กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568 โตชะลอเหลือ 2.7% จับตา 3 ประเด็นหลักกระทบเศรษฐกิจไทย เผยแรงส่งภาคบริการ-ท่องเที่ยวเริ่มแผ่ว คาดนักท่องเที่ยวปี 2568 อยู่ที่ 38 ล้านคน ชี้นโยบายสงครามการค้ารอบใหม่ ความเสี่ยงสำคัญกระทบ 3 อุตสาหกรรมหลัก เกาะติดสินเชื่อภาคการเงินหดตัวลามต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ระบุนโยบายการคลังเริ่มจำกัด คาด 2-3 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะเกินเพดาน 70% คาด กนง.ลดดอกเบี้ยได้
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวอยู่ที่ 2.7% โดยยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม 3 เรื่อง
ได้แก่ 1.ภาคบริการและท่องเที่ยว ยังคงเป็นพระเอกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.หลายอุตสาหกรรมยังคงเจอแรงกดดัน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีภาคบริการภาคเดียวที่ยังขยายตัวได้ แต่ภาคผลิตและเกษตรยังมีแรงกดดัน และ 3.ภาคการเงิน ภายใต้สถานการณ์ไม่ดี ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และไปกระทบเศรษฐกิจมากขึ้น
ทั้งนี้ หากดูภาคการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะเห็นว่าในช่วงก่อนโควิด-19 นักท่องเที่ยวอยู่ที่ 40 ล้านคน และในปี 2567 อยู่ที่ 35 ล้านคน เติบโต 20% จากปี 2566 คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 38 ล้านคน เติบโต 7% จะเห็นว่าแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการเริ่มชะลอลง หลังจากที่แบกเศรษฐกิจไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมใหญ่ 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมี จะเห็นว่าเจอการเปลี่ยนแปลง จึงมีคำถามว่าปีนี้จะกลับมาได้หรือไม่ ซึ่งหากดูอุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเจอแรงกดดันจากการแข่งขันและกำลังซื้อภายในประเทศ รวมถึงนโยบายการค้ารอบใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญ และหากดูไทยเกินดุลสหรัฐมากขึ้น
โดยในปี 2567 เกินดุลราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์ จาก 5 ปีก่อนเกินดุลเพียง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่เกินดุลสหรัฐฯ เป็นอันดับ 11 ของโลก แต่ไทยขาดดุลกับจีนค่อนข้างเยอะ และอยู่ในข่ายที่จะตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และส่งผลต่อภาคการค้าไทยได้
โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์, ยาง,โซลาร์เซลล์, เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้น สิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมการคือจะต้องมีแนวทางการเจรจากับสหรัฐอย่างไร เพราะไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษีและมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์มีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับประเด็นเรื่องสินเชื่อภาคธนาคารหดตัว ซึ่งถือว่าเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 20 ปี เนื่องจากสถาบันการเงินกังวลในเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อรายย่อย รถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ซึ่งกระทบต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และภาคการก่อสร้าง ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้ในอนาคต
“เรามองเศรษฐกิจปีนี้อยู่ที่ 2.6% และหากดูแนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เราไม่สามารถกลับไปโตได้ค่าเฉลี่ยที่ 3% ได้ แต่เราเห็นการเติบโตที่กว่า 2% ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และประชากร เราจะเห็นเศรษฐกิจโตได้แค่ 2.6-2.7% และหากภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ ภายใต้สมมติฐานกรณีเลวร้ายสุดอาจโตต่ำกว่า 2% ได้ และหากสินเชื่อหดตัวและลามต่อไปจนเกิดการย้ายฐานการผลิต และลดกำลังการผลิตก็อาจจะกระทบไปยังเศรษฐกิจได้เช่นกัน”
นายพิพัฒน์กล่าวว่า ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง หากดูนโยบายจะดำเนินอย่างไรได้นั้น มองว่ารัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเห็นว่านโยบายการคลังเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น ซึ่งหากดูกรอบประมาณการหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของจีดีพี ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้ช่องว่างการใช้งบประมาณต่องระมัดระวังมากขึ้น เพราะอาจจะกระทบต่อวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ ดังนั้น ทรัพยากรในการใช้จ่ายของภาครัฐจะน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้การใช้จ่ายจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้านนโยบายการเงินคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ในปีนี้ เมื่อเทียบระดับอัตราเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ใช่ปัจจัยทางด้านอุปสงค์อย่างเดียว แต่จะต้องมีการใช้นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง
“เรากระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่จะเห็นว่าจีดีพีเตี้ยลงเรื่อย ๆ โดยเราต้องกระตุ้นนโยบายการคลังและการเงิน เราต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ เป็นเรื่องสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า”