บอร์ดเล็กซอฟต์พาวเวอร์กีฬา ของบฯ พันล้าน หนุนโปรเจ็กต์ต่อเนื่อง
Ohmmie Online February 05, 2025 08:23 PM

ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา เผยของบประมาณปี 2569 หลักพันล้านบาท เน้นทำโครงการเดิมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา เผยว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ได้ทำการของบประมาณ ในปีงบประมาณ 2569 ราว 1 พันล้านบาท โดยจะเน้นดำเนินการกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ทำอยู่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งต้องรอการพิจารณาว่าจะได้รับจัดสรรเท่าไร โดยปกติจะได้ไม่ถึงตามจำนวนที่ขอไปอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา มีกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อัดแน่นตลอดทั้งปี โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย

ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” (One Family One Soft Power : OFOS) ซึ่งปัจจุบันมีครูมวยกระจายอยู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศกว่า 400 คน ต่อจากนี้จะมีการทำ Database (ฐานข้อมูล) สำหรับผู้ที่สนใจเรียนมวยไทย ว่าสถานที่เรียนในจังหวัดมีที่ใดบ้าง โดยมีการเรียนฟรี 1 คอร์ส เพื่อให้ได้สัมผัสว่าชอบหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีโครงการ “มวยไทย มาสเตอร์ คลาส” ที่นำนักมวยระดับซูเปอร์สตาร์ อาทิ “รถถัง จิตรเมืองนนท์” ไปสอนที่ต่างประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส จีน โปรตุเกส สกอตแลนด์ และฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งชาวต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการมวยไทย มาสเตอร์ คลาส ที่ต่างประเทศในระยะเวลา 1 วัน อยู่ที่ประมาณ 7-8 ล้านบาท แต่เม็ดเงินที่กลับสู่ประเทศมีถึง 200-300 ล้านบาท

จากการสำรวจผู้เข้าร่วมโครงการในคลาส พบว่า ชาวต่างชาติ 150 คนจาก 300 คน บอกว่าจะมาเยือนประเทศไทย และพบว่ามาจริง 100 คน ซึ่งในจำนวน 100 คนนั้นพาภรรยาและลูกมาด้วย โดยใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 เดือน ช่วงเวลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นหลักร้อยล้านบาท

นอกจากนี้ จะมีการจัดแข่งขัน “มวยไทยลีก” โดยแบ่งเป็นการแข่งขันระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งผู้ชนะจะได้เข้าสู่การแข่งขัน One Championship เปรียบเสมือนการเฟ้นหาช้างเผือกในป่า ซึ่งมีความหมายกับนักมวยในระดับท้องถิ่นมาก เพราะการเข้าสู่ One Championship สามารถสร้างเม็ดเงินได้เป็นแสนเป็นล้านบาท

คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ยังมีการทำ มีการทำ MOU ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการสอนมวยไทยฟรี 30 โรงเรียนในสังกัด กทม. เป็นระยะเวลา 25 ชั่วโมงต่อคอร์ส ให้นักเรียนได้สัมผัสมวยไทย ตั้งแต่การสอนประวัติศาสตร์มวยไทย ไปจนถึงการต่อสู้ และกำลังเตรียมการในลักษณะเดียวกันกับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการอบรมและให้ใบรับรองแก่ครูมวย เพื่อให้สามารถไปทำงานในต่างประเทศได้ รวมถึงอบรมเจ้าของค่าย และมีการทำ MOU กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สร้างหลักสูตรให้ครูมวยและนักมวยเรียนจบระดับปริญญาตรี เพื่อให้ครูมวยและนักมวยมีวุฒิการศึกษาสำหรับการไปทำงานที่ต่างประเทศ ตลอดจนมีการให้ทุนด้วย

ผศ.พิมล กล่าวอีกว่า สำหรับเม็ดเงินที่คาดการณ์ว่าจะได้กลับมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น จะกลับมาประมาณ 20-30 เท่า จากเม็ดเงินที่ใส่เข้าไป

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินที่ใส่เข้าไป ไม่ใช่ว่าจะสามารถดึงเป็นรายได้กลับมาทั้งหมดได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น การอบรมหรือให้ใบรับรองครูมวย ก็ไม่ใช่ว่าจะมีเม็ดเงินกลับคืนมาทันที แต่ก็หวังว่าครูมวยที่ได้รับการอบอรมและการรับรองเเล้วจะสามารถไปทำงานในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องในระยะยาว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรม โดยได้รับการอนุมัติงบกลาง จากงบประมาณ ประจำปี 2567 จำนวน 275 ล้านบาท เดิมทีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬาตั้งเป้าหมายว่าจะได้เม็ดเงินกลับมาราว 2.3 พันล้านบาท ในระยะเวลา 3 เดือน แต่ปรากฏว่าสามารถสร้างเม็ดเงินกลับมาได้กว่า 7 พันล้านบาท

“เป้าหมายคือการทำให้ชื่อเสียงของมวยไทยที่โด่งดังอยู่แล้วให้ยิ่งโด่งดังขึ้นต่อไป และให้ออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากสามารถดึงผู้คนที่สนใจให้เข้ามาในประเทศไทยได้” ผศ.พิมลกล่าว

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.