“นฤมล” ลั่นภารกิจส่งเสริม-เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เตรียมของบประมาณ 10,000 ล้าน บูรณาการ 14 สินค้าเกษตร เริ่มนำร่อง 3 ตัวหลักปีนี้ “กาแฟ-โกโก้-ถั่วเหลือง” ชี้คนไทยนิยมดื่มกาแฟ แต่ผลผลิตไม่พอ ต้องนำเข้าถึง 60,000 ตัน ลั่นเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรให้ได้ปีละ 10% พร้อมรับกระแสรักษ์โลก หนุนปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ 10 ล้านไร่ ขอเอกชนเพิ่มราคารับซื้ออีก 5% จูงใจชาวนา
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมของบประมาณปี 2569 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ส่งเสริมสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง โดยเน้นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่และบูรณาการในมิติสินค้า 14 รายการ ที่สอดคล้องกับ IGNITE THAILAND : AGRICULTURAL HUB ได้แก่ ข้าว กาแฟ กุ้ง โคเนื้อ ทุเรียน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย ถั่วเหลือง โกโก้ ไก่เนื้อ และหม่อนไหม
ทั้งนี้ ในปี 2568 กระทรวงจะเน้นส่งเสริม 3 สินค้าเกษตร เนื่องจากเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการสูง ได้แก่ กาแฟ โกโก้ ถั่วเหลือง โดยพบว่าคนไทยนิยมดื่มกาแฟประมาณ 90,000 ตัน มีการนำเข้าประมาณ 60,000 ตัน เห็นได้ว่าผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมไปถึง โกโก้ เป็นพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารและโปรตีนสูง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ทางกระทรวงเล็งเห็นโอกาสจึงได้ให้ทุนวิจัย และให้ความรู้กับเกษตรกร ในการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าให้เพียงพอ ต่อความต้องการในตลาด
“เรายังมีสินค้าเกษตรตัวอื่น ๆ ที่พร้อมจะยกระดับมูลค่าเพิ่ม นอกจากพืชเศรษฐกิจที่ทุกคนเข้าใจว่ามีเพียงข้าว อ้อย ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เพราะยังมีพืชอีกหลายตัวพร้อมที่จะผลักดันสร้างรายได้ให้กับสินค้าเกษตรอย่าง ไข่ผำ วานิลลา ก็กำลังเป็นพืชมูลค่าสูง กำลังเป็นที่ต้องการ”
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯวางแผนพัฒนาพืชเศรษฐกิจกลุ่ม Future Food และ Function Food ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในเชิงสุขภาพ ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรมแปรรูป โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น สนับสนุนภาคเอกชนลงทุนในธุรกิจเกษตรแปรรูปและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร พร้อมส่งเสริมเกษตรกรและชุมชน ปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร เพิ่มการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาดในอนาคตได้ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรปีละ 10%
โดยช่องทางสำคัญที่จะทำเชิงรุกมากขึ้นโดยเฉพาะในปี 2568 คือ การหาตลาดให้กับเกษตรกร โดยมีหน่วยงานอย่าง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. ที่จะช่วยกระจายสินค้าให้มากขึ้น และหาช่องทางในการเปิดซื้อขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายได้เจอกัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
นางนฤมลกล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ ด้วยวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งทำให้ชาวนาสามารถลดการใช้น้ำในการเพาะปลูกได้กว่า 50% และสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซที่จะไปสร้างภาวะเรือนกระจกได้พอสมควร นอกจากนี้ยังทำให้ผลผลิตต่อไร่ก็เพิ่มขึ้น และยังช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นควบคู่ไปด้วย
ล่าสุดกระทรวงได้ประสานงานกับภาคเอกชนที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนา โดยได้ขอให้เพิ่มราคารับซื้อข้าวจากชาวนาที่ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำสูงขึ้นประมาณ 5% จากราคาปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมการทำนาแบบเปียกสลับแห้งมากขึ้น โดยปีนี้เรามีเป้าหมายอยู่ที่ 10 ล้านไร่ พื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศทั้งหมด 60 ล้านไร่ ซึ่งคิดเป็น 60% ของพื้นที่เกษตรกรรมของทั้งประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบาย Green Economy และตอบสนองตลาดสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเป้าหมายใหม่ของโลก
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ความท้าทายของเกษตรกร คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะโลกร้อนอากาศเปลี่ยน เป็นเรื่องใกล้ตัวเกษตรกรที่ต้องทำความเข้าใจว่าสภาพอากาศมีผลต่อการเติบโตของพืช โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากสินค้าเกษตรเพื่อบริโภค ไปสู่สินค้าเกษตรแปรรูปสู่พลังงาน เครื่องสำอาง รวมถึงยารักษาโรค ซึ่งจะช่วยเพิ่มราคา เพิ่มมูลค่าได้ 30-40% ล่าสุดพบว่าชิ้นส่วนของคอมพิวเตอร์เริ่มมีชิ้นส่วนจากพืชไบโอเป็นส่วนประกอบ อนาคตพืชเกษตรบางตัวอาจอยู่ในส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ได้
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในส่วนของนโยบาย “ตลาดนำการวิจัย” กรมวิชาการเกษตรได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยที่ตรงกับความต้องการตลาด และถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรอย่างเป็นระบบ เช่น การพัฒนาพันธุ์พืชที่ทนต่อสภาพอากาศ และการแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด
ล่าสุดนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร พยายามเก็บข้อมูลเรื่องของพันธุ์ของไข่ผำจากทั่วประเทศเพื่อแยกแยะและสรุปสายพันธุ์ พบมีเพียง 3 สายพันธุ์ที่มีโปรตีนสูง เมื่อเทียบโปรตีนจากเนื้อสัตว์เกิน 45% ได้แก่ สายพันธุ์เชียงรายมีโปรตีน 48% สายพันธุ์นครราชสีมามีโปรตีน 46% และสายพันธุ์พะเยามีโปรตีน 45% ซึ่งกรมจะมุ่งส่งเสริมและแนะนำให้ผู้ประกอบการที่สนใจให้ใช้สายพันธุ์ที่มีคุณค่าโปรตีนสูงสุดเพื่อสร้างมูลค่า