“โอสถสภา” โฟกัส 5 ยุทธศาสตร์ สปีดรายได้ไทย-เทศทวงส่วนแบ่งชูกำลัง
SUB_TIK February 06, 2025 09:03 AM

โอสถสภา เผยยุทธศาสตร์ปี’68 มุ่ง 5 ด้าน ทั้งทวงคืนส่วนแบ่งตลาดชูกำลัง, ขยายพอร์ตฟังก์ชั่นนอลดริงก์, สปีดของใช้ส่วนบุคคล, ส่งธุรกิจเครื่องดื่มรุกต่างประเทศ และการควบรวมกิจการเข้ามาเสริมพอร์ต หลังปรับโครงสร้างธุรกิจทั้งพอร์ตสินค้า-ผู้บริหาร เดินหน้าสู่เป้ารายได้ 40,000 ล้านบาท ในปี 2571

นางวรรณิภา ภักดีบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ผู้ผลิตเครื่องดื่ม, ยา, ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและอื่น ๆ หลายแบรนด์ อาทิ เอ็ม-150, เบบี้มายด์, ทัมใจ, โบตัน ฯลฯ กล่าวว่า ในปี 2568 นี้ ธุรกิจเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาหลายด้านทั้งปัจจัยภายนอกอย่างสงครามการค้าและความขัดแย้งทางทหาร ซึ่งส่งผลต่อต้นทุน-ค่าขนส่ง

ขณะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยด้านการเติบโต, การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการส่งออก ไปจนถึงเรื่องสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งกระทบความเป็นอยู่ของผู้บริโภค และอาจทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ

อย่างไรก็ตาม หลายเซ็กเมนต์ยังมีสัญญาณบวกเช่นกัน อาทิ ผู้บริโภคในจังหวัดท่องเที่ยวที่ได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว, สถานการณ์ต้นทุนสินค้าที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 และความต้องการพลังบวกของผู้บริโภค ซึ่งหนุนผลตอบรับของแคมเปญการตลาด รวมถึงกระแสสุขภาพที่ช่วยสร้างดีมานด์สินค้า

ไม้เด็ดชิงส่วนแบ่งชูกำลัง

นางวรรณิภากล่าวต่อไปว่า จากโอกาสและความท้าทายในตลาดปี 2568 นี้ บริษัทจะมุ่งสร้างการเติบโต ด้วยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน คือ ผลักดันการเติบโตและชิงส่วนแบ่งตลาดในเครื่องดื่มชูกำลัง, ขยายพอร์ตเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ ต่อยอดแบรนด์เดิมสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ส่งธุรกิจเครื่องดื่มรุกต่างประเทศ รวมถึงการซื้อ-ควบรวมกิจการเข้ามาเสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอ ทั้งนี้ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายมีรายได้แตะ 40,000 ล้านบาท ในปี 2571

สำหรับการผลักดันการเติบโต และชิงส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังนั้น จะเน้นสร้างฐานผู้บริโภครุ่นใหม่ ควบคู่กับการชิงฐานลูกค้าจากคู่แข่ง ด้วยการตลาดหลากหลายรูปแบบ เช่น กลยุทธ์ราคา, รูปแบบสินค้า และการขยายช่องทางจำหน่าย ตามเป้าหมายทำให้ส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังของ M-150 ที่ลดลงเหลือ 32% หลังการปรับขึ้นราคาเป็น 12 บาท ให้กลับไปอยู่ที่ระดับ 35% อีกครั้ง

ประเดิมด้วยการใช้วาระครบรอบ 40 ปี ของแบรนด์ M-150 ส่งสินค้า M-150 รุ่นฝาสีเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่น วางจำหน่ายเฉพาะในช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรดอย่างร้านโชห่วยเท่านั้น

ด้วยกลยุทธ์ยิงปืนนัดเดียวได้นก 3 ตัว จากจุดขายราคา 10 บาท ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภค 2 กลุ่ม คือ ผู้บริโภคต่างจังหวัด และนักศึกษา ซึ่งต่างเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อไม่สูงนัก จึงอาจเข้าถึงสินค้าราคา 12 บาท ได้ยากกว่าผู้บริโภควัยทำงานในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดท่องเที่ยว ทำให้เชื่อว่าการส่งสินค้าราคา 10 บาท เข้าสู่ตลาดในครั้งนี้จะช่วยให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคต่างจังหวัดได้ดีขึ้น พร้อมกับสร้างฐานลูกค้ารุ่นใหม่ ซึ่งในอนาคตอาจขยับไปดื่มรุ่นราคา 12 บาทต่อไป รวมถึงจะสามารถชิงฐานลูกค้าจากแบรนด์คู่แข่งได้ด้วย

“ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในไทยนั้นยังมี Penetration Rate หรือสัดส่วนผู้ดื่มต่ำมาก โดยมีผู้ดื่มเพียง 1 ใน 3 ของประชากรเท่านั้น เนื่องจากตัวเลือกน้อย และภาพลักษณ์ที่เฉพาะกลุ่ม จึงมีช่องว่างให้ขยายตัวได้อีกมาก”

