ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปี 2567 อยู่ที่ 155.49 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 2.1% รับ GDP ขยายตัว-รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวฟื้นตัว-นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซล ด้านเบนซินลดลง 0.05% หลัง EV ขยายตัว
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยของปี 2567 (มกราคม-ธันวาคม) อยู่ที่ 155.49 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยของปี 2567 2.6-2.7% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการเพิ่มขึ้น 2.2% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 18.7% และการใช้ LPG เพิ่มขึ้น 3.7% ขณะที่กลุ่มเบนซินลดลง 0.05% การใช้น้ำมันเตาลดลง 6.8% และ NGV ลดลง 16.5%
รายละเอียดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน มีดังนี้
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.65 ล้านลิตร/วัน ลดลง 0.05% ประกอบด้วยการใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 ลดลงมาอยู่ที่ 5.42 ล้านลิตร/วัน เบนซิน ลดลงมาอยู่ที่ 0.41 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ อี85 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.10 ล้านลิตร/วัน ซึ่งยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.37 ล้านลิตร/วัน
จะเห็นได้ว่าในปี 2567 การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลง โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า (BEV HEV และ PHEV) มีสัดส่วน 5.5% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 คน 2 รวมถึงการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีการขยายตัวของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง คิดเป็น 11.03% เทียบกับปีก่อน
การใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการ เฉลี่ยอยู่ที่ 66.76 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 2.2% ประกอบด้วย ดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 66.61 ล้านลิตร/วัน ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ
รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ประกอบกับนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ดีเซลหมุนเร็วบี20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.15 ล้านลิตร/วัน สำหรับดีเซลพื้นฐานลดลงมา อยู่ที่ 2.00 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากในปีก่อนมีการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ภาพรวมปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลอยู่ที่ 68.76 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 16.02 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 18.7% มีปัจจัยมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวทำให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจำนวน 35.5 ล้านคน 4 ขยายตัว 26.27% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของ ททท. ประกอบกับการขยายตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยขยายตัว 6.854% ผ่านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมไปถึงการขยายตัวของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศด้วยเช่นกัน
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.26 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกรายสาขา ประกอบด้วยการใช้ในภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 8.13 ล้าน กก./วัน ภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.80 ล้าน กก./วัน ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.33 ล้าน กก./วัน จากการขยายตัวของกลุ่มรถแท็กซี่เป็นสำคัญ และภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.00 ล้าน กก./วัน
การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 2.77 ล้านกก./วัน ลดลง 16.5% โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับจำนวนรถจดทะเบียน NGV สะสม และจำนวนสถานีบริการ NGV ที่มีแนวโน้มปิดตัวลง ทั้งนี้ ปตท. ยังคงช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ ปัจจุบันดำเนินการอยู่ในระยะที่ 2 (1 ก.ค. 2567-31 ธ.ค. 2568)
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เฉลี่ยอยู่ที่ 1,024,096 บาร์เรล/วัน ลดลง 0.9% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 92,058 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 971,062 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 0.9% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 88,339 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 53,033 บาร์เรล/วัน ลดลง 25.7% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 3,718 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 186,035 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 1.5% เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,818 ล้านบาท/เดือน