์มองว่า ขึ้นอยู่กับคุณครูจะมีเทคนิคไปขยายผลกับเด็กนักเรียนแบบไหน ซึ่งได้รู้ทั้งวิธีการสังเกต ถ้าเจอข้อความแบบนี้ ส่งลิงก์เว็บไซต์มาแบบนี้ ก็ไม่ควรกด รวมถึงการตรวจสอบเว็บไซต์ว่ามีการรับรองถูกต้องหรือไม่
คุณครูวงค์จันทร์ยังแชร์ด้วยว่า สถานการณ์เด็กไทยอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้นั้น เรียกได้ว่าเป็นกันแทบจะทุกโรงเรียน โดยเฉพาะทุกวันนี้เด็กใช้โทรศัพท์มือถือไวขึ้นกว่าเมื่อก่อน
“สิ่งที่เห็นชัดคือการเป็นครูมา 20 ปีที่แล้วกับตอนนี้ สมาธิเด็กสั้น เด็กมีอาการเหม่อลอยมากขึ้นในวันจันทร์ของสัปดาห์
ซึ่งในวันเสาร์–อาทิตย์ เด็กอยู่กับโทรศัพท์ เวลาเราสอนชั่วโมงแรกของวันเขาจะนั่งเหม่อ บางทีเรียกชื่อเขาก็ยังไม่รู้ ต้องส่งเสียงดังๆ เขาถึงสะดุ้ง”
คือข้อห่วงใยจากแม่พิมพ์ของชาติ ที่เป็นห่วงเยาวชนรุ่นใหม่ ติดโซเชียลมีเดียมากเกินไปจนอาจส่งผลต่อสมาธิ การจดจ่อที่น้อยลง ส่งผลให้การเรียนแย่ลงในท้ายที่สุดได้
และแม้ว่าแต่ละโรงเรียนมีโครงการพัฒนาการอ่าน ซึ่งก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ทว่า ผู้ปกครองและคนในครอบครัวก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยชี้แนะ ผลักดันให้เด็กมีพัฒนาการอ่าน (อย่างมีสติ) ได้เร็วขึ้น
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับสังคมไทย ให้รู้เท่าทันสื่อกันมากขึ้น” คุณครูภาษาไทยทิ้งท้าย
ศศวัชร์ คมนียวนิช