เจาะกลุ่มนักเที่ยวกลางคืน

ด้านเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ จะเน้นพัฒนาสินค้าให้มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์ผู้บริโภคแบบเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างฐานผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ และย้ำภาพผู้นำด้านนวัตกรรม โดยสินค้าใหม่ตัวแรกของปี 2568 คือ HANGSTER เครื่องดื่มบรรเทาอาการแฮง หรืออาการเมาค้าง เนื่องจากเห็นศักยภาพจากการขยายตัวของมูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และไลฟ์สไตล์การดื่มสังสรรค์ที่เริ่มกลับมาอีกครั้ง

เช่นเดียวกับกลุ่มเครื่องดื่มวิตามิน ซึ่งช่วงต้นปี 2568 นี้ เปิดตัว One Day Vitamins ที่รวมวิตามิน 13 ชนิด ในปริมาณสำหรับ 1 วัน

ต่อยอดแบรนด์เก่าสู่สินค้าใหม่

ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล มุ่งขยายฐานผู้บริโภคของแต่ละแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ ไปยังกลุ่มใหม่ ๆ ด้วยสินค้าใหม่ที่ต่อยอดจากจุดเด่น ชื่อเสียง และโนว์ฮาวของแบรนด์นั้น ๆ ตัวอย่าง เช่น อุทัยทิพย์ ทินท์ ซึ่งต่อยอดแบรนด์ยาน้ำ อุทัยทิพย์ ตรากิเลน ไปเป็นเครื่องสำอาง พร้อมนวัตกรรมการใช้งานแบบ 3 in 1 สำหรับริมฝีปาก แก้ม และเปลือกตา ในขวดเดียว โดยเตรียมวางขายในร้านวัตสันเร็ว ๆ นี้

หลังก่อนหน้านี้ขยายฐานแบรนด์เบบี้มายด์ จากกลุ่มเด็กเล็ก-ผู้ปกครองให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ใหญ่ ด้วยเบบี้มายด์ แอนด์ บียอนด์ ที่สามารถใช้ได้ทั้งเด็กเล็ก และผู้ใหญ่ เช่นเดียวกับแบรนด์ทเวลฟ์ พลัส ที่ขยายจากโรลออน โคโลญ และแป้งหอม ไปยังโลชั่น และครีมอาบน้ำ

ควบคู่กับกลยุทธ์การตลาดที่เน้นร่วมมือกับผู้นำเทรนด์ และความฟีลกู๊ดอย่างการคอลลาบอเรชั่นกับหมีเนย (Butterbear) ในปี 2567 และคาดว่าจะคงความร่วมมือกับหมีเนยต่อไปในอนาคต เนื่องจากขณะนี้ผู้บริโภคยังสนใจพลังบวกและความฟีลกู๊ด จากมาสคอตต่าง ๆ

รุกเวียดนาม-อินโดนีเซีย

ตั้งแต่ปี 2568 นี้เป็นต้นไป บริษัทจะเร่งสปีดขยายตลาดต่างประเทศในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยจะรุกสร้างรายได้จากตลาดอื่น ๆ นอกเหนือจากเมียนมาและลาว เริ่มจากการรุกเข้าสู่เวียดนาม ซึ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังมีขนาดใหญ่กว่าไทยมาก โดยพัฒนาเครื่องดื่มแบบ 2-in-1 ซึ่งรวมฟังก์ชั่นด้านพลังงานและความสดชื่นเข้าด้วยกัน (Energy+Rehydration)

พร้อมทำการตลาดเน้นแนวทางชม-ชิม เพื่อสร้างการรับรู้ ย้ำความแตกต่างและตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันดุเดือด

ขณะเดียวกันเริ่มส่งทีมงานลงสำรวจตลาดในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อศึกษาตลาดและหาอินไซต์ของผู้บริโภค เนื่องจากเห็นศักยภาพจากการที่ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังยังมีขนาดเล็กกว่าประเทศอื่น ๆ

เตรียมแผน B รับทุกความเสี่ยง

นางวรรณิภาย้ำว่า นอกจากการต่อยอดแบรนด์และสินค้าในเครือแล้ว บริษัทยังเดินหน้าเจรจากับผู้ประกอบการรายต่าง ๆ เพื่อซื้อ-ควบรวมกิจการเข้ามาเสริมแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ โดยจะเน้นธุรกิจด้านสุขภาพ เนื่องจากสอดคล้องกับธุรกิจหลักของบริษัท นอกจากแผนเดินหน้าแล้ว ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ บริษัทต้องเตรียมแผนสำรองสำหรับรับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่าง ๆ เอาไว้ด้วยเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่ายุทธศาสตร์เหล่านี้จะช่วยผลักดันให้บริษัทสามารถบรรลุเป้ารายได้ 40,000 ล้านบาท ภายในปี 2571 ตามที่วางไว้ได้แน่นอน

© Copyright @2025 LIDEA. All Rights Reserved.